มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Chiang Mai University

Home / academy / มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ.2501 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ ณ ดินแดนล้านนา อันเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรมอันล้ำค่ามานานกว่า 700 ปี มีสภาพภูมิประเทศงดงามท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่… See More

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ.2501 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ ณ ดินแดนล้านนา อันเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรมอันล้ำค่ามานานกว่า 700 ปี มีสภาพภูมิประเทศงดงามท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตรา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประวัติ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เรียกชื่อตามชื่อเมือง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนี้ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ ขนาบข้างด้วยถนนห้วยแก้ว และถนนสุเทพ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 ก.ม. และมีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่เศษ เปิดทำการสอน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2507

ปี พ.ศ. 2484 รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคขึ้นแต่เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 การดำเนินงานจึงชะงักลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 รัฐบาลชุดจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาว่า “จะดำเนินการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ตลอดถึงการศึกษาชั้นสูง” พ.ศ. 2502 ได้มีการประชุมโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ภาคการศึกษา 8 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ม.ล.ปิ่น มาลากุล) เป็นประธาน ที่ประชุมมีความเห็นว่า “น่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่” พ.ศ. 2503 รัฐบาลชุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลงมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกชื่อมหาวิทยาลัยนี้ว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508
ประตูหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในระยะเริ่มต้นได้เปิดดำเนินการสอนเพียง 3 คณะ ที่เป็นรากฐานของทุกสาขาวิชา คือ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้รับโอนกิจการคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จาก มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) มาเป็นคณะแพทยศาสตร์สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีเดียวกันนี้เอง ได้เริ่มจัดตั้งคณะเกษตรศาสตร์ขึ้นอีกคณะหนึ่ง ในปีการศึกษา 2511 ได้จัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ และในปีการศึกษา 2513 ได้จัดตั้งคณะใหม่อีก คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 จึงได้จัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะคือ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีคณะทั้งหมดด้วยกัน 20 คณะ และ 1 วิทยาลัย โดยในปี พ.ศ. 2518 ได้จัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์เพิ่มขึ้น และตั้งบัณฑิตวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2519 เพื่อเป็นหน่วยประสานงานด้านการเรียนการสอน และมาตรฐานหลักสูตรขั้นบัณฑิตศึกษามีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งแต่การดำเนินงานด้าน การสอน และการวิจัยซึ่งกระทำโดยคณาจารย์ของคณะ และได้มีการจัดตั้งคณะวิจิตรศิลป์ขึ้น ในปี พ.ศ. 2525 เปิดรับนักศึกษาตั้งแต่ ปีการศึกษา 2526 ในปี 2536 ได้จัดตั้งคณะเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะ คือ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะอุตสาหกรรมเกษตร และในปี พ.ศ. 2538 ได้จัดตั้งคณะเพิ่มอีก 1 คณะคือคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ขึ้นเป็นคณะที่ 17 ในปีพ.ศ. 2548 ได้จัดตั้งอีกสองคณะ และหนึ่งวิทยาลัยคือ คณะการสื่อสารมวลชน คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (เทียบเท่าคณะ) ล่าสุดปีพ.ศ. 2549 ได้จัดตั้งคณะที่ 20 คือ คณะนิติศาสตร์ โดย การประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยของไทย สกอ ได้จัดให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในกลุ่ม ดีเลิศ ทั้งการเรียนการสอน และการวิจัย

ในปี พ.ศ. 2550 ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ผ่าน สนช. และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551 เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐลำดับที่ 12

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น โดยกำหนดให้เปิดสอนในปีการศึกษา 2507 และให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเตรียมการจัดตั้ง

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 81 ตอนที่ 7 ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2507 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 วันเปิดเรียนวันแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ตราประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เป็นรูปช้างชูคบเพลิงมีสุภาษิตเป็นภาษาบาลีว่า “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” อยู่ในกรอบเส้นรอบวงด้านบน และคำว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507” อยู่ด้านล่างตรงกลาง ระหว่างข้อความทั้งสองนี้ มี “ดอกสัก” คั่นกลางปรากฏอยู่ ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งมีความหมายดังนี้
– ช้าง เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าสูงมากในภาคเหนือ จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของภาคเหนือ
– การก้าวย่างของช้าง หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า ไม่หยุดยั้ง
– คบเพลิง หมายถึง ความสว่างไสวแห่งปัญญาและวิชาการ
– รัศมี 8 แฉก หมายถึง คณะทั้ง 8 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะจัดตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– พุทธสุภาษิต “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” มีความหมายว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน
– ดอกสัก ปรากฏอยู่ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีค่าและมีความอุดมสมบูรณ์ในภาคเหนือ ดอกสักเป็นดอกไม้ขนาดเล็กและอยู่ในพวงใหญ่ มีสีขาว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีกลีบดอก 6 กลีบ

พุทธสุภาษิตประจำมหาวิทยาลัย
“อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” มีความหมายว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน

สีประจำมหาวิทยาลัย : สีม่วงดอกรัก

ปณิธานประจำมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาคจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐ และเจตนารมณ์ของประชาชนในภาคเหนือให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวม มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดความรู้ ตามหลักแห่งเสรีภาพทางวิชาการ โดยยึดมั่นในสัจธรรมและคุณธรรม เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ การประยุกต์ เผยแพร่ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

วัฒนธรรมประจำมหาวิทยาลัย
บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พึงฝักใฝ่ในการฝึกฝนตน เป็นผู้รู้จริง คิดเป็น ปฏิบัติได้ สามารถครองตน ครองคน ครองงาน ด้วยมโนธรรมและจิตสำนึกต่อสังคม

เพลงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เพลงประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่งโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ ขับร้องโดยนักร้องวงสุนทราภรณ์ และบันทึกเสียงจำหน่ายทั่วไป มีเพลงเด่นๆ ดังนี้
– เชียงใหม่เมืองงาม
– มช.แซมบ้า
– มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – ร่มแดนช้าง (เพลงหลักประจำมหาวิทยาลัย)
– ม.ช. ถิ่นสวรรค์ – แต่งทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน และผู้แต่งคำร้อง คือ พร พิรุณ เป็นเพลงเต้นรำ จังหวะแทงโก้ นิยมใช้บรรเลงในงานฉลองของมหาวิทยาลัย หรืองานรับน้องใหม่ เป็นต้น เพลง ม.ช. ถิ่นสวรรค์ เป็นเพลงที่บรรยายถึงสภาพที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปลุกใจให้มีความรักสมัครสมานสามัคคี
– อ่างแก้ว
– สวรรค์ มช. แต่งทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน และคำร้อง โดยพร พิรุณ เป็นเพลงเต้นรำ จังหวัดชะชะช่า จังหวะเร็ว สนุกสนาน
– ราตรีอ่างแก้ว
– เอื้องขวัญ
– ม.ช.เกรียงไกร
– มาร์ช มช. (เพลงมาร์ชมหาวิทยาลัย)
– อ่างแก้วขวัญใจ
– ลาแล้วเวียงขวัญ (เพลงลา)
– รำวง มช. รักเรียน
– ลาภูพิงค์ (เพลงลา)

เพลงอื่นๆ ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– ดาว มช.
– ลา มช.
– คุ้มเกล้าชาว มช.
– มช.รักกัน
– มช.เร่งร็อก
– กลับมา มช.
– รำวง มช.เชียงใหม่
– มช.รำลึก
– มช.เมืองชายงาม
– ประทีปลานนา

พื้นที่มหาวิทยาลัย
พื้นที่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวม 8,502 ไร่ พื้นที่บางส่วนเป็นที่ดินของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง ซึ่งมีการซื้อหรือเวนคืนในช่วงการจัดตั้งมหาวิทยาลัย บางส่วนหน่วยงานราชการอื่น โดยเฉพาะกรมป่าไม้ อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ และมีบางส่วนได้รับจากผู้มีจิตศรัทธา พื้นที่เหล่านี้กระจายอยู่ตามบริเวณต่างๆ ดังนี้
1. บริเวณเชิงดอย และสวนดอก 1,812 ไร่
2. บริเวณสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ 1,293 ไร่
3. บริเวณสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน 550 ไร่
4. บริเวณสถานีวิจัยการเกษตรที่สูงดอยป่าเกี๊ยะ 30 ไร่
5. บริเวณสถานีวิจัยการเกษตรที่สูงหนองหอย 50 ไร่
6. บริเวณค่ายสำรวจคณะวิศวกรรมศาสตร์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 17 ไร่
7. พื้นที่บริจาคให้แก่คณะแพทยศาสตร์ 12 ไร่
8. ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หริภุญชัย (พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แม่ธิ-แม่ตีบ-แม่สาร) ตำบลศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน 4,726 ไร่
9. ที่ราชพัสดุ ต.แม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 12 ไร่

ที่ตั้ง : ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

เว็บไซต์ : www.cmu.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/pages/มหาวิทยาลัยเชียงใหม่/121180357980416

ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ http://www.cmu.ac.th/info_desc.php?id=1

See Less