มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม บูรณาการองค์ความรู้สองศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ หวังผลิตบัณฑิตนักออกแบบอุตสาหกรรม เพื่อความยั่งยืนด้วยเทคโนโลยี
เปิดตัว คณะใหม่ สถาปัตย์+วิศวะ
นับเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดตัวหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการองค์ความรู้สองศาสตร์เข้าด้วยกัน ผลิตบัณฑิตนักออกแบบอุตสาหกรรม ได้อย่างเป็นรูปธรรมในเชิงการสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยความรู้ทางศิลปะ และใช้เทคโนโลยีให้ทันกับความต้องการตลาดแรงงาน และตอบโจทย์โลกปัจจุบัน พร้อมรับสมัครนักศึกษาใหม่รุ่นแรก ประจำปีการศึกษา 2566
ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวถึงที่มาของหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรมว่า
“ถือเป็นครั้งแรกของความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการจัดการการเรียนการสอน ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดที่ต้องการผลงานจากนักออกแบบไทย ที่ผลิตได้จริงในเชิงอุตสาหกรรม ในยุคที่สินค้าไทยมีการพัฒนาแข่งขันกับตลาดโลกได้รวดเร็วขึ้น เราต้องการผลิตบัณฑิต ที่เป็นนักออกแบบสร้างสรรค์สินค้าไทยยุคใหม่ ที่ตอบโจทย์เชิงพาณิชย์ด้วย และพร้อมนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผลิตผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อผลิตสินค้าให้ผู้ประกอบการไทยต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้”
ด้าน รศ.ดร.ธงชัย ฟองสมุทร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวถึงความร่วมมือการบริหารจัดการหลักสูตรนี้ว่า “การบูรณาการหลักสูตรครั้งนี้ สร้างบัณฑิตที่มีทั้งความรู้ในเชิงวิศวกรรมศาสตร์และคิดอย่างสร้างสรรค์ทางการออกแบบ จะมีประโยชน์กับประเทศต่อไป ที่จะได้บุคลากรที่สามารถพัฒนาและทำงานได้จริง ในเชิงอุตสาหกรรม การที่นักออกแบบรุ่นใหม่มีองค์ความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีการผลิต จะช่วยสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้”
ภายในงานแนะนำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม โดย ดร.ปฐวี อารยภานนท์ ประธานหลักสูตร “ส่วนผสมของหลักสูตรนี้ผ่านการวางแผนและสร้างหลักสูตรด้วยแนวคิด สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ที่ออกแบบโดยเน้นแนวคิดต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ผนวกเรื่องการผสานงานออกแบบที่ตอบสนองกลไกการตลาดด้วย ขณะเดียวกัน ยังมีการช่วยดึงศักยภาพของนักศึกษา ให้ออกมาสร้างสรรค์งาน ได้ตั้งแต่ยังเรียน โดยไม่ต้องรอจบการศึกษาก่อน นอกจากนี้ยังเน้นให้เกิดการเรียนรู้ในแต่ละชั้นปีด้วยความสนุก ทดลองในแล็บ สตูดิโอ ด้วยเครื่องมือจริง และเรียนรู้อย่างท้าทายตัวเองตลอดเวลา”
ขณะที่ การบรรยายพิเศษ “ID Talk” หัวข้อ “ชีวิตปกติใหม่อย่างเป็นสุข” จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในวงการการออกแบบอุตสาหกรรมระดับนานาชาติ ที่ได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ดังนี้ นายพงศธร ละเอียดอ่อน ประธานผู้อำนวยการออกแบบ บริษัท ฟิฟ ดีไซน์ จำกัด ในวงการนักออกแบบปัจจุบัน ต้องเผชิญกับวิถีชีวิตใหม่ ต้องมีความเข้าใจการใช้ชีวิต และมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีรอบตัว ให้มากกว่าแค่การดีไซน์อย่างเดียว รู้ระบบการผลิตและการตลาด มีหลากหลายมิติมากขึ้นกว่าเดิม
ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
นักออกแบบที่ดี คือ ต้องมีแรงบันดาลใจ สร้างงานที่ถ่ายทอดความงามและยังใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน และทำหน้าที่ช่วยให้ชีวิตผู้บริโภคดีขึ้นด้วย และนายชาญฉลาด กาญจนวงศ์ นักออกแบบอุตสาหกรรม และผู้ก่อตั้งแบรนด์ GREYRAY ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนหนึ่งมาจากขยะใช้แล้วทิ้ง ซึ่งเป็นปัญหาของคนทั้งโลก ในมุมมองของนักออกแบบสามารถช่วยลดปัญหานี้ได้ ถ้ามีความรู้เทคโนโลยีการผลิต และวัสดุใหม่ ๆ จากการวิจัยและสร้างงานออกแบบอุตสาหกรรม ที่ช่วยสร้างพฤติกรรมการใช้งานใหม่ให้กับผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงได้ สุดท้าย เราจะมีนักออกแบบอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ ที่มีคุณภาพและศักยภาพมากกว่าเดิม
ปิดท้ายการเปิดตัวหลักสูตร ด้วย ผศ.ดร.แผ่นดิน อุนจะนำ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ กล่าวถึงการสมัครเข้าเรียนต่อในหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ว่า
เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ภาคปกติ ปีการศึกษา 2566 (TCAS66) รอบที่ 3 วันที่ 7-13 พฤษภาคม 2566 ผู้สนใจสมัครได้ที่ www.arc.cmu.ac.th/admission/2566 หรือโทร. (053) 942816 และ (053) 942844