คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาแบบไฮบริด “Innovation towards Sustainability | Global Crisis Now เมื่อโลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤต… คิด ทำ นำสู่ความยั่งยืน” เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ให้กับคนในสังคมเพื่อการพัฒนาที่มุ่งสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง
หลักสูตรใหม่ ป.โท สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน
พร้อมเปิดตัว หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (Innovative Engineering for Sustainability) หรือ หลักสูตร IES ภายใต้แนวคิด “Innovation towards Sustainability การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
โดยมีวัตถุประสงค์ของหลักสูตรในการ (1) สร้างบุคลากรที่มีความเข้าใจในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วน (2) ประยุกต์และบูรณาการศาสตร์ทางวิศวกรรมและนวัตกรรมสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและการเติบโตอย่างสมดุล (3) สร้างฐานข้อมูลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ตลอดจนเครือข่ายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ และ (4) สนับสนุนการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงการผลักดันหลักสูตร IES ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นในการเลือกเรียนรายวิชาให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายให้หลักสูตร IES เป็นหลักสูตรนำร่องในการสร้างแพลตฟอร์ม PIES ที่จะรวบรวมองค์ความรู้ทางวิชาการและเครือข่ายจากหลายภาคส่วน ที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
ความพิเศษของหลักสูตรนี้
ด้าน รศ.ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ รักษาการประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน กล่าวถึงรายละเอียดของหลักสูตร IES ซึ่งมีรูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ทั้งรูปแบบออนไลน์ การเรียนการสอนในห้องเรียน และกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริง และความพิเศษของหลักสูตรนี้ คือ เปิดกว้างสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากทุกหลักสูตรที่มีความสนใจในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่งแรกเริ่มหลักสูตร IES นี้จะเน้นการเรียนการสอนนอกเวลาทำการในช่วงเย็นวันธรรมดา และวันเสาร์หรืออาทิตย์ ทำให้ผู้ที่ทำงานประจำสามารถเรียนได้ ดำเนินการสอนโดยคณาจารย์จากหลากหลายคณะทั้งจากภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันวิชาการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่จะเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์จริง
ผู้ที่สำเร็จจากหลักสูตรนี้ สามารถทำงานเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างความยั่งยืนในองค์กรธุรกิจ หรือการจัดทำนโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กร ในองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งช่วยส่งต่อความรู้ความเข้าใจสู่สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา และทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างบุคลากรจากหลากหลายสาขา นำไปสู่การเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศที่จะสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมเสวนาแบบไฮบริด “Innovation towards Sustainability | Global Crisis Now เมื่อโลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤต…คิด ทำ นำสู่ความยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มาจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมองในด้านการสร้างความยั่งยืนภายใต้สถานการณ์ที่มีความท้าทายจากหลากหลายปัจจัยและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของมนุษย์ และสภาพแวดล้อม
ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศที่ตอบโจทย์ความต้องการและเป้าหมายการเติบโตของแต่ละภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาครัฐ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น และบุคคลทั่วไป ซึ่งจะมีองค์ประกอบและเป้าหมายย่อยที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อนำมาประกอบกันให้เกิดเป็นเครือข่ายร่วมกับองค์ความรู้ทางวิชาการ ก็จะช่วยในการบริหารจัดการประเด็นสำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ของประเทศในปัจจุบัน และตอบสนองต่อเป้าหมายของประเทศ ทั้งการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์และการเพิ่มมูลค่า Green GDP ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงของประเทศไทย
คุณชญานันท์ ภักดีจิตต์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เราควรปลูกฝังการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับเด็ก ๆ โดยทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแผนที่จะดำเนินการร่วมมือกับทางกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปสู่การนำไปใช้จริงโดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (learning by doing)
นอกจากนี้ จากการประชุม COP26 ที่ได้มีการประกาศ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นศูนย์ จึงเริ่มมีการผนวกประเด็นเหล่านี้เข้าสู่การวางนโยบายและเเผนระดับชาติด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งผลักดันการดำเนินการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นความท้าทายและต้องการการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนการดูแลป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่การกักเก็บคาร์บอน รวมถึงการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ การเพาะปลูกผลผลิตที่มีราคาสูงและปล่อยมลพิษต่ำ รวมถึงการสร้างความเข้าใจและความรู้ที่ถูกต้องให้กับสังคม อันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
หลักการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
คุณประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI กล่าวว่าหลักสูตร IES เป็นหลักสูตรที่มีความทันสมัย เข้ากับสถานการณ์ รวมถึงมีความยืดหยุ่นและหลากหลายสำหรับผู้เรียน ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในโลกที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน และแนวโน้มการเกิดวิกฤติที่รุนแรงและบ่อยมากขึ้น โดยได้อธิบายถึงหลักการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ได้แก่
1) การทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ยึดหลักบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นพื้นฐานขององค์กรที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน เช่น การบริหารงาน ความโปร่งใส หรือการมีระบบการบริหารจัดการที่ดี
2) การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม
3) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ เช่น เรื่องของสิ่งแวดล้อม โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (technology disruption)
4) การนำนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตและรายได้
5) การบริหารจัดการความเสี่ยงในรอบด้านเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งในการดำเนินการด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ คือ การพัฒนาทั้งกลุ่มบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน กลุ่มผู้ลงทุนโดยการให้มีข้อมูล เครื่องมือ และความเข้าใจในการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (responsible investment) และกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอยู่ในตลาดทุน (intermediaries) ให้มีข้อมูล ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ นอกจากนี้ ยังมีการทำ Life platform ที่มีการรวมพาร์ทเนอร์มาร่วมกันสนับสนุนและใช้จุดแข็งของแต่ละภาคส่วนมาสนับสนุน SMEs หรือ Startup ที่อยู่ในตลาด
2 กุญแจหลัก
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลักสูตร IES เป็นหลักสูตรที่มีเป้าหมายชัดเจน ว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ซึ่งมี 2 กุญแจหลัก สิ่งแรกคือ นวัตกรรม (innovation) ที่จะเป็นตัว switch port ของธุรกิจ และสิ่งที่สองก็คือ ภาวะผู้นำ (leadership) ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับกรอบความคิด (mindset) ของคน ในเรื่องของความเชื่อและการผลักดันให้กลายเป็น culture โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเป็น partnership และ platform ซึ่งหลักสูตรนี้ก็ใช้หลักการเดียวกัน ในการเติมความกว้างและการทับซ้อนระหว่างศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสร้าง ecosystem เพื่อรองรับธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถปรับตัวร่วมกับบริษัทใหญ่และตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งสู่ความยั่งยืนได้
ติดตามรับชมงานแถลงข่าวและเสวนาย้อนหลังได้ที่ FACEBOOK.COM/CHULAENGINEERING และผู้ที่สนใจสมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-218-7813 หรืออีเมล [email protected]