หลักสูตรใหม่

11 หลักสูตรใหม่ ที่ อว.อนุมัติล่าสุด – การศึกษาแบบแซนด์บอกซ์

Home / ข่าวการศึกษา / 11 หลักสูตรใหม่ ที่ อว.อนุมัติล่าสุด – การศึกษาแบบแซนด์บอกซ์

วันที่ 10 สิงหาคม 2566 ตามที่คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้อนุมัติข้อเสนอฉบับสมบูรณ์ สำหรับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือ หลักสูตรแซนด์บอกซ์ เพิ่มเติมอีก 2 ข้อเสนอ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

การศึกษาแบบแซนด์บอกซ์

ทำให้ล่าสุดมีข้อเสนอที่กระทรวง อว. อนุมัติให้จัดการศึกษาแบบแซนด์บอกซ์ รวมแล้ว 11 ข้อเสนอ ซึ่งมีเป้าหมายผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงรวมมากกว่า 19,000 คน

หลักสูตรแซนด์บอกซ์ คืออะไร ?

หลักสูตรแซนด์บอกซ์ เกิดขึ้นโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนากำลังคน ด้วยการเสนอแนวทางการจัดการศึกษา ที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาหรือที่เรียกกันว่า “Higher Education Sandbox” ที่เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษา ได้ทดลองพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษารูปแบบใหม่

ออกแบบหลักสูตรได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ ให้ไทยมีกำลังคนที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว และเกิดการสร้างมาตรฐานการอุดมศึกษาในกระบวนทัศน์ใหม่

11 หลักสูตรแซนด์บอกซ์ ที่ผ่านการอนุมัติไปแล้ว มีดังนี้

1. ฉุกเฉินการแพทย์

ชื่อเต็ม : หลักสูตรการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์

เป็นความร่วมมือระหว่าง 10 สถาบัน ได้แก่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, มหาวิทยาลัยมหิดล, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, สถาบันพระบรมราชชนก, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันพระบรมราชชนก

ตั้งเป้าผลิตกำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ในระดับผู้ประกอบโรคศิลปะ จำนวน 15,000 คน
ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอของบประมาณดำเนินการจัดการศึกษา

2. ผู้นำธุรกิจสุขภาพ

ชื่อเต็ม : หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์
ผู้พัฒนาหลักสูตร : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ตั้งเป้ากำลังคนด้านผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรม wellness จำนวน 90 คน
ขณะนี้ ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาเข้าสู่หลักสูตรแล้ว

3. เทคโนโลยีอุตสาหกรรม

ชื่อเต็ม : หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แขนงพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า (ต่อเนื่อง)
ผู้พัฒนาหลักสูตร : คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
ตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 300 คน
ขณะนี้ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาเข้าสู่หลักสูตรแล้ว

4. High-tech Entrepreneur

ชื่อเต็ม : หลักสูตรการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur
ผู้พัฒนาหลักสูตร : มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ Harbour.Space University ประเทศสเปน
ตั้งเป้าผลิตกำลังคนที่มีความรู้ Frontier Knowledge ด้านเทคโนโลยี จำนวน 400 คน
ขณะนี้เริ่มจัดการศึกษาสำหรับนักศึกษารุ่นแรกแล้ว

5. ผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม

ชื่อเต็ม : หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม
ผู้พัฒนาหลักสูตร : คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
ตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้านผู้ประกอบการตามแนวทาง BCG จำนวน 90 คน
ขณะนี้ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาเข้าสู่หลักสูตรแล้ว

6. วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล

ชื่อเต็ม : หลักสูตรการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล
ผู้พัฒนาหลักสูตร : มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล จำนวน 1,880 คน
ขณะนี้ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับสมัครนักศึกษาเข้าสู่หลักสูตรแล้ว

7. วิศวกรรมบูรณาการระบบการผลิต

ชื่อเต็ม : หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมบูรณาการระบบการผลิต (ต่อเนื่อง)
ผู้พัฒนาหลักสูตร : มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ตั้งเป้าผลิตวิศวกรบูรณาการระบบ (system integrator) จำนวน 60 คน
ได้รับการอนุมัติให้จัดการศึกษาแบบแซนด์บอกซ์ ในเดือนกรกฎาคม 2566

8. ผลิตคนศักยภาพสูงด้านวิทยาศาสตร์

ชื่อเต็ม : หลักสูตรการผลิตกําลังคนศักยภาพสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และแนวคิดเชิงนวัตกรรม
ผู้พัฒนาหลักสูตร : วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ 4 แห่ง และมหาวิทยาลัยมหิดล
ตั้งเป้าผลิตกําลังคนทักษะสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์ (Frontier Knowledge) และแนวคิดเชิงนวัตกรรม จำนวน 175 คน
อยู่ระหว่างการเตรียมการเปิดหลักสูตร

9. ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบองค์รวม

ชื่อเต็ม : หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบองค์รวม (หลักสูตรสองภาษา)
ผู้พัฒนาหลักสูตร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา
ตั้งเป้าผลิตผู้บริหารระดับต้นและระดับปฏิบัติการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบองค์รวม จำนวน 200 คน
ได้รับการอนุมัติให้จัดการศึกษาแบบแซนด์บอกซ์ ในเดือนกรกฎาคม 2566

10. วิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ชื่อเต็ม : หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล
ผู้พัฒนาหลักสูตร : คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตั้งเป้าผลิตกำลังคนวิศวกรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จำนวน 1,200 คน
ขณะนี้ เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ครบตามจำนวนแล้ว

11. การจัดการการบินนานาชาติ

ชื่อเต็ม : หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินนานาชาติ
ผู้พัฒนาหลักสูตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก
ตั้งเป้าผลิตกำลังคน Flight Attendant จำนวน 300 คน
ขณะนี้ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาเข้าสู่หลักสูตรแล้ว

ข้อมูลจาก NXPOTHAILAND และ www.prachachat.net