ค่ายอาสา จุฬา

เปิดมุมมอง ค่ายอาสาแบบเด็กวิศวฯ จุฬาฯ ใช้ศาสตร์พระราชาและหลักวิศวกรรม แก้ปัญหา

Home / กิจกรรม / เปิดมุมมอง ค่ายอาสาแบบเด็กวิศวฯ จุฬาฯ ใช้ศาสตร์พระราชาและหลักวิศวกรรม แก้ปัญหา

“ค่ายวิศวพัฒน์” ของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือค่ายอาสาที่แตกต่างจากค่ายอาสาทั่วไป ด้วยเพราะค่ายนี้เป็นค่ายที่นำเอาหลักวิศวกรรมศาสตร์ มาใช้แก้ปัญหาชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ร่วมด้วย

เปิดมุมมอง ค่ายอาสาแบบเด็กวิศวฯ จุฬาฯ

รศ.ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยที่มาของค่ายวิศวพัฒน์ว่า ค่ายวิศวพัฒน์เป็นค่ายอาสาแนวพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ จุดเริ่มต้นมาจากการที่ได้มีโอกาสไปร่วมดูงานของมูลนิธิรากแก้ว ที่มีความร่วมมือกับทางจุฬาฯ เมื่อประมาณปีพ.ศ.2560 และได้เห็นแนวคิดการพัฒนาชุมชนเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน โดยการใช้แนวทางการพัฒนาตามศาสตร์พระราชา บนหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และจึงเล็งเห็นว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เองควรทำค่ายอาสาในแนวนี้ เพราะจะส่งผลดีและเป็นประโยชน์กับชุมชนได้มาก

ตลอดจนนิสิตเองก็จะได้เรียนรู้จนครบกระบวนการไปจนถึงผลลัพธ์จริงๆ หลังจากนั้นคณะวิศวฯ จึงได้ริเริ่มจัดค่ายในปีพ.ศ. 2561 โดยพากลุ่มนิสิตทุนไปลงพื้นที่ดูงาน เพื่อให้นิสิตได้มีโอกาสสัมผัสชุมชนจริงๆ ได้พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อรับฟังปัญหาและวิถีชีวิตชาวบ้าน และร่วมทำงานร่วมกับชาวบ้านตามวิถีปกติ เช่น ไปทำเกษตรกรรม เก็บข้าวโพด ไปหยอดเมล็ดถั่ว ซึ่งเหล่านี้ก็เพื่อให้นิสิตได้ซึมซับวิถีชีวิตของชุมชนก่อน นั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นครั้งแรกของค่ายวิศวพัฒน์

รศ.ดร.สรรเพชญ กล่าวต่อว่า ความแตกต่างของค่ายวิศวพัฒน์ คือ ค่ายอาสานี้จะทำให้นิสิตได้ใช้หลักการทางวิศวกรรมศาสตร์ แก้ปัญหาให้กับชุมชนอย่างแท้จริง ตัวอย่างบางพื้นที่มีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนน้ำในการทำเกษตร หรือบางพื้นที่ที่มีความจำเป็นที่ต้องเผาป่า เพื่อให้มีพื้นที่ในการทำเกษตร ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

แต่เมื่อได้นำหลักวิศวกรรมศาสตร์ เช่น การสร้างฝาย เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทำให้ชุมชนแห่งนั้นมีน้ำใช้สำหรับการทำเกษตรได้ตลอดปี และเมื่อมีน้ำใช้ในการทำเกษตรแล้ว การเผาป่าจึงไม่มีความจำเป็น นี่ถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึง การนำหลักการทางวิศวกรรมมาใช้ในการแก้ปัญหาพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง ด้วยการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

ด้าน นางสาวณัฎฐณิชา ชิตเจริญ ตัวแทนนิสิตหัวหน้าค่ายฯ ครั้งที่ 5 และ 6 กล่าวว่า “รู้สึกว่าสิ่งที่พวกเราลงมือ ลงแรงทำลงไปไม่เสียเปล่า ผลลัพธ์ค่อยๆ งอกเงยมาตามกาลเวลา รู้สึกภูมิใจมากๆ และ ภูมิใจในตัวทุกคนที่มีส่วนร่วมทำให้โครงการประสบความสำเร็จ และสามารถดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว สุดท้ายนี้เราเชื่อมั่นว่าสิ่งเล็กๆ ที่เราร่วมแรง ร่วมใจกันในวันนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นอนค่ะ”

ปัจจุบัน ค่ายวิศวพัฒน์ดำเนินมาแล้วกว่า 7 ครั้ง สามารถช่วยชุมชนด้วยหลักวิศวกรรมศาสตร์ มาหลายพื้นที่ โดยผลงานของค่ายวิศวพัฒน์ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ของมูลนิธิรากแก้ว ปี พ.ศ.2566 จากการแข่งขันกว่า 52 โครงการ 35 สถาบัน

รศ.ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางสาวณัฎฐณิชา ชิตเจริญ ตัวแทนนิสิตหัวหน้าค่ายฯ ครั้งที่ 5 และ 6

บทความแนะนำ