Hard Skills Soft Skills จุฬา ทักษะ วิศวะ โครงการ

“ไลฟ์ลองเลิร์นนิ่ง” 15 หลักสูตร เติมไฟทักษะวิศวะฯ ในตลาดแรงงาน

Home / ข่าวการศึกษา / “ไลฟ์ลองเลิร์นนิ่ง” 15 หลักสูตร เติมไฟทักษะวิศวะฯ ในตลาดแรงงาน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโครงการใหม่ ที่มี แนวคิดสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ด้วยการปรับการเรียนการสอนใหม่ เพื่อแก้ปัญหาของผู้เรียนยุคใหม่ ที่มักจะต้องเผชิญกับสังคมที่มีการแข่งขันสูง และกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งในเชิงโครงสร้างและเทคโนโลยีในตลาดแรงงานยุคใหม่ ซึ่งจะเริ่มเปิดสอนในปีการศึกษา 2565 นี้

โครงการ Chula Engineering

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) สอดรับกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยโครงการใหม่ที่กำลังจะเปิดสอนนี้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนในหลากหลายกลุ่ม ทั้งคนทำงาน นิสิต นักศึกษาที่กำลังจะจบ รวมถึงเยาวชน และ ประชาชนทั่วไปที่สนใจจะศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมในศาสตร์แห่งศตวรรษหน้า

แนวคิดหลัก

ภายใต้แนวคิดหลัก คือ การสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนในกลุ่มต่างๆ ที่มีพื้นฐานที่หลากหลาย และได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ที่มีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดดและรวดเร็ว ซึ่งนับเป็นการเปิดตัว Platform of Innovative Engineering for Sustainability (PIES) แห่งการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่นสูง มุ่งเน้นการเสริมความรู้ (Reskill and upskill) จัดกลุ่มรายวิชาที่เกี่ยวเนื่อง เป็น Module ในรูปแบบ Micro Program ที่ผู้เรียนสามารถเลือกจัดรูปแบบองค์ความรู้ ได้ตามความสนใจของตนเองได้อย่างอิสระ

ซึ่งนำไปสู่การการเรียนการสอนแบบ Customized Learning โดยร่วมกับผู้ประกอบการ องค์กรการเรียนรู้ต่างๆ เช่น Couresera และ หลักสูตรต่างๆ ของคณะฯ กว่า 15 หลักสูตร เป็นต้น ให้เข้ามามีส่วนร่วม ในการดำเนินการจัดการเรียนการสอน โดยเน้นระบบนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนสมัยใหม่ ซึ่งเป็น PIES ที่ให้อิสระแห่งการเรียนรู้แก่ผู้เรียนทุกกลุ่ม ทุกความต้องการ ทั้งในระบบปริญญา (Degree program) และระบบเรียนรู้เพื่อเสริมทักษะ (Non degree certificate program)

โดยมีคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมกันแบ่งปันองค์ความรู้และทักษะเฉพาะต่างๆ ผ่านระบบคลังวิชา (Credit Bank) ให้ผู้เรียนสามารถเก็บหน่วยกิตไว้ เพื่อดำเนินการต่อยอดการเรียนรู้แบบตลอดชีวิต และไร้ขีดจำกัดของตัวเองต่อไปในอนาคต เพื่อให้กับเข้าสังคมยุคดิสรัปชั่น (Disruption) ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

กลุ่มคนทำงาน คนที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา

สำหรับกลุ่มคนทำงาน คนที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา หรือน้องๆ เยาวชนรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย โครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตนี้ ยังเปิดกว้างให้กับผู้ที่ต้องการ มาเพิ่มทักษะความรู้ด้านวิศวกรรม ด้านอื่นๆ นอกเหนือจากหลักสูตรที่เรียนปกติได้อย่างหลากหลายวิชาที่น่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพูนทักษะทั้งด้าน Soft Skills (ทักษะการคิดวิเคราะห์) และ Hard Skills (ทักษะการฝึกฝนด้านวิชาชีพและความเชี่ยวชาญ) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ ต่อการทำงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น

  • วิชา Machine Learning and Time Series Analysis (การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ Machine Learning กับการวิเคราะห์ตามลำดับเวลา)
  • Practical IoT (การฝึกหัดการใช้ Internet of Things ในชีวิตประจำวัน), System perspectives on EV technology (เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า)
  • Environmental Trend, Technology and Innovation (ทิศทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการจัดการสิ่งแวดล้อม)
  • Intergated Water Resources Management (บูรณาการการจัดการทรัพยากรน้ำ) เป็นต้น

สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเรียนรอบแรก สามารถกรอกใบสมัคร เลือกรายวิชาที่สนใจเข้าศึกษา และส่งเอกสารหลักฐานการ สมัครมาที่ E-mail: Lifelonglearning_program@eng.chula.ac.th ตั้งแต่วันนี้ – 25 มกราคม2565 หรือ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรได้ที่ www.eng.chula.ac.th

โดยมี นายอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว โครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

บทความแนะนำ