มช. ปลื้ม ผลิตบัณฑิตแพทย์ จากชุมชนอมก๋อย เตรียมกลับสู่บ้านเกิด

มช. ปลื้ม ผลิตบัณฑิตแพทย์ จากชุมชนอมก๋อย เตรียมกลับสู่บ้านเกิด

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / มช. ปลื้ม ผลิตบัณฑิตแพทย์ จากชุมชนอมก๋อย เตรียมกลับสู่บ้านเกิด

การพัฒนาพลิกฟื้นความเหลื่อมล้ำ ในการดำเนินชีวิตของพื้นที่ ระหว่างสังคมและชนบทในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขมาตลอด เพื่อลดช่องว่างที่เกิดขึ้น ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเกิดโครงการต่างๆ มากมาย ที่ทำให้เห็นเหล่าคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย ลงพื้นที่เข้าไปสู่ชุมชนห่างไกลเพื่อต้องการบูรณาการความรู้ไปกับการแก้ปัญหา และรวมไปถึงการที่มหาวิทยาลัย ได้ผลิตบัณฑิตจากสาขาวิชาต่างๆ ออกไปรับใช้สังคม โดยเฉพาะบัณฑิตที่นำความรู้กลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

มช. ปลื้ม ผลิตบัณฑิตแพทย์ จากชุมชนอมก๋อย เตรียมกลับสู่บ้านเกิด

จากโครงการการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนพื้นที่อำเภออมก๋อย ตามแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างยั่งยืน ซึ่งคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ร่วมดำเนินโครงการพระราชดำริฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยได้ลงพื้นที่พัฒนาชุมชนโดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง ในเขต อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มาอย่างต่อเนื่อง จนพบปัญหาว่า มีนักเรียนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ โดยเฉพาะสายการแพทย์ ทำให้ขาดคนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาท้องถิ่น

จึงเกิดโครงการพิเศษเพื่อรับนักเรียนในเขตพื้นที่ฯ ที่ผ่านเงื่อนไขของคณะเทคนิคการแพทย์เข้ารับการศึกษา ซึ่งนางสาวณัฐวดี รำไพพนาลี ได้ผ่านการคัดเลือก ด้วยความเพียรพยายามและการสนับสนุนจากภาควิชาตลอดระยะเวลาที่ศึกษา ก็สามารถสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รุ่นที่ 55 ในสาขาวิชากายภาพบำบัด

ปัจจุบันได้รับการคัดเลือกให้ปฏิบัติงาน ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ที่องค์การบริหารส่วนตำบลดอยหล่อ กองสาธารณสุข ตำแหน่งนักนักกายภาพบำบัด และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2565 พร้อมกับบัณฑิตจากคณะอื่นๆ ที่ร่วมเข้ารับกว่า 2,300 คน สร้างความปลื้มปิติให้แก่ครอบครัว นับเป็นความภาคภูมิใจของภาควิชาและคณะ ที่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนด้านการศึกษา และผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความสำคัญและตระหนักถึงเรื่อง การลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องร่วมกันสร้างให้เกิดการพัฒนาแก่ชุมชน วางรากฐานให้ทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบทก็ตาม มหาวิทยาลัยได้ผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสทางการศึกษา จบมาเป็นบัณฑิตที่พร้อมกลับไปช่วยเหลือท้องถิ่นของตนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตอบสนองต่อเป้าหมายของมหาวิทยาลัย ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยกำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” ถือเป็นการสร้างประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวมอย่างแท้จริง