มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Khon Kaen University

Home / academy / มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนายกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควร จะยินดี” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2510 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประวัติ… See More

การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนายกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควร จะยินดี” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2510

มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ประวัติ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอุดมศึกษาสถานแห่งแรก ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กำเนิดของมหาวิทยาลัยจะมีแนวความคิดย้อนหลังไปได้ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเตรียมการก่อสร้างอย่างจริงจัง กระทำกันในรัฐบาล ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่เริ่มพัฒนาภูมิภาคส่วนนี้ของประเทศ เมื่อพุทธศักราช 2505 การลงมือก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ขึ้นที่บ้านสีฐาน จังหวัดขอนแก่น และเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า “มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Khon Kaen Institute of Technology มีชื่อย่อ K.I.T. โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อ เป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2509 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2510

มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดง มีชื่อเรียกว่า “มอดินแดง” บนพื้นที่ประมาณ 5,500 ไร่ มีคณะวิชาที่ผลิตบัณฑิตจำนวน 25 คณะวิชา นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และหน่วยงานเทียบเท่าคณะ ประกอบด้วย ศูนย์ สถาบัน สำนัก ให้บริการวิชาการ และบริการชุมชน มีที่ทำการไปรษณีย์ ศูนย์บริการ สหกรณ์ ร้านค้า หอพัก บ้านพัก แฟลต เรืองรับรอง ธนาคาร โรงเรียน และสาธารณูปโภคอื่นๆ เพื่อให้บริการแก่บุคลากร นักศึกษา และประชนชนทั่วไปอย่างครบครัน

ปณิธาน และปรัชญาประจำมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์รวมการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยึดมั่นในความเป็นเลิศทางวิชาการ มีความสัมพันธ์กับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศอินโดจีน เป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งเชื่อมโยงความรู้ทางอินโดจีนอย่างแท้จริง

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นกลไกในการพัฒนาให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการทุกสาขา รวมทั้งการวางรากฐานให้เป็นศูนย์ข้อมูลสารสนเทศของภูมิภาคโดยอาศัยความร่วมมือ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น พึงเป็นผู้ที่กอปรด้วยวิทยา จริยา และปัญญา อันที่จะสามารถประยุกต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภูมิภาคแก่ประเทศชาติ และขยายสู่ความเป็นสากลต่อไป

ตราประจำมหาวิทยาลัย
เป็นรูปเทพยดากระหนาบองค์พระธาตุพนม อัญเชิญมิ่งมงคลประทานแก่สถาบัน สถิตเหนือขอนไม้ ซึ่งสลักเป็นชื่อมหาวิทยาลัย พื้นหลังแบ่งเป็น 3 ช่อง มีความหมายถึง คุณธรรมของนักศึกษา 3 ประการ ได้แก่ วิทยา คือ ความรู้ดี จริยา คือ ความประพฤติดี ปัญญา คือความฉลาด เกิดแต่การเรียนดี และคิดดี

สีประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ สีดินแดง อันมีความหมายโยงไปถึงลักษณะ และภูมินามของพื้นที่ซึ่งเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดงหรือที่เรียกว่า “มอดินแดง” อันซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ กาลพฤกษ์
ในหลวง ร.9 และ สมเด็จพระราชินีนาถ ทรงปลูก ต้น “กาลพฤกษ์” พระราชทานแก่ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น

“กาลพฤกษ์” เป็นชื่อพื้นเมือง ภาษาไทย ของพรรณไม้ชนิด Cassia bakeriana Craib วงศ์ Fabaceae ลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดย่อม พุ่มใบแบนกว้าง ดอกสีชมพู เมื่อโรยจะกลายเป็นสีขาว ออกดอกเป็นช่อช่วงฤดูหนาว และเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมทั้งมีความหมายเป็น ต้นไม้แห่งกาลเวลา ด้วยเหตุที่ต้นไม้นี้ในปลายฤดูหนาวย่างเข้าฤดูร้อนจะทิ้งใบทั้งต้น ให้ดอกสีชมพูระเรื่อสลับขาวบานสะพรั่ง แลดูสวยงามอ่อนหวานยิ่งนัก

ดอกกาลพฤกษ์บานคราใดก็ถึงเวลาสอบไล่ ปิดปลายภาคและจบการศึกษา กาลพฤกษ์จึงเป็นเสมือน ต้นไม้แห่งกาลเวลาของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเฉพาะช่วงสอบปลายภาคเรียนที่ 2 เป็นช่วงที่ดอกกาลพฤกษ์กำลังออกดอกบานสะพรั่งสวยงามชาว ม. ขอนแก่น จะถือว่าเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงที่รุ่นพี่กำลังจะจบการศึกษาต้องออกสู่สังคมเพื่อช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศ และเป็นช่วงที่น้องใหม่กำลังจะเข้ามาศึกษาและใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย หลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นช่วงที่กาลพฤกษ์บาน กาลพฤกษ์จึงเป็นเสมือนสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งนั่นเอง

โดย ตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับชื่อ กาลพฤกษ์ และ กัลปพฤกษ์ ปรากฏว่ามี คำว่า กาลพฤกษ์ หมายถึง ต้นไม้อย่างเดียว เอกสารสำคัญคือ ไม้ประดับบางชนิดของไทย โดย พระยาวินิจวนันดร เมื่อปี 2543 และ ในหลวง ร.9 ทรงพิมพ์พระราชทานในงานศพ คุณวิไล อมาตยกุล พยาบาลที่ดูแลเจ้าฟ้าทั้ง 4 พระองค์ ในปี 2555

เพลงประจำมหาวิทยาลัย
มาร์ช มข. เสียงสนครวญ ขวัญมอดินแดง รำวงรื่นเริงสัมพันธ์ ร่มกาลพฤกษ์ ลาขอนแก่น มอดินแดงที่รัก กาลพฤกษ์ร้างใบ รอเธอที่สีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น นภาขอนแก่น มอดินแดงแห่งความหลัง ลาก่อนขอนแก่น มาร์ชกาลพฤกษ์ รักแรกที่ขอนแก่น

พื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
1. จังหวัดขอนแก่น (วิทยาเขตหลัก) 5,500 ไร่
2. จังหวัดหนองคาย (วิทยาเขตหนองคาย)3,413 ไร่
3. จังหวัดร้อยเอ็ด (สถานีทดลองและฝึกอบรมเกษตรกรรม) 1,170 ไร่
4. จังหวัดเลย (สถานีฟาร์มฝึกนักศึกษาของคณะสัตวแพทยศาสตร์) 2,106 ไร่
5. จังหวัดชัยภูมิ (สถานีทดลองและฝึกอบรม เขื่อนจุฬาภรณ์) 70 ไร่
รวมทั้งหมด 12,259 ไร่

โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น แบ่งออกเป็น 2 วิทยาเขตด้วยกัน ดังนี้
วิทยาเขตหลัก

123 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 40002
วิทยาเขตหนองคาย
112 หมู่ 7 ถนนมิตรภาพ ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย

 

มหาวิทยาลัยขอนแก่น : Khon Kaen University
ชื่อย่อ : มข. / KKU
คติพจน์ : วิทยา จริยา ปัญญา
สถาปนา : 25 มกราคม พ.ศ. 2509
ประเภท : สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
เว็บไซต์ : www.kku.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/kkuthailand

 

ที่มา http://www.kku.ac.th/aboutkku/?topic=0&l=th

See Less