สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานสัมมนา “มหัศจรรย์สมุนไพรกัญชา ตื่นตาไปกับอาหารสายเขียว เที่ยวไทยสราญใจไปด้วยกัญ” (Amazing Cannabis Herbal for Gastronomy Tourism) โดยมี ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในงาน รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิชคณบดี คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานสัมมนา
มหัศจรรย์สมุนไพรกัญชา
ในการนี้มีนักศึกษา และ ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกว่า 354 คน ณ ห้องออดิทอเรียม อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผู้เข้าร่วมผ่านช่องทางออนไลน์รวมทั้งสิ้น 135 คน
ผศ.ดร.ดลฤทัย โกวรรธนะกุล ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียน การสอนรายวิชา BS944761 สัมมนาทางการท่องเที่ยว เพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้นำทฤษฎีความรู้ เกี่ยวกับการจัดประชุมสัมมนามาฝึกปฏิบัติจริง
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรกัญชาแบบองค์รวม และเป็นการถ่ายทอดแนวทางการทำธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพรกัญชาให้ประสบความสำเร็จ โดยใช้ Gastronomy Tourism เป็นฐานในการทำธุรกิจ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และ กระตุ้นจุดขายของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารที่มีความสนใจในการนำสมุนไพรกัญชามาเป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์เมนูอาหารของตน และ ยังเป็นการส่งเสริมยกระดับพืชสมุนไพรกัญชาของประเทศไทยสู่ครัวโลกอีกด้วย
ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมอบหมายให้ กองบริหารงานวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดูแลสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ เพื่อเน้นการนำกัญชามาใช้ทางด้านการแพทย์
สำหรับ คำว่า แคนนาบิสครบศาสตร์ หมายความว่าเรามีการทำวิจัยตั้งแต่การปลูก การพัฒนาสายพันธุ์ ดูแลโดยคณะเกษตรศาสตร์ ส่วนที่ 2 ในส่วนของช่อดอก ดูแลโดยคณะวิทยาศาสตร์ จะทำการสกัด โดยเขาจะใช้ความรู้ความสามารถทางด้านเคมี ในการสกัดสาร CBD และสาร THC ออกมาเพื่อไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีการทำบริสุทธิ์ กำจัดสิ่งปนเปื้อนต่างๆ จากนั้นเราจะส่งสารสกัดไปวิจัยต่อที่คณะเภสัชศาสตร์ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ในทางการแพทย์ จากนั้นเมื่อเกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะส่งต่อไปให้คณะแพทยศาสตร์ เพื่อทดสอบทางคลินิกต่อไป
“สำหรับ กัญชา หากเรามองเรื่องของโอกาสด้านนโยบายของประเทศไทย Wellness Corridor หรือระเบียงสุขภาพ ที่เป็นความร่วมมือของภาคธุรกิจ มหาวิทยาลัย และ ภาคสาธารณสุข ในการพยายามผลักดันให้กัญชาเป็นมากกว่าเรื่องของอาหาร และ เครื่องดื่ม แต่สามารถมองเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว เช่น สปา การผ่อนคลาย รวมไปถึงการส่งเสริม gastronomy ศาสตร์การบริโภคอาหาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาที่เมืองไทยได้
โดย gastronomy จะประกอบกันด้วย 3 ส่วน ส่วนที่ 1 จะเป็นการใช้สมุนไพรหรือตัวกัญชา ส่วนที่ 2 ต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร โดยต้องมีความรู้ว่าทำไมเราต้องเลือกวัตถุดิบนี้จากเมืองนี้ ส่วนที่ 3 คือการสอดแทรกเรื่องของศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งการรวมทั้ง 3 อย่างนี้ก็จะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักศึกษา และ ผู้ที่เข้าฟังในวันนี้จะได้รับความรู้และความเข้าใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย โดยมีเรื่องของสมุนไพรกัญชาเป็นตัวชูโรง”ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าว
ผศ.ดร.ดลฤทัย โกวรรธนะกุล ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยขอนแก่น
น้องชีต้า กีรติกาญจน์ ยอดแสง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า
ชีต้า กีรติกาญจน์ ยอดแสง
ก่อนที่จะมาถึงวันจัดงานมีการเตรียมตัวกับเพื่อนๆ เริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมสถานที่ การจัดหาวัตถุดิบที่จะใช้ในงาน การตรวจสอบ แสง สี เสียง ในงาน และ การเช็คความเรียบร้อยซึ่งใช้ระยะเวลาเป็นเดือน เพราะว่าต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ในการติดต่อวิทยากร การออกแบบงาน
ซึ่งเวลาทำงานร่วมกับเพื่อนๆ มีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่เป็นเรื่องปกติของการทำงานเป็นทีม ที่มีเพื่อนทำงานกว่า 100 คน เพราะฉะนั้นเราจะใช้วิธีการแสดงความคิดเห็นโดยการโหวต ซึ่งเป็นหลักประชาธิปไตยในการรับเสียงส่วนใหญ่ การจัดงานในวันนี้ หนูยังได้เรียนรู้ว่ากัญชามีข้อดีเพราะว่าบางครั้ง คนจะติดภาพจำว่ากัญชา เท่ากับ ยาเสพติด สิ่งมึนเมา แต่ว่าความจริงแล้วถ้าหากเราใช้ในทางที่ดี กัญชาก็สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรค ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ด้วย
ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น