kku ม.ขอนแก่น เกษตรกร เกษตรกรรม แพลตฟอร์ม

“Ugly Veggies” แพลตฟอร์มขาย “ผักไม่สวย แต่มีคุณภาพ” งานวิจัยเด่นจาก มข.

Home / วาไรตี้ / “Ugly Veggies” แพลตฟอร์มขาย “ผักไม่สวย แต่มีคุณภาพ” งานวิจัยเด่นจาก มข.

สถานการณ์ปัญหาขยะจากอาหารเป็นประเด็นที่ทุกประเทศกำลังร่วมมือกันแก้ไข โดยการผลักดันและประยุกต์เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food loss and Food Waste) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นกลยุทธ์ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ รวมถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี “Ugly Veggies Thailand” เป็นอีกหนึ่งโครงการในการสนับสนุนเพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าว

แพลตฟอร์มขาย “ผักไม่สวย แต่มีคุณภาพ”

ผศ.ดร.ชวิศ เกตุแก้ว รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ์ วิจัยและต่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้อำนวยการโครงการ “Ugly Veggies Thailand” กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ “Ugly Veggies Thailand” ว่า วิทยาลัยนานาชาติมีชุมชนเป้าหมาย คือ กลุ่มเกษตรกรอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ที่ได้เข้าไปช่วยสนับสนุนด้าน Smart Farming เมื่อศึกษาไประยะหนึ่ง จึงพบว่าชุมชนมี Pain Point คือผัก Organic หรือผักอินทรีย์ที่ผลิตออกมาเมื่อคัดผักที่มีมาตรฐาน ตามความต้องการของตลาดประมาณ 50-70 % แล้วจะเหลืออีก 30% ที่ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

“ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มีในเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ทำให้นำมาสู่โจทย์ที่ว่าเราจะทำอย่างไร เพื่อสร้าง Zero Waste ในกระบวนการผลิตผักอินทรีย์ ขณะเดียวกันเราไม่ได้คิดเพียงแค่ว่าเราจะกำจัดขยะอย่างไร แต่ยังหาวิธีในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่เหลือใช้เหล่านั้นด้วย”

ผศ.ดร.ชวิศ กล่าวต่ออีกว่า หากเราสามารถใช้ประโยชน์จากกระบวนการผลิตผักอินทรีย์ ได้ตามเป้าหมาย 100 % ขยะทางการเกษตรของครัวเรือนจะลดลง 5.6 ตันต่อปี

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเดินหน้าทำวิจัยโดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พัฒนา แพลตฟอร์ม “Ugly Veggies” ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้เกษตรที่มี Certificate หรือใบรับรองของ Organic การันตีความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัย นำ “ผักไม่สวย แต่มีคุณภาพ” ที่เหลือจากการคัดเกรดส่งซูเปอร์มาเก็ต มาโพสต์ขายหน้าแผงออนไลน์ของตนเองบน https://uglyveggies.kku.ac.th และบน Line Official ที่ชื่อว่า “Ugly Veggies Thailand”

โดยลูกค้าสามารถเลือกจากสินค้าที่ต้องการทั้งผักไม่สวย แต่มีคุณภาพ (Ugly Veggies), ผักออร์แกนิคคุณภาพสูง, ผลไม้ และสินค้านวัตกรรมจากผักที่ถูกทิ้ง เช่น ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ Jelly Joy ทำจากผักออร์แกนิคเสริมโพรไบโอติกและพรีไบโอติก ผ่านการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างเรียบร้อย สามารถเคี้ยวทานได้ เหมาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย และจะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมาอีกหลายอย่าง หรือลูกค้าสามารถเลือกร้านค้า เพื่อเข้าไปเลือกชมสินค้าได้ พร้อมสื่อสารกับผู้ค้าโดยตรง

“วิทยาลัยนานาชาติ บริหารจัดการดูแลกระบวนการนี้ทั้งหมดเปรียบเหมือนแอดมิน ทั้งสร้างแพลตฟอร์ม ออกแบบ ดูแลระบบหลังบ้าน หน้าบ้าน ให้มีหน้าตา Lifely มีชีวิตชีวาชวนให้ลูกค้าเข้ามาซื้อ และอาจมีการช่วยจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ ทำให้การซื้อขายมีความง่ายและสะดวกมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถโพสต์ขายและจัดส่งให้ลูกค้าได้ด้วยตัวเอง”

ทั้งนี้ Ugly Veggies กำลังดำเนินการปรับเข้าสู่การเป็น Start Up ในส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจากแพลตฟอร์มหรือค่า GP (Gross Profit) มีการคิดจากรายได้รวมของเกษตรกรแล้วหักค่าขนส่ง โดยเขียนโปรแกรมคำนวณไว้ในแพลตฟอร์มเรียบร้อยแล้ว เหมือนกับระบบ Delivery ทั่วไป

จากการศึกษาและวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรักสุขภาพ และกลุ่มวัยกลางคนที่ทำอาหารเอง ซึ่งเป็นคุณแม่ที่ต้องการทำอาหารปลอดสารเคมีให้ลูก รวมถึงต้องการนำผักออร์แกนิคมาทำอาหาร เพื่อดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ทีมวิจัยสามารถสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจ ในการออกแบบการขาย การสร้างแบรนด์ รวมถึงการตั้งราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์ คนกินปลอดภัย คนขายอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม การทำวิจัยในครั้งนี้ นอกจากมีโจทย์สำคัญ คือ การช่วยเหลือสังคม พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งงานวิจัยนี้ช่วยแก้ปัญหา SDGs 2 – ZERO HUNGER ยุติความหิวโหย สร้างความมั่นคงทางอาหาร

ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้คว้าอันดับ 1 ของประเทศในการจัดอันดับ THE Impact Rankings 2023 ของ Times Higher Education (THE) ในปี 2566 แล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และเข้าใจปัญหาเชิงลึกของชุมชน นำไปสู่การขับเคลื่อนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยความผูกพันและเป็นทางออกของสังคมต่อไป

สำหรับเกษตรกรและลูกค้าที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง เฟซบุ๊ก uglyveggiesthailand และ อินสตราแกรม uglyveggies.th