กลุ่มวิชาชีพครู รวมตัวปฏิญญามหาสารคาม ไม่จ่ายหนี้ ช.พ.ค.

แจงปม ครูมหาสารคาม รวมตัวประกาศไม่จ่ายหนี้ ธ.ออมสิน | เงิน ช.พ.ค. คืออะไร?

Home / วาไรตี้ / แจงปม ครูมหาสารคาม รวมตัวประกาศไม่จ่ายหนี้ ธ.ออมสิน | เงิน ช.พ.ค. คืออะไร?

กำลังเป็นกระแสร้อนในโลกออนไลน์ในขณะนี้เลย สำหรับกลุ่มวิชาชีพครู จ.มหาสารคาม ที่ได้รวมตัวกันกว่า 100 คน ประกาศ “ปฏิญญามหาสารคาม” เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสิน พักหนี้ ช.พ.ค. พร้อมประกาศเป็นวาระแห่งชาติภายในเดือนตุลาคม 2561 นี้ โดยหลังจากที่ข่าวดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกมานั้น ก็ได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากเลยทีเดียว

ครู รวมตัวปฏิญญามหาสารคาม ไม่จ่ายหนี้ ช.พ.ค.

โดยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ดร.อวยชัย วะทา ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า สำหรับคลิปที่ได้ถูกเผยแพร่ออกมานั้น เป็นการประชุมผู้นำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมเธียเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม โดยตนเป็นคนแถลงต่อที่ประชุมว่า เมื่อปี 2552 สกสค. หรือมีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ทำข้อตกลงกับธนาคารออมสิน

เพื่อให้สมาชิก ช.พ.ค. และ ช.พ.ส. สามารถกู้เงินจากธนาคารออมสินได้รายละไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดการผ่อนชำระ 30 ปี หรือ 360 งวด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. ใช้หนี้สถาบันการเงินและหนี้นอกระบบ
  2. เพื่อซื้อบ้านหรือสร้างที่อยู่อาศัย
  3. เพื่อซื้อรถยนต์หรือยานพาหนะ
  4. เพื่อซื้อหุ้นหรือทำธุรกิจ
  5. เพื่อใช้จ่ายในการศึกษาหรือธุรกรรมที่จำเป็นอื่น ๆ

โดยมีข้าราชการครู คณาจารย์ และบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมโครงการประมาณ 450,000 คน และมีวงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท

สำหรับการดำเนินการในกระบวนการดังกล่าวกลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ต้องเดือดร้อน แบกรับภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการคิดดอกเบี้ยของธนาคารออมสินสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา คิดอัตราดอกเบี้ยเหมือนธนาคารพาณิชย์ และปรับสูงขึ้นเรื่อย ๆ

กลุ่มวิชาชีพครู รวมตัวปฏิญญามหาสารคาม

มีการหักเงินจากผู้กู้ในแต่ละเดือนเป็นค่าดอกเบี้ยแทบทั้งหมด จนกว่าจะได้ดอกเบี้ยครบก่อน แล้วจึงหักเงินต้น ทำให้ผู้กู้ต้องเสียค่าดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 เท่าของเงินต้น ในระยะเวลานานถึง 30 ปี ยกตัวอย่างเคสของตน กู้เงินมาจำนวน 1.2 ล้านบาท หักเงินเดือนละกว่า 7,000 บาท ซึ่งส่งเงินมาแล้วระยะเวลา 7 ปี เงินต้นลดลงเพียง 100,000 บาท ยอดหนี้ยังอยู่ที่ 1.1 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังบังคับให้ทำประกันชีวิตอ้างว่า เพื่อประกันความเสี่ยงของธนาคารออมสิน โดยบังคับหักเงินค่าประกัน 10 ปี งวดเดียว 80,000-200,000 บาท รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยผู้กู้ไม่ได้รับประโยชน์หรือดอกผลจากเงินจำนวนดังกล่าวเลย แต่ผู้ได้รับประโยชน์มหาศาลคือ บริษัทประกัน ธนาคารออมสิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ สกสค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีโครงการระดมทุน หรือโครงการร่วมทุนจากผู้กู้ ครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเพิ่มพูนรายได้หรือหาทางปลดเปลื้องหนี้สิน และเพิ่มพูนรายได้อย่างเป็นระบบ นอกจากโครงการขายบ้าน ขายรถ ขายประกัน และโครงการส่งเสริมการเป็นหนี้อื่น ๆ ซึ่งยิ่งแต่จะสร้างภาระหนี้สินทับซ้อนขึ้นไปยิ่งกว่าเดิมอีก

โดยในวันดังกล่าวมี นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เดินทางมารับหนังสือข้อเรียกร้องจากองค์กรครู โดยทางพี่น้องเครือข่ายครู ขอเรียกร้องให้

  1. ให้ดำเนินการพักหนี้ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการ ช.พ.ค. โดยเร่งด่วน
  2. รัฐบาลประกาศพักหนี้ครูเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นให้ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 เหมือนเกษตรกร
  3. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาล แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญและคณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินครู พร้อมทั้งประกาศเป็นวาระแห่งชาติภายในเดือนตุลาคม 2561 นี้

ก่อนที่จะมีการกล่าวปฏิญญามหาสารคาม โดยนายสุริยนต์ สุวรรณวงศ์ ประธานชมรมครูภาคกลาง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ ตามที่ปรากฏคลิปที่แพร่กระจายออกไป โดยมีสโลแกนร่วมกันว่า “ปลดหนี้ครู ปลดหนี้ กยศ. ปลดแอกการศึกษาไทย” 

ด้าน ดร.ชนิสรา ดวงบุบผา ผอ.สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและสวัสดิการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา มหาสารคาม (สกสค.) ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า ไม่สามาถให้ความเห็นใด ๆ ได้เป็นเรื่องที่ทางเลขาฯ สกสค. จะต้องออกมาชี้แจงสร้างความเข้าใจกับสมาชิกทั้งหมด

ช.พ.ค. คืออะไร?

ช.พ.ค. ย่อมาจาก การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือการสงเคราะห์รายศพสำหรับผู้ที่เป็นสมาชิก มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ครู และบุคลากรทางการศึกษาและคู่สมรสที่เป็นสมาชิกได้ช่วยเหลือในการสงเคราห์ครอบครัวเมื่อถึงแก่กรรม โดยมีความมุ่งหมายเป็นการกุศล

การให้บริการด้านสงเคราะห์ครอบครัว ช.พ.ค.

เมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม บุคคลในครอบครัวของสมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. เงินค่าจัดการศพ รายละ 200,000 บาท (ผู้มีสิทธิรับเงินยื่นเรื่องขอรับเงินค่าจัดการศพ ได้ที่สำนักงาน สกสค. จังหวัด / กรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ที่สมาชิกถึงแก่กรรมสังกัดอยู่ แล้วแต่กรณี)
  2. เงินสงเคราะห์ครอบครัวปัจจุบันประมาณรายละ 700,000 บาท

ผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์

ผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์ ต้องเป็นบุคคลในครอบครัวของสมาชิกที่ถึงแก่กรรม ได้แก่

  1. คู่สมรส บุตรชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงบุตรนอกสมรสที่บิดารับรองแล้ว และบิดา มารดาของสมาชิก ช.พ.ค.
  2. ผู้อยู่ในอุปการะอย่างบุตร ของสมาชิก ช.พ.ค.
  3. ผู้อุปการะสมาชิก ช.พ.ค.

** หากผู้มีสิทธิรับเงินในแต่ละลำดับยังมีชีวิตอยู่ ผู้ที่อยู่ในลำดับถัดไปจะไม่มีสิทธิได้รับการสงเคราะห์ แต่ถ้าในกรณีที่สมาชิก ช.พ.ค. ได้ระบุผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์ครอบครัว ช.พ.ค. จะจ่ายเงินสงเคราะห์ครอบครัวให้แก่บุคคลที่สมาชิก ช.พ.ค. ได้ระบุไว้แล้ว

ทั้งนี้ ผู้ขอรับเงินค่าจัดการศพ นอกจากจะต้องเป็นบุคคลตามลำดับก่อนหลังดังกล่าวแล้ว ยังต้องเป็นผู้จัดการศพของสมาชิก ช.พ.ค. ที่ถึงแก่กรรม โดยจะต้องแสดงหลักฐานหนังสือรับรองว่าเป็นผู้จัดการศพตามแบบที่ ช.พ.ค. กำหนด หรือตามแบบของวัด หรือสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาที่มีข้อความครบถ้วนเช่นเดียวกันก็ได้

ข้อมูลจาก : www.otep-cpks.go.th, FB : อุดร แสงอรุณ

บทความที่น่าสนใจ