มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

Buriram Rajabhat University

Home / academy / มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
ปี พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ซึ่งส่งผลให้สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์เปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไปและได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า… See More

ปี พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ซึ่งส่งผลให้สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์เปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไปและได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Buriram Rajabhat University”

มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ตั้งอยู่เลขที่ 439 ถนนจิระ อ.เมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เยื้องศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์บนเนื้อที่ 297 ไร่ 1งาน 27 ตารางวา เดิมที่ดินแปลงนี้กองทัพอากาศใช้เป็นสนามบิน เมื่อเลิกใช้แล้วกองทัพอากาศก็ยกที่ดินส่วนทางด้านทิศตะวันตกให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์  และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทบุรีรัมย์ ส่วนด้านทิศตะวันออกได้มอบให้จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเป็นสถานที่ตั้งของวิทยาลัยครูบุรีรัมย์

มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ได้เริ่มก่อตั้งเป็น “วิทยาลัยครูบุรีรัมย์” ด้วยความต้องการของทางราชการและประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์  นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ (นายสุรวุฒิ บุญญานุสาสน์) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดบุรีรัมย์  ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของประเทศที่กำลังขาดแคลนวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้เริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2514 โดยได้รับงบประมาณ (ปีงบประมาณ 2515) จำนวน 9 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารเรียน 1 หลัง  ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านถนน ไฟฟ้า และประปา เป็นต้น

การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2514 คณะผู้ร่วมดำเนินการระยะแรกคือ อาจารย์วิชชา อัตศาสตร์ (ต่อมาได้เป็นอาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการและอธิการ  คนแรกของวิทยาลัยครูบุรีรัมย์) อาจารย์ ดร.พล  คำปังค์, อาจารย์ณรงค์  วิชาเทพ และ อาจารย์เจนวิทย์ ผาสุก วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้เปิดรับนักศึกษาครั้งแรกในปีการศึกษา 2515 โดยเปิดสอนนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) มีนักศึกษาภาคปกติ 455 คน ภาคค่ำ  1,358 คน มีอาจารย์ประจำรุ่นแรก  44 คน ในปีการศึกษา 2516  วิทยาลัยได้เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.ชั้นสูง) ทั้งภาคปกติและภาคค่ำ

ในปี พ.ศ.2519 วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้รับการยกฐานะให้เป็นวิทยาลัยครูตามพระราชบัญญัติ วิทยาลัยครู พ.ศ.2518 ซึ่งเป็นผลให้วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดจากผู้อำนวยการเป็น “อธิการ” เปลี่ยนรูปแบบองค์กรทางวิชาการจากหมวดวิชาเป็นคณะวิชา และภาควิชา มีสำนักงานอธิการมีการเปิดสอนตามหลักสูตรใหม่ของสภาการฝึกหัดครู ซึ่งเปลี่ยนระบบ 3 ภาคเรียน มาเป็น 2 ภาคเรียน

ในปีการศึกษา 2521 วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี 2 ปีหลัง (ค.บ.) เป็นรุ่นแรก โดยเปิดสอนภาคปกติ 6 วิชาเอก คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย  พลศึกษา สังคมศึกษา ศิลปศึกษาและวิทยาศาสตร์ทั่วไป และได้เปิดระดับปริญญาตรี 2 ปีหลัง ให้กับครูประจำการในวันเสาร์และวันอาทิตย์(ในภาคเรียนที่ 2) ปีการศึกษา 2521 ด้วยโดยเรียกว่า “โครงการอบรมครูประจำการ” (อคป.) ในปีการศึกษาต่อมาได้เปิดศูนย์ให้การศึกษาสำหรับครูประจำการที่โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย จังหวัดร้อยเอ็ด

วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้เปิดหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต (ค.บ.) 4 ปี ครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 2524 วิชาเอกที่เปิดคือ ภาษาไทยและวิทยาศาสตร์ทั่วไปเปิดสอนหลักสูตรใหม่ในระดับ ป.กศ. ชั้นสูงอีก 3 วิชาเอก เช่นบรรณารักษศาสตร์ พัฒนาชุมชน และสหกรณ์ พร้อมกับงดรับนักศึกษา ในระดับ ป.กศ.
ปีการศึกษา 2527 มีการขยายฐานการศึกษาไปเป็น “เทคนิคการอาชีพ” ได้เปิดสอนเทคนิคการอาชีพระดับ ป.กศ.ชั้นสูง หลายสาขาคือ การอาหาร ก่อสร้าง กสิกรรม ศิลปกรรม เป็นต้น

ปี พ.ศ.2527 ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2518 ซึ่ง พ.ร.บ.ใหม่นี้ให้อำนาจวิทยาลัยครูเปิดสอนวิชาอื่นนอกจากสายครุศาสตร์ ดังนั้นวิทยาลัยครูบุรีรัมย์จึงเปิดสอนวิชาการอื่นเพิ่มเติมทั้งในระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีในหลายสาขาวิชา เช่น สัตวบาล  เศรษฐศาสตร์สหกรณ์ พัฒนาชุมชน เป็นต้น และปริญญาที่ผู้เรียนได้รับก็จะมี  3 หลักสูตร คือ  ครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) และวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

ในปี พ.ศ. 2538 ได้มีพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏขึ้นมาใช้แทนพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู จึงได้เปลี่ยนชื่อวิทยาลัยครูบุรีรัมย์เป็นสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ตำแหน่งอธิการเปลี่ยนเป็นอธิการบดี  คณะวิชาเป็นคณะ หัวหน้าคณะวิชาเป็นคณบดีและสามารถเปิดสอนได้ถึงระดับปริญญาเอกโดยยึดหลักปรัชญาว่า เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นโดยพระราชบัญญัตินี้ สถาบันราชภัฎบุรีรัมย์ได้ขยายฐานการศึกษาโดยเปิดโปรแกรมต่างๆซึ่งเป็นที่ต้องการและจำเป็นต่อการพัฒนาท้องถิ่น และได้เปิดสอนในระดับปริญญาโท ในสาขาวิชาบริหารการศึกษาในปีการศึกษา 2541 ในปีการศึกษา 2542 ได้เปิดสอนเพิ่มอีกหนึ่งสาขา คือสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา ปีการศึกษาต่อมาได้เปิดอีกหลายสาขาได้แก่ สาขาหลักสูตรและการสอน สาขาบริหารธุรกิจ สาขาวิจัยและการพัฒนาท้องถิ่นและสาขารัฐประศาสนศาสตร์

ในปี พ.ศ.2547 มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏขึ้นมาใช้แทนพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฎ มหาวิทยาลัยบุรีรัมย์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลทำให้การดำเนินการตามภารกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น มีสภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการ สภาส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยและสภาคณาจารย์และข้าราชการพลเรือน เกิดขึ้น การแบ่งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยประกอบด้วยสำนักงานอธิการบดีคณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาการจัดการ สถาบันวิจัย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มีโครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานภายใน มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ราชพัสดุบริเวณตำบลปะคำและตำบลหูทำนบซึ่งเดิมอยู่ในความดูแลของสถานีวิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์บุรีรัมย์   กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 1,834 ไร่ 1งาน 32 ตารางวา และกระทรวงการคลังได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเมื่อเดือน กรกฎาคม  2548 ซึ่งมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดสร้างเป็นวิทยาเขต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ท้องถิ่นตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัย เป็นรูปวงรีสองวงล้อมตราพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ ภายในวงรีด้านบนเป็นอักษรภาษาไทยเขียนว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์” ด้านล่างเป็นอักษรภาษาอังกฤษเขียนว่า “BURIRAM RAJABHAT UNIVERSITY” มีลักษณะสีดีงนี้
1. สีน้ำเงิน  หมายถึง  สถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้กำเนิดและทรงพระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ”
2. สีเขียว    หมายถึง  แหล่งที่ตั้งของสถาบันในแหล่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมสวยงาม
3. สีทอง     หมายถึง  ความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
4. สีส้ม       หมายถึง  ความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ก้าวไกล
5. สีขาว     หมายถึง  ความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชมหาราช

ปรัชญาประจำมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

อัตลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย บัณฑิตมีสำนึกดี มีความรู้คู่คุณธรรม นำชุมชนพัฒนา
1. สำนึกดี หมายถึง บัณฑิตมีจิตใจที่ดีงาม ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตอาสา
2. มีความรู้ หมายถึง บัณฑิต มีความรอบรู้ ที่ทักษะ ความสามารถ และศักยภาพในวิชาชีพ
3. มีคุณธรรม หมายถึง บัณฑิตมีคุณธรรม ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ และประพฤติปฏิบัติตนเหมาะสมตามคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์
4. นำชุมชนพัฒนา หมายถึง บัณฑิตมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน มีความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งบทบาทของผู้นำที่ดี มีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะนำชุมชนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าโดยวิธีการแห่งสันติภาพ และเลื่อมใสศรัทธาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คติธรรมประจำมหาวิทยาลัย สุวิชฺโช ชเน สุโต โหติ : ผู้มีความรู้ดี ย่อมเป็นเด่นในหมู่ชน

สีประจํามหาวิทยาลัย สีม่วง – สีเหลือง

พระประจํามหาวิทยาลัย พระพุทธสัพพัญญูสุคโต

ต้นไม้ประจํามหาวิทยาลัย ต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูน)

มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ : Buriram Rajabhat University
ชื่อย่อ : มรภ.บร./BRU
ประเภท : รัฐบาล
ที่ตั้ง : 439 ถนนจิระ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ 31000
เว็บไซต์ : www.bru.ac.th
Facebook : /buriram.rajabhat

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ www.bru.ac.th

See Less

ชิลเอ้าท์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

มุมต่างๆในรั้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

เรื่องเล่า มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้