วันพ่อขุนราม วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

17 มกราคม วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

Home / เรื่องเล่ามหาวิทยาลัย / 17 มกราคม วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

เมื่อเดือนธันวาคม ปีพระพุทธศักราช 2531 สำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนด “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ขึ้น โดยถือเอา วันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีและทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ต่อมาคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และจัดเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาทบทวนเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์โดยคำนึงถึง ความเหมาะสม และความถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอความคิดว่าควรที่จะเป็น วันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จะเป็นการเหมาะสมกว่า ซึ่งวันนั้นตรงกับวัน ศุกร์ที่ 17 มกราคม ปีพระพุทธศักราช 2376 ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปีพระพุทธศักราช 2532

วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ ในการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยได้จัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว ให้วันที่ 17 มกราคม เป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์วันหนึ่งซึ่งถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก (เมื่อพระพุทธศักราช 2533)

นับแต่นั้นมาจังหวัดสุโขทัย และทางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดให้มี งานวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช วันที่ 17 มกราคม เป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่มีต่อประชาชนชาวไทย กิจกรรมหลักประกอบด้วย พิธีสักการะ บวงสรวงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ขบวนแห่และพิธีสวดสรภัญญะ ฯลฯ

โดยสถานที่จัดงานของจังหวัดสุโขทัย คือ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ส่วนมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็จะจัดพิธี ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงพระราชสมภพปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน ตามหลักฐานพงศาวดารเมืองเหนือ คือ พงศาวดารเมืองโยนก กล่าวว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นพระสหายสนิทและรุ่นราวคราวเดียวกับพญาเม็งราย เจ้าเมืองเชียงใหม่ และพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา ทรงศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักสุกกทันตฤาษี ณ เมือง ละโว้ (ลพบุรี) เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกับพญางำเมือง

ในขณะที่ทรงเล่าเรียนศิลปวิทยาอยู่ร่วมกันนั้นพญางำเมืองเจริญพระชันษาได้ 16 ปีเมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระแล้ว ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกกองทัพมาตีเมืองตากอันเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันตกของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ยกกองทัพออกไปสู้รบกับขุนสามชน และพระราชโอรสองค์ที่สามซึ่งเจริญพระชันษาย่างเข้า 19 ปี ทรงเป็นนักรบที่เข้มแข็งในการสงครามเข้าชนช้างชนะขุนสามชน พวกเมืองฉอดจึงได้แตกพ่ายไป เมื่อชนช้างชนะขุนสามชนคราวนั้นแล้ว พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชบิดาจึงพระราชทานเจ้ารามเป็น “พระรามคำแหง” ซึ่งคงจะหมายความว่าพระรามผู้เข้มแข็ง หรือ เจ้ารามผู้เข้มแข็งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์องค์ที่สามแห่งราชวงศ์พระร่วง

ศักราชที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1) คือ มหาศักราช 1205 (พ.ศ. 1826) นั้นเป็นปีที่พระองค์ได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น มหาศักราช 1207 (พ.ศ. 1828) ทรงสร้างพระมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัย(พระเจดีย์ที่วัดช้างล้อม ในปัจจุบัน) มหาศักราช 1214 (พ.ศ. 1835) โปรดให้สร้างแท่นหินชื่อ พระแท่นมนังศิลาบาตร และสร้างศาลา 2 หลังชื่อ ศาลาพระมาสและพุทธศาลา ประดิษฐานไว้กลางดงตาล เพื่อเป็นที่ประทับว่าราชการและทรงสั่งสอนข้าราชการและประชาชนในวันธรรมดาส่วนวันอุโบสถโปรดให้พระสงฆ์นั่งสวดพระปาติโมกข์และแสดงธรรม รัชสมัยของพระองค์รุ่งเรืองยิ่งกว่ารัชกาลใดๆ ราชอาณาเขตแผ่ขยายไปกว้างขวาง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขอย่างที่เรียกกันว่า “ไพร่ฟ้าหน้าใส” การพาณิชย์เจริญก้าวหน้า ศิลปวิทยาเจริญรุ่งเรืองหลายประการ

—————————-

ข้อมูลจาก Facebook : รอบรั้วรามฯ
ภาพจาก : จันผา