จากเป้าหมาย “ผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ นักเทคโนโลยี และนวัตกร รองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” เกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสถาบัน KOSEN ของประเทศญี่ปุ่น ในการนำเทคนิคการสอนของประเทศญี่ปุ่น มาต่อยอดเป็น หลักสูตรสาขาวิศวกรรมแนวใหม่ ภายใต้โครงการ KOSEN KMUTT (โคเซ็น มจธ.) เพื่อคัดเลือกเด็ก ม.3 ที่เข้าร่วม “โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค”
หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ
ผู้ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ที่ผู้เรียนจะได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งแต่ ม.4 จนถึงระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 ในสาขาวิศวกรรม รวมถึงยังมีสิทธิ์ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก ทำให้การเปิดรับสมัครผู้เรียนในหลักสูตร Automation Engineering ภายใต้โครงการ KOSEN KMUTT ได้รับความสนใจจากเยาวชนระดับหัวกะทิ ที่มีความสนใจทางสายวิศวกรรมเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อให้โอกาสกับเด็กนักเรียน ที่ต้องการเรียนต่อในสายวิศวกรรม ในสาขาวิศวกรเฉพาะทาง ซึ่งเป็นที่มีความต้องการสูงของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต โครงการ KOSEN KMUTT จึงเปิดหลักสูตรเพิ่มขึ้นอีก 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ (BIO ENGINEERING) ในปีการศึกษา 2565 โดยจะมีการสอบคัดเลือกรอบแรกประมาณต้นเดือนมกราคม 2565
ดร.ก้องกาญจน์ วชิรพนัง ผู้อำนวยการสำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ KOSEN KMUTT กล่าวว่า ..
จากการทำงานร่วมกับสถาบัน KOSEN ของญี่ปุ่น และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ ทำให้พบว่านอกจากวิศวกรรมอัตโนมัติ หรือ Automation Engineering ที่เป็นงานด้านวิศวกรรมซึ่งเกี่ยวกับการจัดการให้กระบวนการต่างๆ สามารถดำเนินไปโดยอัตโนมัติและประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด จะเป็นสายอาชีพด้านวิศวกรรมที่มีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการสูงในอนาคตแล้ว ขณะที่ วิศวกรรมชีวภาพ หรือ BIO ENGINEERING ก็เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่น่าจะมีความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสูงเช่นกัน
“ในช่วง 2 ปี ที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับ ภาวการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ มจธ. เห็นถึงศักยภาพกับความความพร้อมของสองอุตสาหกรรมไทยที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคต ก็คือ ‘อุตสาหกรรมอาหาร’ หรือ Food for the Future ทั้งในแง่ของ Functional Food และอาหารเฉพาะกลุ่ม กับ ‘Bio pharmaceutical’ ทั้งด้านเภสัชภัณฑ์และการผลิตวัคซีน แต่สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกัน คือการสร้างวิศวกรด้านวิศวกรรมชีวภาพไว้รองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้”
ดร.ก้องกาญจน์ กล่าวว่า แม้ปลายทางของเด็กภายใต้หลักสูตรนี้ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาหารและยา แต่หลักสูตรนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างฐานความรู้ด้านวิศวกรรมควบคู่ไปกับกับการเรียนด้านชีววิทยา และศาสตร์ด้านเคมี โดยนำเนื้อหาทั้ง 3 ด้าน มาปรุงเป็นหลักสูตรแบบ KOSEN ผสานแนวทางการฝึกแบบโมโนซูการิ (Monozukuri) ซึ่งเป็นคำญี่ปุ่น “Mono” หมายถึง สิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ กับ “Zukuri” หมายถึง การผลิต การสร้างสรรค์ ที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างวิศวกรที่มีทักษะระดับสูง
“สิ่งที่เราปลูกฝังให้เขาตลอดระยะเวลา 5 ปีของหลักสูตรนี้ คือ หนึ่ง การมีฐานด้านการคิดคำนวณที่ดี สอ งมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเราจะมีการให้โจทย์ที่ท้าทายความคิดของเขาตลอดเวลา สาม มีทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง สี่ เป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ ที่สามารถแปลงความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การลงมือทำให้เกิดผลได้จริง และสุดท้ายคือ Responsibility หรือ มีความรับผิดชอบต่องานและต่อสังคม ทั้งหมดนี้จะทำให้เขาสามารถสร้างผลงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์และคนในสังคมได้อย่างแท้จริง”
และสิ่งที่ KOSEN KMUTT ต่างจากหลักสูตรทั่วไป คือการทำให้เด็กทุกคนได้รู้ตั้งแต่แรกว่า ปลายทางหรือจุดหมายของเขาคืออะไร โดยสิ่งที่เด็กจะต้องทำตลอด 5 ปีของการเรียนรู้ที่นี่ คือ การหาแนวทางของตนเองที่จะเดินไปสู่ฝันของเขาด้วยตนเอง
“หลักสูตรของเราต่อยอดแนวคิดการเรียนรู้แบบ Active Based Learning เด็กจะได้เรียนแบบเห็นภาพจริง ลงมือทดลอง และสร้างสรรค์จริง โดยครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ช และเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก เราจะเน้นที่พัฒนาการของแต่ละคน รวมถึงการมีผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมจาก KOSEN ญี่ปุ่น มาช่วยประสานกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อให้เด็กได้เข้าไปฝึกงานจริงๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมร่วมสอนและดูแลอย่างใกล้ชิด” ผู้อำนวยการสำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ มจธ. กล่าว
สำหรับการถ่ายโอน “โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค” จากกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น ดร.ก้องกาญจน์ กล่าวว่า นอกจากกระทรวง อว. จะมีสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานในสังกัด ที่มีการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องแล้ว อว.ยังมีประสบการณ์ในการทำงานภายใต้โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ หรือ วมว. ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นผลดีต่อการดำเนินโครงการ KOSEN KMUTT อย่างแน่นอน
ดร.ก้องกาญจน์ วชิรพนัง