สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดยแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และศาสตราจารย์ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. ร่วมวางแนวทางการบูรณาการงานวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลการวิจัย เพื่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการรับฟังปัญหา ความต้องการ และข้อเสนอแนะของคนในพื้นที่ โดยมี สกสว. เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกันนี้ได้กล่าวแสดงความยินดีกับ ผอ.สกสว. ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งด้วย
กระทรวง อว. – สกสว. เข้มการใช้วิจัย สร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรงะทำงานเชิงรุกอย่างเข้มข้น
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปรากฏขึ้น ตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมา นับเป็นเวลากว่า 20 ปี ใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหารวมแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากความรุนแรงเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบเชิงลึกในหลากหลายมิติ อาทิ ปัญหาความยากจน การศึกษา และคุณภาพชีวิต เป็นต้น
ซึ่งในส่วนนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานทุกหน่วยงานในสังกัด อว. เพื่อร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่และสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรับฟังปัญหา ความต้องการ และข้อเสนอแนะของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง ทั้งนี้ สกสว. เป็นหน่วยงานสำคัญด้านระบบวิจัยของประเทศ และเป็นหน่วยงานที่ดูแลกองทุน ววน. ซึ่งเป็นกลไกเชื่อมต่อการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ดังนั้น สกสว. จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา
“ช่วง 3 ปีข้างหน้าของการเข้ามาช่วยงานกระทรวง อว. ถือเป็นช่วงเวลาที่มีค่าเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายบูรณาการงานวิจัย และการขับเคลื่อนการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ เพราะโดยส่วนตัวมองว่า ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สกสว. จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ดีขึ้น”
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. กล่าวว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ สกสว. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดทำแผน และจัดสรรงบประมาณ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ แผนด้าน ววน. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง
โดยมี แผนงาน P14 พัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรงฯ ซึ่งได้กำหนดแผนดำเนินการ ตัวชี้วัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เช่น การลดความรุนแรงและการสร้างสันติภาพ การส่งเสริมการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการสร้างความเข้าใจ ความสัมพันธ์ที่ดี และลดความขัดแย้งภายในสังคมทุกระดับ การสร้างองค์ความรู้ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
รวมถึงการรวบรวมและสร้างองค์ความรู้เชิงลึก เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธ์ และคนหลายรุ่นในยุค Digital และ Post-digital รวมถึงความรู้เกี่ยวกับแนวคิด ทัศนคติการลดอคติ พฤติกรรม และการใช้ชีวิตของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เพื่อความเข้าใจสภาพทั่วไป ความเป็นอยู่ของคนที่มีความแตกต่างมากขึ้น ตลอดจนการศึกษาหาหลักฐานเชิงประจักษ์ของความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ความยั่งยืนกับการลดความขัดแย้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ สกสว. ยังอาจยกระดับแผนงานเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแผนงานเป้าหมายสำคัญซึ่งจะมุ่งเน้นทั้งในด้านการสนับสนุน การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นและในด้านการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง เพื่อสนับสนุนการสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน
อีกทั้งได้เสนอตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) จังหวัดชายแดนใต้ ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนและหน่วยงานระดับนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นกลไกกำกับทิศทางและขับเคลื่อนงานวิจัย ตลอดจนบูรณาการการทำงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาและการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บนพื้นฐานขององค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งจะสนับสนุนงานวิจัยเชิงระบบ และแผนที่นำทางในการแก้ไขปัญหาในอนาคต (Foresight) ต่อไป
ซึ่งในส่วนนี้ ได้มอบหมายให้ผู้บริหาร สกสว. ดำเนินการและติดตามการดำเนินงาน ร่วมกับรองศาสตราจารย์นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. แพร ศิริศักดิ์ ดำเกิง ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์(Strategic Agenda Team : SAT) ด้านธรรมาภิบาล คอรัปชั่น และลดความรุนแรง ของ สกสว.
ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง
ทั้งนี้ สกสว. เห็นว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานกำลังกันอย่างแข็งขัน เพื่อให้เกิดงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนและแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้ให้บรรลุอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างสันติสุขให้กับคนในพื้นที่และสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน