เทรนด์การศึกษาโลกและไทย ในมุมมอง รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คนไทยคนแรกบนเวทีการศึกษานานาชาติด้านบริหารธุรกิจ
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารด้านการศึกษา ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบัน AACSB (The Association of Advance Collegiate School of Business) ซึ่งเป็นสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษา ด้านบริหารธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งจากอเมริกา ให้เป็นกรรมการบอร์ดบริหารขององค์กร และเป็นชุดกรรมการวิชาการปฏิบัติหน้าที่คัดกรองและคัดเลือก ในการรับรองมาตรฐานให้แก่สถาบันการศึกษาด้านธุรกิจทั่วโลก ในขณะเดียวกันยังได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการของ EFMD (European Foundation for Management Development) ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้การรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่สำคัญจากฝั่งยุโรป และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ AAPBS สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจแห่งเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย
เทรนด์การศึกษาโลกและไทย
ในฐานะผู้บริหารทางการศึกษาระดับนานาชาติ รศ.ดร.พสุ เผยว่า “เทรนด์สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจในอนาคต จะเน้นให้นำความรู้ไปใช้เพื่อพัฒนาสังคมแบบยั่งยืนมากขึ้น มากกว่าการสร้างกำไรเพียงอย่างเดียว รวมถึงมีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับตัวเพราะจะพบกับคู่แข่งที่ไม่คิดว่าเป็นคู่แข่งมาก่อน เช่น บริษัทที่ปรึกษา ที่เปิดคอร์สการเรียนการสอนภาวะผู้นำหรือทำวิจัยเอง ซึ่งแท้จริงควรเป็นบทบาทของสถาบันการศึกษา หรือแม้แต่บางบริษัทที่เปิดสถาบันอบรมเป็นของตัวเองเนื่องจากเห็นว่าสถาบันการศึกษาไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้”
สำหรับมุมมองด้านการพัฒนาการศึกษาของโลก
รศ.ดร.พสุ กล่าวว่า “การพัฒนาทางด้านการศึกษาที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือฝั่งเอเชีย เช่น ประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น ที่มีนโยบายเปิดเสรีให้มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันตกเข้ามาเปิดการเรียนรู้สอน จึงทำให้มหาวิทยาลัยในประเทศต้องเร่งพัฒนาตนเองมากขึ้น เพื่อสามารถรักษาหรือชิงส่วนแบ่งทางการตลาด”
การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของประเทศไทย
ในด้านการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของประเทศไทยนั้น รศ.ดร.พสุ ได้แสดงความเห็นว่า การศึกษาไทยขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทย ว่าจะตั้ง Position ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาหรือไม่ หรือพัฒนาคนของเราให้เป็นคนไทยยุค 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0 อย่างไร รวมถึงทุกสถาบันการศึกษาต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสโลก กระแสดิจิทัล และความเป็นนานาชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ปรับตัวให้ทันกับความต้องการของภาคธุรกิจต่อบัณฑิตจบใหม่ ที่ต้องพลิกโฉม โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ต้องปรับทั้งโครงสร้าง ระบบ และพัฒนาคุณภาพของครูให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนไป
“ต้องมองการศึกษาของประเทศทุกระดับถือเป็นการลงทุน ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย เป็นการลงทุนระยะยาว และเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาผู้ดูแลส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง มักแก้ปัญหาเฉพาะส่วน ขาดวิธีการคิดทั้งระบบ ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น หลักสูตร เทคโนโลยี ครู พ่อแม่ เป็นต้น ถ้าหากเราอยากเพิ่มศักยภาพของคนไทยแข่งขันกับต่างชาติได้ ก็ต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไม่ใช่เริ่มที่ระดับอุดมศึกษา” รศ.ดร.พสุ กล่าวทิ้งท้าย