TCAS นักศึกษาใหม่ นักเรียนนานาชาติ ระบบรับสมัครนักศึกษาใหม่

ทปอ. ประกาศเห็นชอบการเทียบวุฒิ นักเรียนจบหลักสูตรนานาชาติ สอบเข้าระบบ TCAS 61

Home / ข่าวการศึกษา / ทปอ. ประกาศเห็นชอบการเทียบวุฒิ นักเรียนจบหลักสูตรนานาชาติ สอบเข้าระบบ TCAS 61

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้มีการจัดงานแถลงการณ์เกี่ยวกับการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งที่ 5/2560 เรื่องข้อตกลงแนวทางในการดำเนินการตาม “เกณฑ์การเทียบวุฒิการศึกษาเท่ากับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบ TCAS ประจำปีการศึกษา 2561”

การเทียบวุฒิการศึกษาใน-ต่างประเทศ

โดยมี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานันท์ รักษาการเลขาธิการทปอ. และ รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าร่วมแถลงการณ์ ซึ่งในที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นหลักๆ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

1. การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประปีการศึกษา 2561 หรือ TCAS ปี 2561

2. โครงการเฉลิมฉลอง ทปอ. 45 ปี “อุดมศึกษา-พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0”

3. โครงการ Innovation Hubs เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0

ซึ่ง ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานันท์ รักษาการเลขาธิการทปอ. กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระบบ TCAS (ทีแคส) ได้รายงานแนวทางการรับสมัครเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติทั้งในและต่างประเทศประจำปี 2561 โดยทาง ทปอ. เห็นชอบข้อตกลงแนวทางในการดำเนินการตามเกณฑ์การเทียบวุฒิการศึกษาเท่ากับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบ TCAS ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ดังนี้

ระบบภาษาอังกฤษ การคัดเลือก TCAS 61

ระบบอังกฤษ ในระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาปี การศึกษา 2561 ผู้สมัครต้องมีผลการสอบระดับ IGCSE หรือ GCSE หรือ GCE ‘O’ Level จำนวน 5 วิชา ได้คะแนนแต่ละรายวิชา A*-C โดยนักเรียนที่สอบ IGCSE, GCSE หรือ GCE ‘O’ Level ภายในปี พ.ศ. 2559 และสอบได้ผลการสอบตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์การเทียบวุฒิการศึกษาจากหลักสูตรประจำประเทศอังกฤษ (เพิ่มเติม) ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ให้นักเรียนเหล่านี้ได้รับการเทียบวุฒิการศึกษาสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ดังนั้น นักเรียนที่สอบได้ผลสอบตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ สบายใจได้เลยว่า ได้รับวุฒิเทียบ ม.6 แน่นอน

ส่วนนักเรียนที่สอบ IGCSE ,GCSE หรือ GCE ‘O’ Level ภายในปี พ.ศ. 2560 และสอบได้ผลการสอบตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์การเทียบวุฒิการศึกษาจากหลักสูตรประจำประเทศอังกฤษ (เพิ่มเติมครั้งที่ 1) ประกาศ ณ วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2559 ให้นักเรียนเหล่านี้มีสิทธิ์ในการสมัคร TCAS 2561 และถ้าสอบได้ให้สถาบันอุดมศึกษาที่รับนักเรียนเหล่านี้จะเป็นผู้พิจารณาเสริมองค์ความรู้ให้เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 สำหรับการสมัครเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ TCAS 2562 เป็นต้นไป นักเรียนเหล่านี้ต้องสอบให้ได้ผลตามเกณฑ์ของแนวทางการรับสมัครเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติทั้งในและต่างประเทศ ประจำปีการศึกษา 2561 นี้ ซึ่งนักเรียนต้องติดตามเกณฑ์ของ ทปอ. เพิ่มเติม

การเทียบวุฒิการศึกษาในประเทศและต่างประเทศ

ระบบรับสมัครสหรัฐอเมริกา/แคนาดา

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ประเสริฐ รักษาการเลขาธิการทปอ. ยังได้กล่าวต่ออีกว่า ในระบบการรับสมัครนักศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา ผู้สมัครที่มีผลการสอบ GED 5 รายวิชา มีคะแนนรวมไม่น้อยกว่า 2,250 คะแนน แต่ละวิชาต้องไม่อย่างน้อย 410 คะแนน

ระบบรับสมัครนิวซีแลนด์

ส่วนในระบบของ ประเทศนิวซีแลนด์ ผู้สมัครที่สอบผ่านวิชา New Zealand National Certificate of Educational Achievement (NCEA ) ซึ่งอยู่ในความดูแลของ New Zealand Qualifications Authority (NZQA) จำนวนไม่ต่ำกว่า 80 หน่วยกิต ประกอบด้วย วิชาใน level 2 หรือสูงกว่าจำนวนไม่ต่ำกว่า 60 หน่วยกิต และ level 1 หรือ สูงกว่าจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 หน่วยกิต การพิจารณาให้นับวิชา English for Speaker of Languages (ESOL) เป็นอีก 1 วิชาได้ด้วย ผู้จบการศึกษาจะต้องได้รับประกาศนียบัตร NCEA level 2 ใบแสดงผลการสอบ (Record of Achievement) หนังสือรับรองระดับจำนวนวิชา และจำนวนหน่วยกิตของแต่ละวิชา จาก New Zealand Qualifications Authority (NZQA)

ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรนานาชาติ (ในประเทศ)

สำหรับ ผู้ที่เรียนจบในหลักสูตรนานาชาติ International Baccalaureate (IB) ผู้สมัครจะต้องได้รับประกาศนียบัตรรับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียน (High School Diploma) และ/หรือ ได้รับ IB Diploma และ/หรือ IB DP Course Results ดังนี้ ผู้สมัครที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ จะต้องได้รับ IB Diploma กล่าวคือเป็นผู้มีผลคะแนนรวมจาก 5 หมวดวิชา และอีก 1 วิชาเลือก ไม่ต่ำกว่า 24 คะแนน พร้อมกับผ่านการประเมิน Extended Essay (EE), Theory of Knowledge (TOK) และ Creativity, Action & Service (CAS) ตามเกณฑ์ของ International Baccalaureate Organization (IBO)

ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาอาจพิจารณาให้ยกเว้นการเรียนบางวิชาในปี 1 ที่ผู้สมัครเรียนผ่านมาแล้วตามหลักสูตร IB Diploma ในระบบ Higher level ที่ได้คะแนนสูงกว่า 4-5 ขึ้นไป เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา หรือได้รับ IB Diploma Course Results (IBCR) อย่างน้อย 5 วิชา โดยแต่ละวิชาจะต้องไม่ซ้ำกัน และได้ผลการเรียนในแต่ละวิชา ไม่น้อยกว่าเกรด 2 (เทียบเท่ากับ 60 % หรือ GPA รายวิชา 2 ขึ้นไป) ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษา อาจพิจารณาลดจำนวนวิชาเพื่อรับผู้สำเร็จการศึกษาให้เหลืออย่างน้อย 3-4 วิชา ที่ตรงกับสายวิชาที่ผู้สมัครจะสมัครเข้ารับการศึกษา เช่นเดียวกับในต่างประเทศ

ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรนานาชาติ (ต่างประเทศ)

โดย ในกรณีหลักสูตรนานาชาติ จากประเทศอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมา ให้ตรวจสอบการเทียบวุฒิต่างประเทศ จากประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเทียบความรู้วุฒิต่างประเทศ ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2545 อย่างไรก็ตาม อำนาจในการรับสมัครเด็กเป็นไปตามการพิจารณาของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง และเป็นข้อตกลงเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของ ทปอ.

ข้อมูลจาก : www.dailynews.co.th