เทคโน

แนะนำ 3 อาชีพ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทักษะที่ต้องมี!

Home / บทความการทำงาน / แนะนำ 3 อาชีพ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทักษะที่ต้องมี!

ในปัจจุบันเป็นยุคที่ให้ความสำคัญกับ ‘ข้อมูล‘ เป็นอย่างมาก เพราะข้อมูลเป็นการรวบรวมสิ่งต่างๆ อาทิ พฤติกรรม รสนิยม รวมถึงความคิดเห็นของผู้คน เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้หรืออ้างอิงได้ ทั้งในการต่อยอดหรือแข่งขันทางธุรกิจ เชิงวิชาการ หรือนำไปใช้เพื่อออกแบบนโยบายของภาครัฐและเอกชน เป็นต้น ดังนั้นหากมีการจัดการข้อมูลที่ดี เป็นระเบียบ สะดวกในการค้นหาและสามารถหยิบมาใช้ได้เมื่อต้องการ ก็เสมือนกับเรามีอาวุธที่แข็งแรงอยู่ในมือ

อาชีพ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ

โดยเมื่อข้อมูลได้ถูกวิเคราะห์ ประมวลผลและจัดเก็บเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้อมูลชุดนั้นจะถูกเรียกว่า ‘สารสนเทศ’ ซึ่งการจัดการข้อมูลนั้นมีหลายวิธี หนึ่งในวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ ‘เทคโนโลยี’ ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายองค์กรต้องการบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อจัดการข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อองค์กร วันนี้แคมปัส-สตาร์จะมาแนะนำ 3 อาชีพสายเทคโนโลยีสารสนเทศและทักษะที่ต้องมี มากฝากน้องๆ และเพื่อนๆ ที่ต้องการทำงานในสายนี้กันค่ะ

นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist)

นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist)

นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือ Data Scientist เป็นหนึ่งในอาชีพที่มาแรงในปัจจุบัน ทำหน้าที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นอาชีพที่ค่อนข้างเปิดกว้าง เพราะไม่เจาะจงว่าต้องจบจากสาขาไหนหรือคณะอะไร แต่ส่วนใหญ่คนทำงานสายนี้จะจบจากด้านวิทยาศาสตร์และสถิติ เพราะมีทักษะทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลอื่นได้

ทักษะทางตรง

  1. การนำเสนอข้อมูลเชิงภาพ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลมาแล้วจะต้องสามารถถ่ายทอดข้อมูลเหล่านั้นให้กับคนที่ต้องการจะสื่อสาร เข้าใจและเห็นภาพมากที่สุด ซึ่งอาจจะทำออกมาเป็นรูปแบบของกราฟหรือภาพก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม
  2. การเขียนโค้ด ถือเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับอาชีพนี้ เพราะต้องใช้ในการสร้างโมเดลให้สามารถเก็บและดึงข้อมูลตามที่ต้องการได้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวิเคราะห์ในรูปแบบต่างๆ

ทักษะทางอ้อม

  1. การสื่อสาร นอกจากทักษะการนำเสนอข้อมูลแล้ว ยังต้องอาศัยทักษะในการสื่อสารเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้สามารถเข้าใจได้
  2. ความรู้ด้านธุรกิจ เป็นทักษะที่ช่วยให้เข้าใจเป้าหมายหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นๆ ว่ามีผลตอบรับเป็นอย่างไร หรือจะเพิ่มผลลัพธ์ให้กับธุรกิจได้อย่างไร

นักภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computational Linguistics)

นักภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computational Linguistics)

เป็นอาชีพที่ต้องนำทฤษฎีทางภาษาศาสตร์มารวมกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือเป็นการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถวิเคราะห์ข้อมูล เข้าใจภาษาและทำหน้าที่ทางด้านภาษาต่างๆ แทนมนุษย์ได้ เช่น เครื่องแปลภาษาอัตโนมัติ (Machine Translation) หรือหุ่นยนต์นักสนทนา (Chatbot) ที่สามารถรับคำสั่งจากมนุษย์ได้ เป็นต้น

ทักษะทางตรง

  1. ด้านภาษาศาสตร์ เป็นทักษะที่จำเป็น เพราะข้อมูลทางภาษามีความเฉพาะเจาะจง จึงต้องใช้ทักษะในการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น การแปลภาษาอัตโนมัติ (Machine Translation) ให้ความหมายออกมาในรูปแบบต่างๆ ตามที่ผู้ใช้งานต้องการ หรือโปรแกรมในการค้นหา (Search Engines)
  2. การเขียนโปรแกรม เป็นทักษะที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ว่ามนุษย์ต้องการอะไร เช่น การทำให้หุ่นยนต์นักสนทนา (Chatbot) สามารถตอบคำถามได้ โดยที่เข้าใจได้ว่านี่คือคำถามชนิดใด จะไปหาคำตอบมาได้จากที่ไหน หรือสิ่งที่ต้องการเป็นประโยคคำสั่งหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบัน Chatbot สามารถรับคำสั่งจากมนุษย์ได้ไม่ว่าจะเป็นการเปิดไฟ ปรับแอร์ เปิดตู้เย็น เป็นต้น
  3. ด้านสถิติ เป็นการใช้ทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์และสถิติ เพื่อศึกษาข้อมูลทางภาษาศาสตร์ที่มีจำนวนมาก เช่น สถิติการใช้คำและประโยคเพื่อวิเคราะห์ความเป็นธรรมชาติในการใช้งานและความถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ การใช้ความน่าจะเป็นในการแก้คำกำกวม ซึ่งทักษะเชิงคณิตศาสตร์และสถิติจะช่วยให้เข้าใจถึงกลไกของภาษาหรือเข้าใจธรรมชาติของภาษาได้ดีขึ้น

ทักษะทางอ้อม

  1. การคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา ต้องอาศัยทักษะนี้ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางภาษา เพื่อพัฒนาให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจภาษาและวิเคราะห์ข้อมูลทางภาษาในลักษณะต่างๆ ได้ดีขึ้น เช่น การพัฒนาเครื่องแปลภาษาอัตโนมัติ (Machine Translation) โดยวิเคราะห์ว่าความหมายที่ต้องแสดงผลออกมานั้นจะเป็นรูปแบบไหน ต้องใช้โมเดลอะไร เป็นต้น

นักพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Engineer)

นักพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Engineer)

ปัจจุบัน AI หรือเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้รับความนิยมและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาชีพนี้มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่ง AI Engineer จะนำเอาความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ โดยการเขียนโปรแกรมหรือชุดคำสั่งด้วยเทคนิคต่างๆ เพื่อทำให้ AI สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และสามารถตัดสินใจในเรื่องที่ซับซ้อนได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ

ทักษะทางตรง

  1. การเขียนโปรแกรมและความรู้ด้านภาษาคอมพิวเตอร์ เป็นทักษะที่สำคัญมากๆ ความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาที่นิยมทางด้าน AI เช่น python, java เพื่อสร้างและทดสอบแบบจำลองการเรียนรู้ของ AI ให้เข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้งานได้ดีขึ้น
  2. คณิตศาสตร์ประยุกต์ เพราะคณิตศาสตร์สำคัญอย่างมากกับปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้นจึงต้องมีทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และสามารถนำความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ เช่น ความน่าจะเป็น สถิติ แคลคูลัส มาประยุกต์ใช้กับข้อมูลเหล่านั้น เพื่อวิเคราะห์และออกแบบระบบ

ทักษะทางอ้อม

  1. การสื่อสาร การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญกับทุกอาชีพ แม้ว่าจะเป็นสายงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีแต่ก็ต้องมีการสื่อสารกันทั้งภายในทีมและบุคคลภายนอก เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลที่ตรงกัน
  2. เรียนรู้เทคโนโลยีอยู่เสมอ จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และอัปเดตเทรนเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงและสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก jobthai.com

บทความแนะนำ