10 คำถามสัมภาษณ์งาน – เตรียมตัว ตอบอย่างไรให้ได้งานทำ

การสัมภาษณ์งานไม่ว่าคุณจะตอบแบบไหน ล้วนสะท้อนถึงความคิด ความอ่าน และทัศนคติต่างๆ ของตัวคุณเอง การตอบแต่ละข้อควรจะตอบในแบบฉบับความเป็นตัวคุณที่สุด ไม่ควรตอบอะไรที่แสดงถึงโอ้อวดเกินไป หรือ มีความมั่นใจเกินไป บทความนี้จะเป็นตัวช่วย ให้คุณเข้าใจการให้สัมภาษณ์งานมากขึ้น บทความ รวม 10 คำถามสัมภาษณ์งานสุดฮิต

คำถามสัมภาษณ์งานสุดฮิต ตอบยังไง ให้ได้งานทำ

สิ่งที่พูด – ความจริง

1. เล่าอะไรมาคร่าวๆ เกี่ยวกับตัวคุณให้ฟังหน่อย

ผู้สัมภาษณ์อยากจะรู้ว่าเมื่อคุณเรียนจบมาได้ทำอะไรบ้าง หรือเริ่มทำงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง สิ่งที่คุณได้รับจากบริษัทเดิมมีอะไรบ้าง ?

คำถามนี้คุณควรใช้เวลาตอบเพียง 2 -3 นาที ตอบแบบกระชับ ให้ได้ใจความที่สุด พร้อมยกตัวอย่างประกอบ เช่น “หลังจากเรียนจบด้านการตลาด และเริ่มทำงานกับบริษัทการตลาดแห่งหนึ่ง ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานกันเป็นทีม ก่อนการทำงานทุกครั้งต้องวางแผนอยู่เสมอ และ ต้องแข่งขันกับเวลาที่จำกัดอยู่เสมอ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ สิ่งเหล่านี้ล้วนสอนผมมา จึงทำให้ผมมักจะได้รับมอบหมายดูแลงานโปรเจคใหญ่อยู่เสมอ” แต่ถ้าคุณเป็นนักศึกษาจบใหม่ ไม่เคยทำงานที่ไหนมาก่อน คุณสามารถพูดถึงกิจกรรมนักศึกษาที่คุณเคยทำมาได้เหมือนกัน

2. ทำไมคุณถึงลาออกจากงานเก่า ?

ควรตอบด้วยความเป็นจริงให้มากที่สุด สั้นๆ กระชับ ให้ได้ใจความพร้อมกับเหตุผลประกอบ และถ้าการออกจะที่เก่ามันเลวร้ายมากๆ  คุณก็ไม่ควรจะบอกกับผู้สัมภาษณ์งาน อย่าลืมว่าผู้สัมภาษณ์อาจขออนุญาตติดต่อกลับบริษัทเก่า เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้น สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงที่สุดสำหรับการตอบคำถามนี้คือ การวิจารณ์ที่ทำงานและเจ้านายเก่า เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของคุณดูแย่ และนั่นหมายถึงโอกาสที่คุณจะได้งานนี้ย่อมจบลงเช่นกัน

3. คุณรู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทเราบ้าง ?

ก่อนจะเข้ามาสัมภาษณ์คุณต้องข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้องกับตัวบริษัทไม่ว่าจะเป็น ประวัติความเป็นมาขององค์กร วัฒนธรรม วิสัยทัศน์ ภาพลักษณ์องค์กรรวมถึงตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งข้อมูลเหล่านี้คุณสามารถค้นหาได้ตามหน้าเว็ปไซค์ของบริษัทนั่นเอง คุณอาจจะโทรเข้ามาสอบถามกับทางประชาสัมพันธ์ของบริษัทนั้น เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับตัวบริษัท การที่คุณได้มีเตรียมตัวหาข้อมูลก่อนไปสัมภาษณ์มันแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่า คุณตั้งใจที่จะเขามาทำงานที่บริษัทแห่งนี้

4. ทำไมคุณถึงมาสมัครงานกับบริษัทเรา ?

คำถามนี้จะเป็นอะไรที่ง่ายมากๆ ถ้าคุณได้มีการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวองค์กรมาพอสมควร การตอบคำถามทุกครั้งควรตอบอย่างมีเหตุมีผลเช่น

“ตอนที่ผมได้เรียนอยู่ และได้ทราบว่าจากรุ่นพี่เกี่ยวกับบริษัทแห่งนี้ ที่ได้เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาจบใหม่ ได้เข้าทำงาน ซึ่งคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ผมจะได้เรียนรู้ และเพิ่มความสามารถให้กับตัวผม”

“ช่วงที่ผมได้ทำงานบริษัทเก่าอยู่ ผมได้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนี้ที่ได้เปิดโอกาสให้กับพนักงานทุกคน พิสูจน์ความสามารถ และโปรโมตตัวเอง เพื่อเลื่อนขั้นได้ครับ”

5. ตามความเข้าใจของคุณ คิดว่าตำแหน่งนี้ต้องรับผิดชอบงานอะไรบ้าง ?

คุณควรทำการบ้านก่อนมาสัมภาษณ์ ด้วยการอ่านรายละเอียดของตำแหน่งงาน และคุณสมบัติต่างๆ ที่ทางบริษัทต้องการทำความเข้าใจกับมัน ตอบให้สั้นและกระชับใจความ สิ่งสำคัญก่อนตอบต้องมั่นใจว่าเข้าใจ ถ้าไม่แน่ใจส่วนไหนไม่ต้องกลัวที่จะถาม อาจตั้งคำถามกลับในทำนองว่า เข้าใจตำแหน่งงาน แต่ไม่แน่ใจเกี่ยวกับข้อมูลกลุ่มลูกค้า และผลิตภัณฑ์มากนัก อยากให้ช่วยอธิบายให้เข้าใจในเบื้องต้นและ ถ้าไม่รู้อย่าพยายามตอบเพราะถ้าตอบผิด นั่นหมายความว่าคุณไม่ได้ทำการบ้านมาไม่ได้ให้ความสนใจกับงานนี้ แถมยังมั่วอีกต่างหาก

6. ถ้าคุณได้มาทำงานกับบริษัทคุณคิดจะทำอะไรให้กับบริษัทมากที่สุด ?

คำถามนี้แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ความสามารถความชำนาญของตัวคุณเอง การตอบคุณควรตอบอย่างมั่นใจคำตอบที่คุณตอบไปสามารถบ่งบอกถึงความตั้งใจจริงในการทำงาน และความสามารถของตัวคุณเอง ไม่ว่าวิธีการคิดของคุณที่จะนำมาใช้กับบริษัทได้หรือไม่นั้น แต่ขอให้คุณใช้ประสบการณ์และความรู้ที่เรียนมาตอบออกไป

7. งานอดิเรกที่คุณทำเป็นประจำมีอะไรบ้าง ?

คำถามประเภทนี้ผู้สัมภาษณ์ต้องการจะดูด้านอุปนิสัย บุคลิกภาพ ของตัวผู้สมัครว่าเป็นคนอย่างไร และยังสามารถรู้ถึงความคิด ความอ่าน การสังเกตุ และการเข้าร่วมกับคนอื่นๆ

“ผมชอบอ่านข่าว คุณก็จะถูกถามถึงเหตุการณ์ ณ ปัจจุบันว่าเกิดอะไรขึ้นคุณมีความคิดเห็นต่อข่าวนี้ยังไงบ้าง”

“ผมชอบเล่นกีฬา กีฬาที่เล่น เพราะอะไรทำไมถึงชอบเล่นกีฬาประเภทนี้ คุณได้อะไรจากการออกกำลังกายบ้าง”

8. อะไรคือ จุดเด่น/จุดอ่อนของคุณ ?

จุดเด่นควรจะบอกอะไรที่คิดว่าดีที่สุดในตัวเรา และสามารถนำความสามารถนั้นมาใช้กับงานที่จะสมัครได้ เช่น“ผมเป็นคนไม่ชอบหยุดนิ่ง เนื่องจากชอบ ชอบทำกิจกรรมใหญ่ๆอยู่เสมอ”

จุดอ่อนควรจะบอกในสิ่งที่ตัวเองกำลังจะปรับปรุงหรือทำแล้ว และควรบอกถึงผลหลังการปรับปรุงด้วยเช่น “ภาษาอังกฤษของผมอ่อนมากๆ ซึ่งตอนนี้ผมกำลังเรียนภาษาอังกฤษอยู่ เรียนมาได้ 4 เดือนแล้ว และผลการเรียนนี้เอง ทำให้ผมสามารถโต้ตอบจดหมายที่เป็นภาษาอังกฤษได้”

9. คุณต้องการเงินเดือนเท่าไหร่ ?

เป็นเรื่องที่ยากในการตอบคำถามประเภทนี้ ไม่ว่าคุณจะเลือกเงินเดือนที่มาก หรือ น้อย ย่อมส่งผลกระทบต่อตัวเราทั้งสิ้น ทางที่ดีในการตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องเงินเดือนนี้ เราควรจะหาข้อมูลจากทางเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ทำงานในบริษัทหรือ คล้ายกับตำแหน่งที่คุณสมัครก่อน แต่ถ้าหากผู้สัมภาษณ์เสนอเงินเดือนมาสูงหรือต่ำกว่าที่คุณตั้งไว้ คุณก็อย่าเพิ่งรีบตอบตกลง คุณอาจจะขอเวลาในการพิจารณาสัก 1-2 วัน แล้วค่อยให้คำตอบก็ได้เพราะถ้าเกิดคุณตอบตกลงไปแล้ว และคุณมาขอขึ้นทีหลังก็เหมือนกับว่า คุณเป็นประเภทคนโลเลไม่น่าเชื่อถือได้

10. คุณมีข้อสงสัยอะไรอีกไหม

ถ้าเจอคำถามนี้ ย่อมหมายถึงการสัมภาษณ์ได้ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ในการตอบคำถามข้อสุดท้ายนี้จะตอบอย่างไรดี ที่จะแสดงว่าเราเป็นคนเอาใจใส่เช่น

“สวัสดิการที่ผมจะได้รับมีอะไร” หรือ คุณอาจจะไม่ต้องการถามอะไรก็ได้ เพราะถ้าคุณได้ทราบข้อมูลของบริษัทนี้มากพอแล้ว แต่ถ้าเกิดสงสัยจริงๆ ก็ควรตั้งคำถามที่ฟังแล้วดูดีและที่คาดว่าน่าจะถูกใจนายจ้างของคุณให้มากที่สุด

ข้อมูลจาก : manpowerthailand

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง