สัมภาษณ์งาน เปลี่ยนงาน

5 เทคนิค สัมภาษณ์งานไม่ถนัดให้ได้งาน | การเปลี่ยนสายงาน

Home / บทความการทำงาน / 5 เทคนิค สัมภาษณ์งานไม่ถนัดให้ได้งาน | การเปลี่ยนสายงาน

เพื่อนๆ ชาว Campus-Star.com หลายคนอาจจะเป็นบัณฑิตที่เพิ่งจบใหม่เริ่มต้นหางานหรือทำงานกันแล้ว แต่งานที่ได้หรือสมัครกลับไม่ตรงกับสิ่งที่ชอบ หรือสายที่เรียนมา อยากจะเปลี่ยนสายงานไปทำงานอื่นๆ บ้าง ลองอ่านบทความจาก JobThai ที่เรานำมาฝากนี้กันดูนะคะ ว่าเราพร้อมไหมที่จะเริ่มต้นใหม่กับหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างออกไป เรียกว่า “เทคนิคพิชิตใจ HR เพื่อให้ได้งานที่ไม่ถนัด” ค่ะ

5 เทคนิค สัมภาษณ์งานไม่ถนัดให้ได้งาน

แสดงความสามารถ

1. แสดงให้รู้ว่าคุณมีทักษะ อย่าแค่เอาแต่พูดว่าคุณสามารถทำงานนี้ได้ แต่ต้องแสดงให้เขาเห็นด้วยว่าทำได้อย่างไร ดังนั้นความรู้หรือทักษะในสายงานที่ได้ร่ำเรียนมาทุกสิ่งนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสายงานหรือตำแหน่งงานที่สมัครได้

หรือหากไม่มีความรู้หรือทักษะใดๆ เลย การเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งตำแหน่งไหนต้องการคนที่มีทักษะเฉพาะทางอยู่แล้ว และคุณมีทักษะเฉพาะทางดังกล่าวติดตัวจะทำให้คุณโดดเด่นและดูมีภาษีดีกว่ากว่าคนอื่นๆ นอกจากนี้ ต้องแสดงออกให้บริษัทรู้ว่าคุณมีทักษะที่มากพอที่จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งนั้นๆ

แสดงทัศนคติที่ดี

2. สื่อสารว่าคุณมีทัศนคติที่ดีและเข้ากับองค์กรเขาได้แน่นอน เพราะหลายองค์กรมักให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ นอกเหนือจากประสบการณ์การทำงานของผู้สมัคร ดังนั้นการที่คุณมีทัศนคติที่ดี ไม่ว่าจะต่อองค์กร ตำแหน่งงาน เพื่อนร่วมงาน หรือสิ่งรอบๆ ตัว จะช่วยให้การทำงานราบรื่นและออกมาดีได้ ตลอดจนต้องแสดงออกว่าคุณเข้ากับองค์กรเขาได้ เนื่องจากทักษะในการทำงานส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้ ดังนั้นหากมีโอกาสถูกเรียกไปสัมภาษณ์ ต้องอย่าลืมที่จะแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นด้วยว่าคุณมีลักษณะนิสัยที่เหมาะกับองค์กรของเขา

ข้อเสนอด้านคอนเนคชั่น

3. เสนอว่าคุณสามารถเพิ่มคอนเนคชั่นให้บริษัทได้ หนึ่งข้อที่คนย้ายสายงานได้เปรียบคนที่มีประสบการณ์ในสายงานนั้นๆ ก็คือเรื่องคอนเนคชั่น เพราะคนจากสายงานเดิมก็จะรู้จักคนกลุ่มเดิมๆ แต่สำหรับคนที่มาจากอีกสายงานหนึ่ง บริษัทก็ได้พนักงานที่รู้จักคนในอีกกลุ่มหนึ่ง แสดงให้เขาเห็นว่าการรับคุณเข้าทำงาน จะทำให้บริษัทมีพนักงานที่รู้จักคนในหลากหลายวงการ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคตได้

มีทักษะที่ทดแทนได้

4. สร้างความเชื่อมั่นว่า คุณมีความสามารถที่จะมาทดแทนทักษะและประสบการณ์ที่ขาดไป แม้ว่าจะไม่มีทักษะและประสบการณ์ในสายงานใหม่ แต่คุณสามารถแสดงให้คนที่สัมภาษณ์คุณเห็นถึงความสามารถอื่นๆ ที่มีประโยชน์ และทดแทนคุณสมบัติที่คุณขาดไปได้ รวมถึงการอธิบายสิ่งที่คุณเคยทำ และทักษะที่คุณได้รับมาจากการทำงานที่ผ่านมา เช่น คุณมีทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ได้ หรือถ้าคุณเป็นหัวหน้าทีม คุณก็จะมีทักษะในการบริหารจัดการ เป็นต้น ซึ่งหลายๆ ทักษะไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา หรือการเป็นผู้นำ เป็นทักษะที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกสายงาน

ดังนั้นเมื่อต้องไปสัมภาษณ์งานที่คุณไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ก็ควรที่จะศึกษารายละเอียดตำแหน่งงานให้ชัดเจน แล้วในวันสัมภาษณ์ ก็แสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่า ประสบการณ์และทักษะที่คุณมีอยู่นั้น จะเป็นประโยชน์และช่วยในการทำงานในสายงานใหม่นี้ได้ รวมถึงการตอบคำถามสัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจ เพราะหากแม้แต่ตัวคุณเองยังไม่มั่นใจกับการทำงานในสายงานใหม่ แล้วว่าที่หัวหน้าคนใหม่เขาจะมั่นใจคุณได้อย่างไร

เงินเดือนที่เหมาะสม

5. เรียกเงินเดือนที่เหมาะสม อย่าลืมว่าการมาสมัครงานไม่ตรงสายตามที่เรียนมาหรือไม่เคยทำในตำแหน่งนั้นๆ เลย ในมุมมองขององค์กรหรือบริษัทเขาจะมองว่า คุณไม่มีประสบการณ์การทำงาน ฉะนั้นหากรับคุณเข้ามาทำงาน บริษัทอาจต้องมีการสอนงานหรือสอนทักษะบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับงานให้คุณเพิ่มเติม ดังนั้นการเรียกเงินเดือน ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน

แต่หากคุณมั่นใจในจุดแข็ง และแสดงให้เห็นว่า คุณสามารถพัฒนาต่อยอดทักษะเหล่านั้น และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรหรือบริษัทต่อไปได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับนายจ้าง เมื่อเขาเห็นคุณค่าในตัวคุณ เขาก็จะยอมจ่ายในอัตราที่สูงขึ้นได้เช่นกัน

เทคนิคข้างต้น จะทำให้คนที่เรียนจบมาแล้วต้องสมัครงานไม่ตรงสายตามที่เรียน หรือคนที่กำลังคิดอยากเปลี่ยนสายงาน รวมถึงคนที่กำลังสมัครงานอยู่ ก็สามารถนำเทคนิคดังกล่าวจากไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตนเองได้เช่นกัน

ที่สำคัญคุณต้องมีความอดทนและต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ เพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นๆ เห็นว่าคุณมีความสามารถมากพอแม้จะไม่เคยทำงานสายนี้มาก็ตาม เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถเอาชนะใจนายจ้างได้

หางานใหม่ งานที่ไม่ถนัด ให้ได้งาน

ย้ายสายงาน

ที่มา มติชนออนไลน์ , JobThai.com