ความก้าวหน้า เปลี่ยนงาน

อยากปรับ/ย้าย/เปลี่ยนงาน จะทำยังไงดี จะเสี่ยงดีหรือเปล่า ?

Home / บทความการทำงาน / อยากปรับ/ย้าย/เปลี่ยนงาน จะทำยังไงดี จะเสี่ยงดีหรือเปล่า ?

ใกล้ปลายปีแล้ว จึงมีคำถามมาปรึกษา โดยที่ส่วนใหญ่มาแนวที่ว่า .. ย้ายภายในองค์กร จะดีกว่า การลาออกไปทำงานที่ใหม่หรือเปล่า ? และการเปลี่ยนเพื่อให้ได้ทักษะใหม่ๆ จะเสี่ยงหรือไม่ แทนที่จะทำงานเดิมให้ดีอาจจะกลายเป็นทำสิ่งที่ไม่ถนัด * หรือลาออก จะดีมั้ย มีข้อคิดมาฝากครับ

อยากปรับ/ย้าย/เปลี่ยนงาน

จะทำยังไง จะเสี่ยงดีหรือไม่ดี ….

1. คุณหนีปัญหาอยู่หรือเปล่า? ปัญหาคืออะไร?

หลายคนอยากจะเปลี่ยน อยากจะย้าย โดยคิดว่าจะได้ทำสิ่งใหม่ๆ แต่ในใจลึกๆ แล้วคือ “มีปัญหา” กับเพื่อนร่วมงาน กับหัวหน้า

คุณได้แก้ปัญหาแล้วหรือยัง ได้พูดคุยเปิดใจแล้วหรือยัง ?

ผมเชื่อว่า การได้พูดเปิดใจแล้ว หลายๆ ครั้ง คุณได้รับทราบความหวังดีจากหัวหน้าของคุณ ที่อาจจะไม่รู้มาก่อน (ก่อนหน้านี้ คือ คิดไปเองเชิงลบ)

ซึ่งการหนีปัญหาไปงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นภายในองค์กร หรือภายนอกมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาคล้ายๆ กัน และคุณจะหนีอีก (ยกเว้นว่าคุณได้เลือกทำงานกับหัวหน้าใหม่ ที่นิสัยขัดกับคุณน้อยที่สุดจนได้)

ผมเคยถามคำถามนี้กับคนที่มาปรึกษาหลายกรณี 90% เขาแก้ไขได้ ทำงานต่อแบบมุ่งมั่น อีก 10% เขาดีขึ้น ได้สติ รู้ว่าจะทำอะไรต่อ และลาออกไปแบบมีความมุ่งมั่นเช่นกัน (เหมือนช่วยจัดลำดับความคิดให้มากกว่า)

ดังนั้น เผชิญหน้ากับปัญหาเสียก่อนนะ แล้วค่อยตัดสินใจครับ

2. กรณีย้ายภายในองค์กร > งานเดิมของคุณทำได้ดีหรือเปล่า?

การย้ายภายในองค์กร (อาจจะยังหัวหน้าเดิม หรือหัวหน้าใหม่ ก็แล้วแต่) การที่งานเดิม คุณทำได้ดีอยู่ น่าไว้วางใจ มันทำให้การที่คุณอยากจะลองทำอะไรใหม่ๆเนี่ย ความเสี่ยงต่ำ

A. งานใหม่ยังไม่ดี แต่เขามีประวัติดีนี่นา เขาสู้ได้
B. งานใหม่ยังไม่ดี ถ้าไม่สบายใจ จะกลับไปยังจุดเดิม ก็น่าจะได้

ดังนั้น หัวหน้าที่จะรับย้ายงานให้คุณ เขาคิดในใจ ทั้งข้อ A,B เขาจะมองคุณในแง่บวก

3. งานเดิมไม่มีความแปลกใหม่ จริงหรือ?

นี่คืออีกประเด็นที่ จริงๆ แล้ว ความคาดหวังจากหัวหน้า และสิ่งที่ลูกน้องรับรู้ไม่ตรงกัน …

หัวหน้าหวังไว้ 10 แต่ลูกน้องทำแค่ 5 แล้วก็บอกว่า งานไม่มีอะไรแปลกใหม่ (อ้าว!!/ เป็นปัญหาการสื่อสาร ซึ่งตัวผมเองก็เป็น เลยต้องคอยเรียกคุยทุกๆ ไตรมาสกับทีมงาน

แผนกอื่นๆ ก็เช่นกัน พอ HR เข้าไปช่วยดู จริงๆ แล้ว หัวหน้าได้วางความท้าทายใหม่ๆ ให้เขาอยู่แล้ว แต่บางทีวางไว้ปีหน้า เลยยังอุบไม่อยากบอกกลัวลูกน้องจะหวั่นๆ แต่ลูกน้องก็คิดเอาเองว่าหัวหน้าไม่มีอะไรท้าทายใหม่ เลยเตรียมย้าย ซะงั้น (เคลียร์เสร็จก็ แฮปปี้)

4. ความเสี่ยง vs ความท้าทาย

สองคำนี้ มีความหมายใกล้กัน แต่คุณจะรู้สึกสนุก มันส์ กับคำที่สองมากกว่า เพราะคำแรก มักจะมีได้ หรือมีเสีย

คุณจะเปลี่ยนทัศนคติต่อความเสี่ยง ให้เป็นเพียงความท้าทายได้ ถ้าคุณลดความเสี่ยงนั้น (ตามข้อ 2) และคุณยอมรับผล “ทิ้งทักษะเก่า (บางอย่าง) เรียนรู้ทักษะใหม่” ได้ (แต่ต้องไม่เลวร้ายต่อหน้าที่การงานคุณนะ) เช่น ต้องมาเรียนรู้งานใหม่ เดิมที่ลุยได้เลยอย่างเร็ว แต่งานใหม่ต้องเนิบๆ ช่วงต้นทุกครั้ง ถ้ายอมรับได้ มันก็น่าสนุกครับ

ความเสี่ยง/ความท้าทาย ที่หลายคนประสบบ่อยๆ คือ การเลื่อนขั้น

– บางคนอยากเลื่อนขั้นมากๆ เลย ถามว่า เลื่อนขั้นเพื่ออะไร นอกจากความเท่ .. ตอบอะไรไม่ได้เลย

– บางคนอยากเลื่อนขั้น จะได้เงินเดือนเพิ่ม แล้วถามว่า รู้มั้ยต้องทำอะไรเพิ่ม ตอบไม่ได้อีก

บางคนกลัวการเลื่อนขั้น เพราะรู้สึกว่า บทบาทเปลี่ยนไป กลัวทำไม่ได้ (ระดับ 1 เปลี่ยนทักษะทำงาน เป็นทักษะคุมงาน / ระดับ 2 เปลี่ยนทักษะคุมงาน เป็นวางแผนงาน / ระดับ 3 เปลี่ยนทักษะวางแผนงาน เป็นสร้างงานด้วยกลยุทธ)

จริงๆ แล้ว การเลื่อนขั้นไม่ได้น่ากลัว แต่ในขณะเดียว อยู่ตำแหน่งเดิมก็ไม่ใช่เรื่องแย่ ก็แค่ งานท้าทายตัวเราเอง งานเรายัง “สำคัญ” กับเพื่อนร่วมงานและองค์กร และได้รับการยอมรับ (ความสำคัญที่ว่าเนี่ย เราไม่ได้คิดไปเอง ทุกคนรับรู้) นอกนั้นทุกอย่าง คือ ความเหมาะสม

ปลายปีแล้ว ขอให้ผลงานทุกท่าน ได้รับการยอมรับครับผม

BY PBMN

บทความแนะนำ