การทำงาน ช่องว่าง ลูกน้อง หัวหน้า

ช่องว่างระหว่าง หัวหน้า-ลูกน้อง ยังไงถึงเรียกว่าพอดี แบบไหนจะดีขึ้นหรือแย่ลง

Home / บทความการทำงาน / ช่องว่างระหว่าง หัวหน้า-ลูกน้อง ยังไงถึงเรียกว่าพอดี แบบไหนจะดีขึ้นหรือแย่ลง

ไปเจอเนื้อหาที่มีหัวข้อใกล้เคียงกัน อันนึงเป็นฉบับยุโรป (วัฒนธรรมฝรั่ง)nกับของไทย หัวข้อเดียวกัน คำแนะนำช่างต่างกันเหลือเกิน น่าคิด เลยเอามารวบรวมให้อ่าน เพราะมีหลายคนมาถามการแก้ไขเรื่องทีมเวิร์คแผนตนเอง แล้วผมก็รู้สึกว่าปัญหา คือ ช่องว่างตรงนี้นี่แหละคือทางแก้ (เนื้อหาต่อไปนี้ใช้วิจารณญานกันเองนะครับ บางอย่างมันก็จี้ใจดำผมเองเหมือนกัน สะดุ้งเป็นระยะๆ)

ช่องว่างระหว่าง หัวหน้า-ลูกน้อง ยังไงถึงเรียกว่าพอดี

1. ความใกล้ชิด social อาจจะทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง

(ยุโรป) เขาบอกว่า ทันทีที่ลูกน้องยอมใจรับสายโทรศัพท์หรือ chat จากหัวหน้าในวันหยุด รับคำสั่งงานที่ไม่ได้เร่งด่วนอะไรนัก คุณยอมจำนนกับการรุกล้ำส่วนตัวจากหัวหน้าเสียแล้ว และเช่นเดียวกันกับการที่หัวหน้ารับสายจากลูกน้องนอกเวลางาน ยอมให้ลูกน้องบ่นเรื่องส่วนตัว หัวหน้าท่านนั้นก็ยินยอมให้ลูกน้องรุกล้ำเช่นกัน << สิ่งเหล่านี้ เขาบอกว่า ทำให้ความเกรงใจต่อกันน้อยลงเรื่อยๆ

แต่… ถ้างานเร่งด่วนจริงๆ / หรือมีเรื่องเดือดร้อนส่วนตัว แต่ขอความช่วยเหลือกัน ก็โทรเถอะนะ น้ำใจต่อกัน / งานด่วนจริงก็ต้องช่วยกัน ไม่งั้นงานล่มแหงๆ

2. เข้าใจ แต่อย่าไปดำดิ่งจนเกินไป

(ไทย) การที่ลูกน้องรู้ปัญหาหัวหน้า หัวหน้ารู้ปัญหาลูกน้อง จงอยู่ในระดับ “เข้าใจ” เข้าใจว่า เขาอาจจะต้องลาหยุด ทำธุระ ช่วงนี้มีปัญหาทางบ้าน ยังทำงานไม่เต็มที่ ให้โอกาสที่เขาจะกลับมาเป็นปกติ

แต่อย่าไปดำดิ่ง ไปละลาบละล้วงรายละเอียดของปัญหาของเขา เพราะมันทำให้เกิดความ “ลำเอียง” ในการประเมินผล

เช่น คุณอาจจะเห็นใจลูกน้อง A ที่เขามีแม่ป่วยอยู่ แต่ถ้าคุณรับฟังมากๆ คุณอาจจะอยากช่วยเขามากเป็นพิเศษ ทั้งๆที่ จริงๆแล้ว ลูกน้อง B,C,D ของคุณก็อาจจะมีพ่อป่วย หรือลูกป่วยอยู่ที่บ้านเช่นกัน เพียงแต่เขาไม่ได้อยากเปิดเผยให้คุณฟัง

3. หัวหน้าลูกน้อง เราโตมาพร้อมๆ กัน เราสนิทกันไปแล้วนี่นา

มีหลายครั้ง หลายทีมงาน ซึ่งเป็นทีมเดียวกัน โตมาจากความเป็นเพื่อนกัน เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน จากนั้น อาจจะมีใครในทีมที่บุคลิกโดดเด่น จึงถูกแต่งตัวเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งเขาทำตัวลำบากในการวาง “ช่องว่าง” ที่ว่า

(ไทย) ง่ายที่สุด ก็คือ วางตัวเหมือนหัวหน้างานกลุ่มนั่นแหละ คุณยังคงความเป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้องกันอยู่ แต่เมื่อประชุม เมื่อถึงเวลางาน บทบาทเราต่างกัน นอกเวลางานทุกอย่างยังปกติ แบบนี้ดีที่สุด ได้งานและความสัมพันธ์ไม่เสีย

คนที่ “รีบวางช่องว่าง” ทันที่ได้ได้บทบาทใหม่ อาจจะเสียความสัมพันธ์ได้

คนที่ “ไม่วางช่องว่าง” เลย อาจจะไม่ได้รับความเกรงใจ นั่นหมายความว่า อาจจะตามงานแล้วงานไม่เดิน

ส่วนคนที่ปล่อยให้ “ช่องว่างกว้างใหญ่” เกิ๊น เหมือนคนที่ไม่ค่อยรู้จักกันระหว่างหัวหน้า-ลูกน้อง ก็เกิดปัญหาสื่อสารกัน ไม่ค่อยลงรอยกัน และไม่กล้าพูดเปิดใจกัน

4. การปรึกษางานส่วนตัวกับลูกน้อง ต้องสร้างสรรค์

(ยุโรป) คำว่า สร้างสรรค์ในที่นี้ หมายถึง การรับฟังปัญหาเรื่องงาน แนวทางเรื่องงานกับลูกน้องของเรา ต้องรับฟัง เพื่อ “รับไว้” (รับฟังเฉยๆก็ยังดี) หรือ “แก้ไข” แต่ไม่ไปพาดพิงปัญหาอื่น หรือบุคคลอื่น (เช่น ลูกน้องคนอื่นในทีมเราเอง) การที่ผสมโรงพาดพิงบุคคลอื่นๆ เท่ากับการที่เรายินยอมสร้างพรรคพวก ผสมโรงกับเขาไปด้วย และไม่เกิดความสามัคคี / กลายเป็นสนับสนุนทางอ้อม ให้ลูกน้องเข้าหาและเอาเราเป็นข้ออ้าง หรือในการเข้าข้างมากกว่าอีกคนหนึ่ง

ถ้าจะให้ดี ต้องปรึกษาพร้อมกับคิดวิธีแก้ไขไปด้วยเลย โดยเล็งผลลัพธ์ที่งานดี คนสามัคคีกันให้ได้ / พยายามตำหนิให้ตรงประเด็นพร้อมกับการแก้ไข

การตำหนิลอยๆ เช่น “ทำได้แค่นี้เหรอ” จะดีกว่าถ้าเป็น “ที่ทำมาไม่พอ ลองทำวิธี A และ B เพิ่มหน่อยสิ”

5. อื่นๆ

กินข้าวร่วมกัน ปาร์ตี้ร่วมกัน กอดกัน ให้ลูกน้องยืมเงิน << เรื่องพวกนี้ ผมคิดว่านานาจิตตังครับ ผมมองว่า เป็นบุคลิก นิสัย น้ำใจ และสถานการณ์ที่ต่างกัน ให้หัวหน้าแต่ละคนเลือกสไตล์กันเองครับ

ลองไปคิดพิจารณากับการทำงานของคุณนะครับ ผมว่ามันได้ข้อคิดดีๆ ทั้งคนที่เป็นหัวหน้าและคนที่เป็นลูกน้องครับ

BY PBMN

บทความแนะนำ