นาก ผลการวิจัย

ศูนย์วิจัย มจธ. ชี้ ฐานข้อมูลและกฎหมายควบคุมการค้าขายสัตว์ป่าที่เข้มแข็ง ลดการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คน

Home / วาไรตี้ / ศูนย์วิจัย มจธ. ชี้ ฐานข้อมูลและกฎหมายควบคุมการค้าขายสัตว์ป่าที่เข้มแข็ง ลดการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คน

จากอดีตจนถึงปัจจุบันพบว่าโรคระบาดร้ายแรงหลายๆ ครั้ง ที่เกิดขึ้นในโลกนั้น มักจะมีพาหะนำโรคซึ่งโดยมากเป็นสัตว์ป่า และอัตราการเกิดโรคระบาดจากสัตว์มาสู่มนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้นนั้น มีการวิจัยที่ชี้ว่าเกิดจากการที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่อาศัยเพื่อตั้งถิ่นฐานหรือการทำเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม ทำให้มีโอกาสเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น

ศูนย์วิจัย มจธ. ชี้ ฐานข้อมูลและกฎหมายควบคุมการค้าขายสัตว์ป่าที่เข้มแข็ง ลดการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คน

รศ. ดร.จอร์จ แอนดรูว์ เกล (Assoc. Prof. Dr. George A. Gale) หัวหน้าศูนย์วิจัย Conservation Ecology และ อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า

ศูนย์วิจัย Conservation Ecology มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยด้านนิเวศวิทยา การอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพ และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการศึกษาวิจัยในหัวข้อ การระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) บ่งชี้ความจำเป็นของการเพิ่มประสิทธิภาพ ของการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ผิดกฎหมาย (COVID-19 highlights the need for more effective wildlife trade legislation) เป็นงานวิจัยที่ได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยระดับนานาชาติ และจัดทำเป็นวารสารวิจัยเผยแพร่เมื่อปี 2020 ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ตลาดค้าขายสัตว์ป่า ตลอดจนประเทศต้นทางและปลายทางของการลักลอบค้า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อจากสัตว์ป่ามาสู่คน และกลายพันธุ์จนกลายเป็นการระบาด จากคนสู่คนด้วยกันเองในวงกว้างนั้นมีเพิ่มมากขึ้น

การระบาดของโรคโควิด-19

การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการจุดประกายให้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ หันมาให้ความสนใจเรื่อง การค้าสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น หากมีนโยบาย หรือ การจัดการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะสามารถนำไปสู่นโยบาย หรือมาตรการเฝ้าระวังควบคุมและป้องกันที่เข้มแข็ง เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดครั้งใหม่ในอนาคต ตลอดจนลดปัญหาทางสาธารณสุข ที่ส่งผลต่อสุขภาพ การพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว

การวิจัย มุ่งเน้นศึกษาหลักฐานการเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่

การทำการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นที่ระบาดวิทยาของโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่มุ่งเน้นการศึกษาจากหลักฐานของการเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่จากสัตว์สู่คนที่เคยเกิดขึ้น เพื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้หากมีการออกกฎหมายหรือข้อบังคับ และการเก็บข้อมูลประชากรสัตว์ป่าเพื่อเตรียมพร้อมฐานข้อมูลสำหรับการจัดทำแผนที่การกระจาย การใช้พื้นที่และพันธุศาสตร์ระดับประชากรของสัตว์ป่าในอนาคต เพื่อความสะดวกและแม่นยำต่อการติดตามสาเหตุและจุดเริ่มต้นหากเกิดกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อ หรือหากมีกรณีที่ต้องพิสูจน์ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าเมื่อมีการจับกุมการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้

ดร.วรธา กลิ่นสวาท อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. และหนึ่งในนักวิจัยของศูนย์วิจัย Conservation Ecology กล่าวเสริมว่า

งานวิจัยทางพันธุศาสตร์ของศูนย์ในปัจจุบัน จะมุ่งเน้นด้านการประเมินผลกระทบ ของการเกิดหย่อมป่า (habitat fragmentation) อันเนื่องมาจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมในอดีตและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พื้นที่ในปัจจุบันต่อความหลากหลายทางพันธุกรรม โครงสร้างประชากร และโอกาสของการปรับตัวและอยู่รอด (resilience) ของประชากรสัตว์ป่า และพัฒนาเทคนิคทางอณูชีววิทยา เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสในกลุ่มสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก (small carnivore) ที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนควบคู่กัน

ซึ่งตอนนี้ทางศูนย์วิจัยมีโครงการที่ชื่อว่า การประยุกต์ใช้ข้อมูลทางพันธุศาสตร์ เพื่อระบุแหล่งที่มาและเพิ่มประสิทธิภาพ ของการป้องกันและปราบปรามการค้านากผิดกฎหมาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Molecular tracing of confiscated otters for monitoring and combating illegal trade in Southeast Asia) เป็นโครงการที่มีการเก็บตัวอย่างนาก ในธรรมชาติของประเทศไทย และจากการค้าในประเทศญี่ปุ่นและเวียดนาม เพื่อสร้างฐานข้อมูลพันธุศาสตร์ (reference genetic profiles) ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มความน่าเชื่อถือ ในการระบุแหล่งที่มาของนาก จากการลักลอบค้าเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง (illegal pet trade) ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของนาก และอาจเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน

หากการวิจัยนี้สำเร็จ จะสามารถใช้เป็นต้นแบบในการทำแผนที่การกระจายตัวทางพันธุกรรมและความต่อเนื่องของถิ่นอาศัย (Mapping spatial pattern of population genetic structure and habitat connectivity) กับสัตว์ชนิดอื่นที่มีสถานภาพถูกคุกคาม และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศได้นำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ต่อไป

รศ. ดร.จอร์จ กล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยที่ทางศูนย์ได้ร่วมศึกษาในครั้งนี้เป็นการวิจัยมุ่งเน้นไปที่ การค้าขายสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย ในระดับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งพบว่า หากต้องการลดแรงจูงใจในการค้าขายสัตว์ป่า อาจจะต้องให้ความสนใจ กับการลดความต้องการบริโภคและใช้งานสัตว์ป่าไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าที่ยังมีชีวิต หรือเป็นชิ้นส่วนอวัยวะของสัตว์ป่าควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน

แต่ในขณะเดียวกันนั้น การออกกฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมาย เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากในแต่ละประเทศมีวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการต่างๆในการควบคุมการลักลอบค้าสัตว์ป่านั้นต้องขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมในแต่ละพื้นที่ และต้องมีแนวทางรองรับผลกระทบที่จะตามมา งานวิจัยในครั้งนี้จึงไม่ได้ชี้ชัดว่าต้องออกกฎหมายหรือข้อบังคับเช่นไร เพียงแต่ชี้ให้ตระหนักว่าการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นสามารถที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้เท่านั้น

ศูนย์วิจัย Conservation Ecology มจธ. เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาโท และ นักวิจัยในระดับหลังปริญญาเอก (Postdoctoral Research Fellowship) เพื่อร่วมศึกษาวิจัยในด้านการบริการจัดการทรัพยากรชีวภาพของสัตว์ในระบบนิเวศน์ป่าบก อีกทั้งมีความร่วมมือกับนักวิจัยและองค์กรต่างๆในระดับนานาชาติ เพื่อร่วมศึกษาวิจัยและเพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้ที่ตรงประเด็นจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องของสัตว์แต่ละชนิดที่แตกต่างกันออกไป

ล่าสุดทางศูนย์วิจัยได้มีการขยายขอบเขตการศึกษาวิจัย โดยเริ่มมีการศึกษาวิจัยในเรื่องของสัตว์ทะเล รวมทั้งได้มีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 5-6 ด้านสัตวแพทย์ศาสตร์ และนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 ที่ทำโครงการการศึกษาความรู้เฉพาะเรื่อง (Senior Project) ด้านนิเวศวิทยาและพันธุศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ (Conservation Genetics)

แมวดาว

แมวดาว

บทความแนะนำ