Metaverse คืออะไร รับมือการเสพติดสังคม ยุค Metaverse อย่างไร ?

โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการดิสรัปของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่พลิกผัน ล่าสุด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสาหลักแห่งการศึกษา และนำพาสังคม จัดงานเสวนาออนไลน์ Chula Masterverse 2022 จักรวาลแห่งนักคิด แนะแนวทางสังคมรับมือยุค Metaverse

รับมือการเสพติดสังคม ยุค Metaverse อย่างไร ?

Metaverse คืออะไร

รศ. ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะบัญชี จุฬาฯ เผยถึง Metaverse ว่าเป็นนวัตกรรม touchnology ที่เข้าถึงสัมผัสประสาททั้งห้า และเข้าถึงระดับจิตใจของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง เป็นโลกเสมือนจริง ที่เติมเต็มความปรารถนาเบื้องลึกของมนุษย์ ที่โลกแห่งความเป็นจริงไม่ตอบสนอง

รศ.ดร. วิเลิศ ฉายให้เห็นโลกคู่ขนานสองใบ โลกแห่งความจริง และ โลกเสมือนจริงที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ที่ไม่อาจเลี่ยงหรือปฏิเสธได้ว่ามันได้เกิดขึ้นแล้ว และสังคมจะสร้างเกราะป้องกันภัยในโลกเมตาเวิร์ส ที่อาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากรู้จักนำมาใช้หรือรู้เท่าทัน คิดให้มาก คิดให้ลึก ก็จะเป็นประโยชน์

“ถ้าต่อไปโลกเมตาเวิร์ส มันขยายขึ้นแล้วลองจินตนาการดูว่าโลกมันจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ในเมื่อเด็กไม่เรียนแค่ในห้องเรียนแล้ว หน้าที่ของอาจารย์คือไปจุดประกายให้เขาเรียนในห้องเรียน เสร็จแล้วเขาอยากไปหาความรู้เพิ่มเติมเอง ในทุกที่ที่เขาอยากเป็นและอยากไป เพราะในโลกนั้นทุกคนมีร่างอวตารของตัวเองอยู่แล้วแค่พาใจออกไปเหมือนฝัน แต่มันเกิดขึ้นจริง ได้ดูจริงเห็นจริง จากการพัฒนาของเทคโนโลยี VR/AR

และในโลกเมตาเวิร์ส เราจะเป็นใครก็ได้ในแบบที่เราอยากเป็น สวยอย่างไรก็ได้ หล่ออย่างไรก็ได้ ไม่ใช่ตัวตนจริง (actual self) แต่เป็น ตัวตนในอุดมคติ (Ideal self) คือ ภาพที่เขาอยากเป็น” คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวและอธิบายเสริมว่า แม้โลก Metaverse จะพาไปได้ทุกที่ที่อยากไป แต่ความน่ากลัวของมันก็คือ เด็กอาจจะเสพติดในโลกจินตนาการ จนไม่อยากกลับมาในโลกของความเป็นจริงก็เป็นได้

โลกเมตาเวิร์ส

“เพราะในโลกเมตาเวิร์ส เราไม่มีตัวตน จึงสามารถแสดงสันดานดิบออกมาได้แบบไม่ต้องกลัวคนจะรู้ตัวตนที่แท้จริงว่าคุณเป็นใคร คือไม่ต้องแคร์สามารถแสดงความหยาบคายหรือคุกคามได้แบบไม่แคร์ใครระยะยาว คือความน่ากลัว”

ฉะนั้นความจำเป็นเร่งด่วนที่ โลกเมตาเวิร์สต้องมี คือ การสร้างสังคมที่มีความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับโลกจริง เรามีเรื่องของ CSR (Corporate Social Responsibility) ที่ทำให้องค์กรตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลรับผิดชอบสังคม ในเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อม แต่ในโลก Metaverse ไม่มีมลพิษ ไม่ต้องมีการรักษ์โลกหรือลดมลพิษ

แต่เพื่อสร้างความยั่งยืนและสร้างสังคมที่รับผิดชอบร่วมกัน จำเป็นต้องสร้าง DSR (Digital Social Responsibility) โดยนำเรื่องจริยธรรมและมโนธรรมมาสร้างกติกาและระเบียบในสังคมดิจิทัล เพื่อป้องกันเรื่องของการปลอมตัว การฉ้อโกงที่จะเกิดขึ้นมากกว่าปกติ ดังนั้นสเต็ปต่อไปสิ่งที่จะเกิดขึ้น จะต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุม และมี Metaverse Security ที่มาพร้อมกับความเป็นส่วนตัว

รศ. ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะบัญชี จุฬาฯ

รศ.ดร. วิเลิศ ยังได้ย้ำถึง Metaverse หรือ จักรวาลนฤมิต เป็นโลกจินตนาการ โลกแห่งความฝันของคน โลกปรารถนาเบื้องลึกของมนุษย์ ถ้าวันนี้ทุกคนอยากเข้าใจโลก Metaverse ต้องคิดเยอะๆ ว่าแท้จริงแล้วเป็นจักรวาลของความรู้สึกนึกคิด ถ้าเรามีทักษะการใช้ชีวิต มีหลักการที่แข็งแกร่ง เข้าใจความรู้สึกนึกคิด เช่น สุขคือความอยากที่เต็ม ส่วนความทุกข์คือความอยากที่ไม่เต็ม เราจะอยู่ในโลกสองใบอย่างมีสุขและปลอดภัย

เพิ่มเติม

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง