มจธ หลักสูตรวิศวกรรม หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ

KOSEN KMUTT เปิด “หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ” จากฐานคิด Monozukuri สู่ทักษะวิศวกร

Home / ข่าวการศึกษา / KOSEN KMUTT เปิด “หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ” จากฐานคิด Monozukuri สู่ทักษะวิศวกร

จากเป้าหมาย “ผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ นักเทคโนโลยี และนวัตกร รองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” เกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสถาบัน KOSEN ของประเทศญี่ปุ่น ในการนำเทคนิคการสอนของประเทศญี่ปุ่น มาต่อยอดเป็น หลักสูตรสาขาวิศวกรรมแนวใหม่ ภายใต้โครงการ KOSEN KMUTT (โคเซ็น มจธ.) เพื่อคัดเลือกเด็ก ม.3 ที่เข้าร่วม “โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค”

หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ

ผู้ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ที่ผู้เรียนจะได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งแต่ ม.4 จนถึงระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 ในสาขาวิศวกรรม รวมถึงยังมีสิทธิ์ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก ทำให้การเปิดรับสมัครผู้เรียนในหลักสูตร Automation Engineering ภายใต้โครงการ KOSEN KMUTT ได้รับความสนใจจากเยาวชนระดับหัวกะทิ ที่มีความสนใจทางสายวิศวกรรมเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อให้โอกาสกับเด็กนักเรียน ที่ต้องการเรียนต่อในสายวิศวกรรม ในสาขาวิศวกรเฉพาะทาง ซึ่งเป็นที่มีความต้องการสูงของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต โครงการ KOSEN KMUTT จึงเปิดหลักสูตรเพิ่มขึ้นอีก 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ (BIO ENGINEERING) ในปีการศึกษา 2565 โดยจะมีการสอบคัดเลือกรอบแรกประมาณต้นเดือนมกราคม 2565

ดร.ก้องกาญจน์ วชิรพนัง ผู้อำนวยการสำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ KOSEN KMUTT กล่าวว่า ..

จากการทำงานร่วมกับสถาบัน KOSEN ของญี่ปุ่น และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ ทำให้พบว่านอกจากวิศวกรรมอัตโนมัติ หรือ Automation Engineering ที่เป็นงานด้านวิศวกรรมซึ่งเกี่ยวกับการจัดการให้กระบวนการต่างๆ สามารถดำเนินไปโดยอัตโนมัติและประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด จะเป็นสายอาชีพด้านวิศวกรรมที่มีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการสูงในอนาคตแล้ว ขณะที่ วิศวกรรมชีวภาพ หรือ BIO ENGINEERING ก็เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่น่าจะมีความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสูงเช่นกัน

“ในช่วง 2 ปี ที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับ ภาวการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ มจธ. เห็นถึงศักยภาพกับความความพร้อมของสองอุตสาหกรรมไทยที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคต ก็คือ ‘อุตสาหกรรมอาหาร’ หรือ Food for the Future ทั้งในแง่ของ Functional Food และอาหารเฉพาะกลุ่ม กับ ‘Bio pharmaceutical’ ทั้งด้านเภสัชภัณฑ์และการผลิตวัคซีน แต่สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกัน คือการสร้างวิศวกรด้านวิศวกรรมชีวภาพไว้รองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้”

ดร.ก้องกาญจน์ กล่าวว่า แม้ปลายทางของเด็กภายใต้หลักสูตรนี้ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาหารและยา แต่หลักสูตรนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างฐานความรู้ด้านวิศวกรรมควบคู่ไปกับกับการเรียนด้านชีววิทยา และศาสตร์ด้านเคมี โดยนำเนื้อหาทั้ง 3 ด้าน มาปรุงเป็นหลักสูตรแบบ KOSEN ผสานแนวทางการฝึกแบบโมโนซูการิ (Monozukuri) ซึ่งเป็นคำญี่ปุ่น “Mono” หมายถึง สิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ กับ “Zukuri” หมายถึง การผลิต การสร้างสรรค์ ที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างวิศวกรที่มีทักษะระดับสูง

“สิ่งที่เราปลูกฝังให้เขาตลอดระยะเวลา 5 ปีของหลักสูตรนี้ คือ หนึ่ง การมีฐานด้านการคิดคำนวณที่ดี สอ งมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเราจะมีการให้โจทย์ที่ท้าทายความคิดของเขาตลอดเวลา สาม มีทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง สี่ เป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ ที่สามารถแปลงความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การลงมือทำให้เกิดผลได้จริง และสุดท้ายคือ Responsibility หรือ มีความรับผิดชอบต่องานและต่อสังคม ทั้งหมดนี้จะทำให้เขาสามารถสร้างผลงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์และคนในสังคมได้อย่างแท้จริง”

และสิ่งที่ KOSEN KMUTT ต่างจากหลักสูตรทั่วไป คือการทำให้เด็กทุกคนได้รู้ตั้งแต่แรกว่า ปลายทางหรือจุดหมายของเขาคืออะไร โดยสิ่งที่เด็กจะต้องทำตลอด 5 ปีของการเรียนรู้ที่นี่ คือ การหาแนวทางของตนเองที่จะเดินไปสู่ฝันของเขาด้วยตนเอง

“หลักสูตรของเราต่อยอดแนวคิดการเรียนรู้แบบ Active Based Learning เด็กจะได้เรียนแบบเห็นภาพจริง ลงมือทดลอง และสร้างสรรค์จริง โดยครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ช และเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก เราจะเน้นที่พัฒนาการของแต่ละคน รวมถึงการมีผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมจาก KOSEN ญี่ปุ่น มาช่วยประสานกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อให้เด็กได้เข้าไปฝึกงานจริงๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมร่วมสอนและดูแลอย่างใกล้ชิด” ผู้อำนวยการสำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ มจธ. กล่าว

สำหรับการถ่ายโอน “โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค” จากกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น ดร.ก้องกาญจน์ กล่าวว่า นอกจากกระทรวง อว. จะมีสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานในสังกัด ที่มีการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องแล้ว อว.ยังมีประสบการณ์ในการทำงานภายใต้โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ หรือ วมว. ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นผลดีต่อการดำเนินโครงการ KOSEN KMUTT อย่างแน่นอน

ดร.ก้องกาญจน์ วชิรพนัง

ดร.ก้องกาญจน์ วชิรพนัง

บทความแนะนำ