ต้องยอมรับว่าหลายปีมานี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นเทรนด์มาแรง และมีช่องทางให้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพฤติกรรมของผู้คนที่มีการเปลี่ยนแปลง หันมาสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเริ่มต้นทำธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะ รวมถึงสามารถทำงานที่บ้านได้อย่างอิสระ เพราะไม่ถูกตีกรอบด้วยเวลา รวมถึงไม่ต้องเสียเงินเช่าหน้าร้านเหมือนในอดีต ทำให้หลายคนหันมายึดเป็นอาชีพหลัก ในขณะที่ใครทำงานประจำอยู่ก็สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ด้วยเช่นกัน
ส่องไอเดียสร้างรายได้ จาก 2 เด็กไทย
จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนมีเป้าหมายอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง มีแนวโน้มไม่อยากทำงานประจำเพราะไม่อยากเป็นลูกจ้างเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้การทำธุรกิจออนไลน์จะดูเป็นเรื่องง่าย แต่แท้จริงแล้วการเปิดร้านขายของออนไลน์ หรือทำธุรกิจออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวที่ดี เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว อาจทำให้การดำเนินธุรกิจประสบปัญหาจนทำให้ล้มเลิกการทำธุรกิจได้
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิซิตี้ มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานผ่านหลักสูตร Kenan Micro and SME Academy แหล่งรวมความรู้และทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย และผู้ที่สนใจทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น ทักษะด้านการตลาดออนไลน์ แนวคิดพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการ และความรู้ทางการเงิน ซึ่งล้วนเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญสำหรับอนาคต
โดยครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีจะพาไปดูแนวคิดของสองเยาวชนไทยคนรุ่นใหม่ ที่มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าวว่าได้นำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้กับตนเองอย่างไรบ้าง
· ต่อยอดเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจครอบครัว จากทักษะการตลาดออนไลน์
นางสาวกนกพร เรือนอิ่น นักศึกษา ปวช. ปี 3 สาขาการตลาด วิทยาลัยพาณิชยการบางนา หรือน้องตอง หนึ่งในผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เล่าว่า ทางบ้านทำกิจการจำหน่ายหิน ดิน ทราย ที่เป็นวัสดุสำหรับก่อสร้างอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ตนเองมีหน้าที่ช่วยคุณป้าและทางบ้านรับหน้าที่ทำรายรับ-รายจ่าย ในเวลาว่างและช่วงวันหยุด โดยทำมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นม. 6 ปัจจุบันกิจการของทางบ้านเปิดมากว่า 40 ปีแล้ว ส่วนใหญ่รายได้จะมาจาการขายหน้าร้านเป็นหลัก ซึ่งช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา กิจการที่บ้านได้รับผลกระทบไปด้วย ลูกค้าลดลงไปมาก ทำให้ตัวเธออยากหาช่องทางที่จะมาช่วยเพิ่มรายได้ให้กิจการที่บ้าน
จนมาเจอโครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ทางวิทยาลัยฯ ส่งข้อมูลมาให้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะด้านการตลาดออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook และ Line Official Account ซึ่งเธอเองได้เรียนรู้ทักษะการยิงแอดโฆษณา การสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ จนสามารถนำมาเปิดเพจบนเฟซบุ๊กเพื่อโปรโมตธุรกิจของที่บ้าน โดยตัวเธอเองทำหน้าที่เป็นแอดมินทั้งบนเพจ Facebook และ Line Official Account ทำให้กิจการเริ่มเป็นที่รู้จักและมีลูกค้ารายใหม่ทยอยเข้ามาเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 30-40%
“รู้สึกใจมากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชน เพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานผ่านหลักสูตร Kenan Micro and SME Academy ในครั้งนี้ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่สำคัญคือได้เรียนรู้อะไรต่าง ๆ มากมาย รวมถึงพี่ ๆ ผู้สอนมีความเต็มใจ ตั้งใจ และช่วยตอบข้อสงสัยทุกอย่าง รวมถึงให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือได้เรียนรู้การยิงโฆษณาบนออนไลน์ เพื่อให้ได้กลุ่มลูกค้าที่ตรงเป้าหมาย การสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้ดูน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เรามีความมั่นใจในการตอบคำถามลูกค้า และมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น รวมถึงการปลูกฝังให้เราเป็นคนตรงต่อเวลามากขึ้นอีกด้วย”
· อยากแบ่งเบาภาระทางบ้าน จุดเริ่มการเรียนรู้ทักษะสู่การเป็นผู้ประกอบการ ใช้ออนไลน์สร้างรายได้
อีกหนึ่งเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่น นายณัฐวุฒิ สุดเกษร นักเรียน ปวช.3 วิทยาลัยพาณิชยการบางนาสายการตลาด หรือน้องไอซ์ เผยว่า ตอนที่เรียนอยู่ ปวช. ปี 2 ตนเองได้ทดลองขายคุกกี้ร่วมกับเพื่อนอยู่ก่อนแล้ว จนมาเจอช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้ทางบ้านได้รับผลกระทบอย่างหนักด้านปัญหาภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งตนเองในฐานะพี่คนโตอยากแบ่งเบาภาระของครอบครัว จึงตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจออนไลน์ โดยขายคุกกี้นิ่มกับเพื่อนต่อมาเรื่อย ๆ โดยคุกกี้ของทางร้านจะมีอยู่ประมาณ 8 – 10 ไส้ และเน้นขายแค่คุกกี้เป็นหลัก
พอหลังจากที่ตนเองได้มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรม และได้เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงทักษะการตลาดออนไลน์ทั้งบน Facebook และ Line Official Account ทำให้ตนเองได้นำความรู้ ที่ได้มาพัฒนาการบริการในธุรกิจของตัวเอง เช่น เพิ่มสินค้าที่เป็นเค้กหน้านิ่มเข้ามาขายนอกจากคุกกี้ และยังมีการเปิด Line Official Account เพิ่มขึ้นมา พร้อมจัดทำโปรโมชันให้น่าสนใจ เพื่อดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่และยังคงลูกค้าเก่าไว้ได้ ทำให้สามารถสร้างกำไรในการทำธุรกิจได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15% โดยในอนาคตมีแผนจะรับสินค้าจากที่อื่นมาขายเพิ่ม เช่น อาหารคลีน และขนมต่าง ๆ เพื่อขยายธุรกิจให้มีความหลากหลายขึ้น รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอีกด้วย
“ตลอดการเข้าร่วมโครงการฯ ผมได้รับโอกาสในการเรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ รวมถึงการสร้างช่องทางการขายสินค้าเพิ่มเติม อีกทั้งอาจารย์ผู้สอนมีความเป็นกันเองกับนักเรียนมาก อธิบายได้กระชับ ชัดเจน และเข้าใจง่าย รู้สึกดีใจมากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ และอยากให้จัดอบรมแบบนี้ต่อไปให้กับน้อง ๆ พี่ ๆ เพื่อให้พวกเขาได้นำความรู้ไปต่อยอดได้อย่างมีคุณค่าเช่นเดียวกันเหมือนกับผม”
ด้าน นางสาววันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ตัวแทนมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่คือทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง แต่พบว่าปัญหาการเข้าถึงตลาดแรงงานของคนรุ่นใหม่ กลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา มูลนิธิซิตี้ เห็นถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือเยาวชนเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ภายใต้กรอบแนวคิดริเริ่ม Pathway to Progress โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการว่างงานในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านการเสริมพลัง เสริมประสบการณ์การทำงาน และความรู้ทางการเงิน เพื่อบ่มเพาะพื้นฐานความคิดแบบผู้ประกอบการ รวมถึงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและเชิงโครงสร้างที่จะช่วยเอื้ออำนวยให้กลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่สามารถสร้างอนาคตที่ปรารถนาได้ด้วยตนเอง อันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเยาวชน และครอบครัว รวมถึงนำไปสู่การมีบทบาทขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับชุมชน และประเทศชาติในลำดับต่อไปได้
สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับมูลนิธิซิตี้ได้ที่ www.citifoundation.com