วันปรีดีพนมยงค์ แนวคิด

นิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ สอนแนวคิด จำได้ เข้าใจ ใช้เป็น ปั้นนักกฎหมายตอบโจทย์โลกธุรกิจ

Home / วาไรตี้ / นิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ สอนแนวคิด จำได้ เข้าใจ ใช้เป็น ปั้นนักกฎหมายตอบโจทย์โลกธุรกิจ

เมื่อมีสังคมที่ไหน ย่อมต้องมีกฎหมายที่นั่น แสดงให้เห็นว่ากฎหมายนั้นมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราในทุกๆด้าน แม้ในด้านการค้าและเศรษฐกิจ กฎหมายก็เข้ามามีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน โลกและเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นในภาคของธุรกิจจึงมีความต้องการนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพิ่มมากขึ้น

“แนวคิด จำได้ เข้าใจ” ปั้นนักกฎหมายตอบโจทย์โลกธุรกิจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า คณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มีการปรับการเรียนการสอนใหม่ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจ โดยเน้นสองด้าน ได้แก่ ต้องมีความรู้เฉพาะทางและทำงานเป็น หลักสูตรใหม่จะมีกลุ่มวิชาเฉพาะที่นักศึกษาสามารถเลือกได้ว่าอยากจะเรียนแบบไหน โดยแบ่งเป็น กลุ่มวิชาเลือก กฎหมายธุรกิจนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ กลุ่มวิชาชีพในกระบวนการยุติธรรม และกลุ่มวิชาเลือกนักกฎหมายภาครัฐ หากนักศึกษาอยากเป็นนักกฎหมายที่ยังว่าความเหมือนเดิมก็ยังคงสามารถทำได้ หรืออาจจะเป็นนักกฎหมายที่ว่าความทางด้านธุรกิจก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งแยกกันด้วยการบรรจุวิชาเฉพาะทางเข้าไปในหลักสูตร

เมื่อภาครัฐผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ส่งผลให้ทุกองค์กรมีความต้องการนักกฎหมายและที่ปรึกษาทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการกระตุ้นให้มีการคิดค้นสิ่งใหม่ เรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีความจำเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาที่พบคือ เจ้าของธุรกิจเมื่อคิดค้นมาแล้วต้องทำอย่างไรจึงจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายดังกล่าว นั่นคือบทบาทหน้าที่ของนักกฎหมายที่ต้องเข้าไปช่วย เพราะฉะนั้นคนที่เรียนมาทางด้านกฎหมายธุรกิจจึงต้องได้เรียนกฎหมายตัวนี้อย่างลึกซึ้ง

ผศ.ดร.สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า นักศึกษาของเราเมื่อจบการศึกษาออกไปแล้วต้องทำงานเป็น ไม่ว่าจะทำงานสายงานไหน เราก็ได้วางแผนว่านักศึกษาจะต้องจบนิติศาสตร์บัณฑิต ใน 3 ปีครึ่ง ส่วนภาคเรียนที่สองนั้น นักศึกษาต้องออกไปทำงานในทางกฎหมายทางต่างๆ อาทิ สามารถไปทำงานกับสำนักงานทนายความ ศาลว่าความ ฝึกงานทางด้านนิติกร สำนักงาน DSI ศาลรัฐธรรมนูญ หลักสูตรดังกล่าวจะทำให้นักศึกษาจะมีความเชี่ยวชาญพิเศษขึ้นมา ซึ่งจะแตกต่างนักกฎหมายอื่นๆทั่วไป ส่วนคนที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นนักกฎหมายเพื่อว่าความ เราก็ให้เรียนเน้นลึกลงไปเพื่อเพิ่มศักยภาพของนักศึกษาในด้านนั้นๆ

“ผมเน้นย้ำกับนักศึกษาเสมอว่า จำได้ เข้าใจ และใช้เป็น นี่คือทักษะที่เรามุ่งสอน ต้องเข้าใจแต่ละมาตรามีความแตกต่างกัน และนำไปใช้อย่างไร พอได้ข้อเท็จจริงแล้วถึงจะนำไปปรับใช้ได้ แบบนี้จึงยากกว่าแค่จำแบบธรรมดา นักกฎหมายถูกสอนมาอย่างหนึ่งคือ ต้องสามารถชี้ดำ ขาว และชี้ขาดได้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม” เพราะฉะนั้นตัวนักกฎหมายเองต้องมีการปรับตัวให้ทันกับโลก ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาด้วยที่จะต้องฝึกนักศึกษาเหล่านี้ออกสู่สังคม ว่าเราจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร หลักสูตรใหม่ที่เกิดขึ้นก็จะเป็นการเตรียมไว้ว่านักศึกษาจะต้องเจอกับอะไรบ้างเมื่อออกไปสู่โลกภายนอก

รศ.ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับความคาดหวังของนักกฎหมายไทยในอนาคตว่า ผมมองว่านักกฎหมายในอนาคตต้องมีการปรับตัว หากยังย่ำอยู่ที่เดิม เราจะไม่สามารถสู้กับนักกฎหมายต่างชาติได้เลย ณ ปัจจุบันมีนักกฎหมายที่สามารถสื่อสาร โต้ตอบ เป็นภาษาอังกฤษได้มีค่อนข้างน้อย แล้วยังมีเรื่องหลักเกณฑ์ใหม่ๆที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่จะต้องฝึกฝนนักศึกษาให้สามารถทำงานในระดับนานาชาติได้
“เมื่อเราจะให้เขาออกไปรบ เราก็ต้องติดอาวุธให้พร้อม เป็นอาวุธที่ทันสมัย สอนให้คิดเป็น พร้อมค้นหาอาวุธใหม่ เพื่อเอาไว้สู้กับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผมเชื่อว่าจะสามารถยกระดับได้ เมื่อเรายกระดับนักกฎหมายได้ รูปแบบของการให้บริการก็จะเปลี่ยนไปด้วยเหมือนกัน” นั่นก็คือสิ่งที่ผมคาดหวัง