“ทุนการศึกษาพระราชทาน” เป็นทุนการศึกษาที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) โปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อช่วยเหลือการศึกษาในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา จนไปถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งนักเรียนที่จะได้รับพระราชทานทุนนี้ มีทั้งนักเรียนที่ด้อยโอกาส นักเรียนที่มีฐานะทางบ้านยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีความผลการเรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย และมีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเรียน โดยพระราชทานเป็นทุนประเดิม และต่อมาผู้มีจิตศรัทธาบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลอีกเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งตั้งเป็นมูลนิธิช่วยนักเรียนขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อที่จะให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เหล่านี้ได้กลับมาทำงานในสาขาวิชาที่ตนเองได้เรียนมาต่อไป และนี่ คือ 9 ทุนการศึกษาพระราชทาน มีดังต่อไปนี้…
9 ทุนการศึกษาพระราชทาน ในหลวงรัชกาลที่ 9
1. ทุนมูลนิธิ “ภูมิพล”
นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 100,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหิดล) ตั้งเป็นทุน “ภูมิพล” ขึ้น เพื่อเก็บดอกผลพระราชทานเป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ผู้ที่มีผลการเรียนดี แต่ขัดสนทุนทรัพย์ ให้แก่นักศึกษาคนละ 200 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี
นอกจากนี้ ได้พระราชทานทุนการศึกษาให้แก่บัณฑิตที่สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นรางวัลแก่นิสิต นักศึกษา ที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นประจำทุกปี และในเวลาต่อมาได้พระราชทานทุนการศึกษาขยายออกไปในมหาวิทยาลัยต่างๆ
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 50,000 บาท ตั้งเป็นทุนมูลนิธิ “ภูมิพล” และได้ตราระเบียบลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2511 โดยได้แบ่งทุนการศึกษาออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ทุนประเภทช่วยเหลือการศึกษา
- ทุนประเภทช่วยเหลือการทำปริญญานิพนธ์ หรือการวิจัย
โดยยังได้มีการพระราชทานทุนมูลนิธิ “ภูมิพล” ให้แก่บัณฑิตที่ได้คะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อไปศึกษาต่อในประเทศเพิ่มขึ้น อีกด้วย ซึ่งนักศึกษาที่ได้รับพระราชทานทุนนี้ หลังจากสำเร็จการศึกษากลับสู่ประเทศไทยแล้ว ได้ออกปฏิบัติงานการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
2. ทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตะหนักว่า ประเทศไทยต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิชาเทคนิคขั้นสูง เพื่อมาช่วยพัฒนาประเทศให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น จึงควรที่จะส่งเสริมนิสิต นักศึกษา ที่มีความรู้ ความสามารถอย่างยอดเยี่ยม ให้ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในวิชาขั้นสูงบางวิชา ณ ต่างประเทศ เมื่อสำเร็จแล้วจะได้ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ตนเองเรียนมาต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองดำเนินการด้วยการพระราชทาน “ทุนอานันทมหิดล” ในปี พ.ศ. 2498 แก่นักศึกษาแพทย์ตามรอย พระบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
ในเวลาต่อมา ทรงเห็นว่า ได้ผลสมพระราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จดทะเบียนตราสารทุนอานันทมหิดล เป็น “มูลนิธิอานันทมหิดล” เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2502 โดยพระราชทานทุนเริ่มแรกจำนวน 20,000 บาท มีผู้ได้รับพระราชทานทุนสาขาแพทยศาสตร์ในขณะนั้นจำนวน 3 ราย
ปัจจุบัน ทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล” ได้ทำการขยายขอบเขตการพระราชทานทุนแก่นักศึกษาสาขาต่างๆ ได้แก่ สาขาแพทยศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเกษตรศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา วารสารศาสตร์ และอักษรศาสตร์ โดยจะมีคณะกรรมการประจำแต่ละสาขาคัดเลือกบัณฑิตที่มีความสามารถยอดเยี่ยมแต่ละสาขาดังกล่าวไปศึกษาเพิ่มเติม ณ ต่างประเทศ เพื่อจะได้กลับมาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่ได้ศึกษามาต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีทุนพระราชทาน คือ “ทุนส่งเสริมบัณฑิต” โดยคณะกรรมการสาขาแพทยศาสตร์ พิจารณาเห็นว่า แพทย์ผู้ใดเป็นแพทย์ผู้สละเวลาและอุทิศตนปฏิบัติงาน เพื่อส่วนรวมโดยมิได้คำนึงถึงความเหนื่อยยากและประโยชน์ส่วนตน ก็จะขอพระราชทานเงินทุนส่งเสริมบัณฑิตให้เดือนละ 6,000 บาท เพื่อช่วยเป็นค่าใช้จ่ายของแพทย์ผู้นั้น ทุนส่งเสริมบัณฑิตนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน
3. ทุนเล่าเรียนหลวง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชประสงค์ให้ฟื้นฟู “ทุนเล่าเรียนหลวง” (King’s Scholarship) ที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ริเริ่มพระราชทานทุนให้นักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ด้วยการจัดสอบแข่งขันอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2440 และได้พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงสืบเนื่องกันมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงยุติไปใน พ.ศ. 2476
ครั้นมาถึงรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชปรารภฟื้นฟูการให้ “ทุนเล่าเรียนหลวง” ขึ้นใหม่ โดยได้มีการประกาศใช้ ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยทุนเล่าเรียนหลวง พ.ศ. 2508 สำหรับ ทุนเล่าเรียนหลวง เป็นทุนพระราชทานแก่นักเรียนที่สอบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการได้คะแนนดีเยี่ยม ปีละ 9 ทุน คือ แผนกศิลปะ 3 ทุน แผนกวิทยาศาสตร์ 3 ทุน และแผนกทั่วไป 3 ทุน ให้ไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ และไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องกลับมารับราชการ
ส่วน ทุนเล่าเรียนหลวง ในระดับการศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรี นั้น ได้จัดให้มีขึ้นในปี พ.ศ. 2518 เนื่องจากในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษกเฉลิมฉลองครบ 25 พรรษาแห่งการครองราชย์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยจัดตั้งทุนการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก แต่นักศึกษาที่เป็นคนไทย และชาวต่างประเทศที่มีผลการเรียนดีเด่นเป็นพิเศษ ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในปัจจุบันพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงแก่นักศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียปีละ 16 ทุน ทุนละ 220,000 บาทต่อปี
4. ทุนการศึกษาสงเคราะห์ ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯ ก่อตั้ง “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” โดยมีพระราชดำริให้ตั้งทุนเพื่อหาดอกผลสงเคราะห์เด็กที่ครอบครัวต้องประสบวาตภัยภาคใต้ และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูรวมทั้งช่วยเหลือราษฎร ผู้ซึ่งประสบสาธารณภัยทั่วประเทศด้วย หลังจากที่ได้ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ประชาชนในเหตุการณ์เฉพาะหน้าในมหาวาตภัยเมื่อ พ.ศ. 2505 และสร้างสถานสงเคราะห์รับอุปการะเลี้ยงดูเด็กๆ ที่กลายเป็นเด็กอนาถาไร้ที่พึ่ง เนื่องจากบิดา-มารดา และญาติพี่น้องเสียชีวิตไปนั้นใน พ.ศ. 2507
จากพระราชดำริประเดิมทุน 3 ล้านบาท ก่อตั้งมูลนิธิที่พระราชทานนามว่า “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” ในความหมายว่า “พระราชา” และ “ประชาชน” อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนว่า ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน “พระบรมราชูปถัมภ์” โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2506
โดย งานสำคัญของมูลนิธิ ได้แก่ การช่วยสร้างอาคารเรียน หรือสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ และขอพระราชทานนามโรงเรียน ว่า “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์” ซึ่งโรงเรียนแห่งแรกตั้งอยู่ที่ บ้านปลายแหลม ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันมีอยู่ 30 โรงเรียน
5. ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระมหากรุณาธิคุณต่อราษฎรของพระองค์เท่าเทียมกันทั่วทุกคน แม้แต่ผู้ป่วยเป็นโรคต่างๆ ในชุมชน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อน เมื่อ พ.ศ. 2499 โรคเรื้อนกำลังระบาดอยู่ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลกได้ตกลงกันว่าจะพยายามขจัดให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยในระยะเวลา 12 ปี และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า จะกำจัดโรคเรื้อนให้หมดภายในเวลา 10 ปี ถ้ามีสถาบันค้นคว้าและวิจัย ซึ่งต้องใช้เงิน 1 ล้านบาท
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างสถาบันวิจัยค้นคว้าเรื่องโรคเรื้อน ณ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ใน พ.ศ. 2501 และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดสถาบัน เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2503 พระราชทานนามสถาบันนั้นว่า “ราชประชาสมาสัย” รวมทั้งพระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการก่อสร้างจำนวน 217,452 บาท ให้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของสถาบันต่อไป
ต่อมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอพระราชทานนำเงินดังกล่าวไปจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิราชประชาสมาสัย และได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาให้ทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีพระราชกระแสตอบมา เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2504 ว่า ถ้าจะขอให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิจะต้องเพิ่มวัตถุประสงค์ขึ้นอีกข้อหนึ่งว่า จะจัดตั้งโรงเรียนสำหรับบุตรผู้ป่วยที่เลี้ยงแยกจากบิดามารดาแต่แรกเกิด ดังพระบรมราชาธิบายที่พระราชทานถึงการก่อตั้งโรงเรียน และพระราชดำรัสในพิธีทรงเปิดโรงเรียนราชประชาสมาสัย เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2507 มีความตามลำดับ ดังนี้
“เด็กเหล่านี้มีสิทธิ์ที่จะเล่าเรียนเช่นเด็กอื่น เพราะขณะนั้นกระทรวงสาธารณสุขไม่ส่งเด็กที่ยังมิได้ป่วยให้เข้าเรียนในโรงเรียนในนิคม หรือในโรงพยาบาลโรคเรื้อน เนื่องจากเกรงว่าจะติดโรค และกระทรวงศึกษาธิการก็ยังไม่ยอมรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนเข้าเรียนในโรงเรียนกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากเกรงว่าจะไปแพร่เชื้อโรคเรื้อนแก่เด็กอื่น ขณะนี้กรมประชาสงเคราะห์ของกระทรวงมหาดไทยมีโรงเรียนสำหรับเด็กที่ไม่มีผู้อุปการะแล้ว แต่ก็ไม่สามารถรับเด็กเหล่านี้ได้เพราะเป็นเด็กผู้มีบิดามารดา…
การดำริสร้างสถานศึกษานี้ขึ้น ก็เพื่อจะได้ช่วยเหลือเด็กผู้พลอยประสบเคราะห์กรรมให้มีสถานที่เล่าเรียน ซึ่งโดยธรรมชาติควรมีสิทธิ์ที่จะกระทำสิ่งใดได้เช่นผู้อื่น การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่โชคชะตาบันดาลให้ต้องเกิดมาในภาวะเช่นนี้ย่อมเป็นกุศลและเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติ เพราะเด็กเช่นว่านี้เมื่อได้รับการศึกษา อบรมด้วยดีเติบโตขึ้นก็จะเป็นพลเมืองที่ดีเป็นประโยชน์แก่ตนเองและชาติบ้านเมืองในอนาคต”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่มูลนิธิราชประชาสมาสัย จัดสร้างโรงเรียนประจำรับเด็กเหล่านั้นมาเลี้ยงดูอบรม และโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชาสมาสัยในขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการจัดสร้างโรงเรียนสำหรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อน และให้การบริหารโรงเรียนขึ้นต่อมูลนิธิราชประชาสมาสัย ซึ่งต่อมาได้ขอพระบรมราชานุญาตแยกจากมูลนิธิเดิมมาจดทะเบียนเป็นมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
6. ทุนนวฤกษ์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาริเริ่มก่อตั้ง “ทุนนวฤกษ์” เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียนขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีการเรียนดี มีความประพฤติดี ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาต่อในระดับต่างๆ ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ฝึกหัดครู และอุดมศึกษา
ด้วยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่ม 51,000 บาท และจากผู้บริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท ทั้งระดับ ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เพื่อสงเคราะห์เด็กยากจน และกำพร้าให้มีสถานที่สำคัญสำหรับศึกษาเล่าเรียน อีกทั้ง ยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตรในครอบครัวที่เดือดร้อนมากหรือขาดผู้อุปการะ เช่น กำพร้าบิดามารดา โดยทรงรับเด็กเหล่านั้นไว้เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์
7. ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี
7.1 ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา
เป็นทุนที่ทางกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการขอพระราชทานจัดให้แก่นักเรียนชาวเขาได้ศึกษาต่อตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เมื่อ พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างชาวเขาและชาวไทย และส่งเสริมให้ชาวเขาส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาในโรงเรียนมากยิ่งขึ้น ทำให้มีโอกาสใช้ภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้น และกลับไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นของตน โดยจะมีคณะกรรมการพิจารณาจากความตั้งใจ ความสนใจและความประพฤติของนักเรียน
สำหรับจำนวนเงินทุนพระราชทานนี้มีอัตราไม่เท่ากัน แตกต่างกันไปตามระดับชั้นของนักเรียนผู้ได้รับทุนพระราชทาน เช่น นักเรียนทุนพระราชทานระดับประถมศึกษาตอนปลาย และมัธยมศึกษาตอนต้น ทุนละ 1,000 บาทต่อปี นักศึกษาทุนพระราชทานระดับวิทยาลัยครูและวิทยาลัยเกษตรกรรมทุนละ 4,000 บาทต่อปี ต่อมาได้เพิ่มเป็นทุนละ 1,200 บาท และ 4,500 บาท ตามลำดับ นักศึกษาแพทย์ทุนพระราชทานทุนละ 8,000 บาทต่อปี และส่วนใหญ่ผู้ได้รับทุนพระราชทานนี้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะไปเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนชาวเขาหรือทำงานเกี่ยวกับชาวเขา
7.2 ทุนพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะสถานศึกษา
เป็นทุนการศึกษาที่ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งจัดตั้งเป็นทุน และให้มีการบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นรายโรงเรียนไป เพื่อให้มีดอกผลเพิ่มขึ้น สามารถจัดสรรเป็นทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนดีเยี่ยม นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ในโรงเรียนในพระองค์ และโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนราชประชาสมาสัย เป็นต้น แล้วเสด็จฯ ไปพระราชทานทุนเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง พระราชทานทุนละ 500 บาท 700 บาท หรือ 900 บาท ตามแต่ระเบียบว่าด้วยทุนพระราชทานที่คณะกรรมการบริหารทุนโรงเรียนเหล่านั้นกำหนดไว้ และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้เป็นพลเมืองดี มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
7.3 รางวัลพระราชทานแก่นักเรียนและโรงเรียนดีเด่น
โดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชปรารภพระราชทานแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล) เมื่อคราวเสด็จฯ ทรงเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ความว่า
” มีนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งมีความประพฤติดีและมีความมานะพยายามศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี รวมทั้งโรงเรียนซึ่งจัดการศึกษาดี นักเรียนและโรงเรียนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวสมควรจะได้รับพระราชทานรางวัล”
กระทรวงศึกษาธิการได้ประชุมพิจารณาดำเนินการเรื่องนี้ โดยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดทำรางวัลพระราชทานให้แก่นักเรียนที่สอบประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.5) ได้คะแนนสูงสุดทั้ง 3 แผนก และโรงเรียนที่นักเรียนสอบประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายได้คะแนนมากที่สุด 9 โรงเรียนแรกได้พระราชทานโล่ชมเชยเป็นรางวัล
ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มหลักเกณฑ์รางวัลพระราชทานสำหรับระดับประถมศึกษา เพิ่มรางวัลชมเชยเป็น 12 รางวัล พระราชทานแก่นักเรียนในภาคศึกษาทั้ง 12 ภาค ภาคละ 1 คน รางวัลสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา เพิ่มโล่รางวัลสำหรับพระราชทานแก่โรงเรียนที่ได้รับพระราชทานติดต่อกันถึง 3 ปี การพระราชทานรางวัลนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2508 จนถึงปัจจุบัน โดยได้ปรับปรุงแก้ไขให้มีรางวัลพระราชทานให้เป็นไปตามประกาศและการประเมินของกระทรวงศึกษาธิการที่พิจารณาตัดสินให้รับพระราชทานรางวัลด้วย
8. ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย แบ่งเป็น 10 ประเภท เช่น ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.), ทุนการศึกษาระดับเปรียญธรรม 6, 7, 8 และ 9 กำกับดูแลโดยกองบาลีสนามหลวง, ทุนหน่วยปฏิบัติการพระธรรมทูตดีเด่น กำกับดูแลโดยกองงานพระธรรมทูต และทุนสำนักเรียนและสำนักศาสนศึกษาดีเด่น ส่งเสริมสำนักเรียนและสำนักศาสนศึกษาในแต่ละเขตปกครองคณะสงฆ์ที่มีผลงานดีเด่น กำกับดูแลโดยกองบาลีสนามหลวง เป็นต้น
9. ทุนเศรษฐกิจพอเพียง
เป็นพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “พัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี และคนเก่ง สู่เส้นทางความสำเร็จ ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียน โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยผู้ที่ได้รับทุนการศึกษานอกจากจะได้ศึกษาวิชาการในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังได้รับโอกาสในการร่วมกิจกรรม การศึกษาถึงคุณค่าของโครงการตามพระราชดำริต่างๆ รวมทั้งหลักการทรงงานใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- พระราชประวัติการศึกษา ของ ในหลวงรัชกาลที่ 9
- ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสง่างาม ในฉลองพระองค์ ครุยปริญญา
- ย้อนชม ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก
- 10 โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนของพ่อหลวง (รัชกาลที่ 9)
- 10 มหาวิทยาลัยชื่อพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
- 10 มหาวิทยาลัย ที่บัณฑิตรับพระราชทานปริญญาบัตร จากพระหัตถ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9
- บัณฑิตจุฬาฯ คนสุดท้าย ที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร จากพระหัตถ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9
ข้อมูล : www.manager.co.th, http://welovethaiking.com, https://web.ku.ac.th