ตามรอย ในหลวงรัชกาลที่ 9 โรงเรียนพระราชทานแห่งแรกของไทย | โรงเรียนร่มเกล้า จ.มุกดาหาร

ถือได้ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง สำหรับปวงชนชาวไทยในเขตทุรกันดารที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างโรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรกของไทยขึ้นที่ ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

โรงเรียนร่มเกล้า โรงเรียนของพ่อ

ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนไปย้อนชมโรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรกของไทย กับรายการสารคดีเฉลิมพระเกีรติชุด “ตามรอยก้าวพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนที่ 4 : โรงเรียนของพ่อ ห้องเรียนของเรา” โดยมีผู้ประกาศและพิธีกรมากความสามารถ “แนน-วรวิตา จันทร์หุ่น” อาสาลงพื้นที่ตามรอยก้าวพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปที่ ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

สัมผัสเรื่องราวสุดประทับใจจากผู้คนในชุมชนที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนถาวร และพระราชทานนามว่า “โรงเรียนร่มเกล้า” โรงเรียนพระราชทานแห่งแรกของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2516

เมื่อย้อนกลับไปในสมัยก่อน บ้านหนองแคนเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม เป็นที่ชุมชนของผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกับรัฐบาล ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่บนเทือกเขาภูพาน โรงเรียนบางโรงเรียนต้องปิดไป เพราะเยาวชนส่วนใหญ่ถูกชักจูงให้เข้าไปอยู่ในป่า ทำให้ พันเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บังคับการกรมผสมที่ 23 ปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในแถบนั้น และได้กราบบังคมทูลขออนุญาตต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ในการสร้างโรงเรียนที่บ้านหนองแคน เพื่อให้การศึกษาเป็นเกาะป้องกันไม่ให้เยาวชนในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกระโซ่และภูไท ต้องถูกชักจูงให้เข้าไปในป่า

การก่อสร้างโรงเรียนที่บ้านหนองแคนเป็นไปอย่างยากลำบากมาก เพราะได้รับการขัดขวางจาก ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ที่ได้เข้ามาทำลายเส้นทางการลำเลียงสิ่งของและเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีการลอบยิงคนงานที่เข้ามาสร้างโรงเรียนอีกด้วย ซึ่งในตอนนั้นเมื่อสร้างโรงเรียนเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วได้ใช้ว่า “โรงเรียนบ้านหนองแคน” เปิดทำการสอนครั้งแรกในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพียงชั้นเดียว ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2486 และต่อมาในปี พ.ศ. พ.ศ.2514 คณะครูและผู้ปกครองได้ร่วมมือกันก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว 1 หลัง ในที่ดินซึ่งประชาชนได้บริจาคให้จำนวน 10 ไร่ เป็นกระต๊อบยาว มุงด้วยหญ้าแฝก พื้นห้องเป็นดิน

แต่หลังจากนั้นไม่นานชาวบ้านก็เริ่มที่จะหันมาให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมากยิ่งขึ้น เมื่อทราบว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างโรงเรียน จำนวน 92,063 บาท ให้ก่อสร้างอาคารเรียนถาวรหลังแรก ขนาด 5 ห้องเรียน และในทันทีที่โรงเรียนสร้างเสร็จเพียง 2 วัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปเปิดโรงเรียนท่ามกลางความวิตกของผู้ที่มาเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งในพื้นที่นั้น เป็นเวลานับสิบปีแล้วที่ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปนอกจากทหาร และก่อนหน้านั้นเพียง 2 วันก็ยังมีการยิงกันอยู่ แต่ความสงบร่มเย็นก็เกิดขึ้นในวันที่พระองค์ท่านเสด็จฯ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนร่มเกล้า” ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงเรียนพระราชทานแห่งแรกของไทย เมื่อวันที่ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2516  โดยได้ทำการเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4

ต่อมาได้มีการขยายเป็นระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 และได้เพิ่มระดับมัธยมตอนต้นเข้าไปด้วย คือ ม.1-ม.3 โดยในปัจจุบันจากโรงเรียนที่เคยมีนักเรียนเพียง 100 คนเท่านั้น แต่ในตอนนี้มีนักเรียนถึง 400 คน พร้อมทั้งนี้ โรงเรียนยังได้มีการพัฒนาการเรียนการสอนให้เด็กๆ สามารถได้เรียนรู้ ได้รับความรู้อย่างเต็มที่อีกด้วย

ภาพในปัจจุบัน โรงเรียนร่มเกล้า
ภาพในปัจจุบัน โรงเรียนร่มเกล้า
ห้องนิทรรศการ โรงเรียนร่มเกล้า
ภาพในปัจจุบัน โรงเรียนร่มเกล้า

บทความที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณที่มา : รายการ ทันข่าวเช้า เสาร์-อาทิตย์ Good morning Thailand (ทางช่อง MONO29)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง