บัณฑิตแม่โจ้ ในหลวงรัชกาลที่ 9

คำสอนของพ่อ (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ถึงบัณฑิต ม.แม่โจ้

Home / วาไรตี้ / คำสอนของพ่อ (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ถึงบัณฑิต ม.แม่โจ้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2521 และได้เสด็จพระราชดำเนินในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองเรื่อยมา

คำสอนของพ่อ (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ถึงบัณฑิต ม.แม่โจ้

แต่ในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นประจำทุกปี ดังนั้น วันพระราชทานปริญญาบัตรของทุกปี จึงจัดให้อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปัจจุบันพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จัด ณ ศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก รัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

นอกจากที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จพระราชดำเนินมาในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้แล้ว พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราโชวาทให้แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต อีกด้วย

คำสอนของพ่อ ถึงบัณฑิตมหาวิทยาลัยแม่โจ้

“…การจะประกอบกิจการอาชีพใดๆ จะต้องอาศัยความรู้ ความรู้จักสังเกตพิจารณา ตลอดจนต้องขยันหมั่นเพียร และมีความบากบั่นอดทน ต้องขวนขวายหาความรู้อันก้าวหน้ามาเพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 1 ณ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2521

คำสอนของพ่อ ถึงบัณฑิตมหาวิทยาลัยแม่โจ้

“…งานของหน่วยงานต่างๆ หลายส่วนมักจะซ้ำและซ้อนกันอยู่ ก่อให้เกิดความล่าช้าหรือขลุกขลัก ขัดแย้ง ทำให้เสียประโยชน์ไปได้มากมาย ฉะนั้น เมื่อทราบอยู่แล้วว่าจะประสบเหตุการณ์เช่นนี้ แต่ละคน จึงควรต้องถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องแก้ไข คือร่วมใจร่วมมือกัน เปลี่ยน ‘การซ้ำซ้อน’ นั้นเสียใหม่ให้เป็น ‘การประสานและร่วมมือ’…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 2 ณ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เมื่อวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2522

คำสอนของพ่อ ถึงบัณฑิตมหาวิทยาลัยแม่โจ้

“…งานด้านเกษตร มีลักษณะสำคัญพิเศษอยู่ประการหนึ่งคือ เป็นการผลิตที่อาศัยพลังของธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้วัตถุดิบประกอบขึ้น ตราบใดที่มีธรรมชาติคือ มีดิน มีน้ำ มีแสงแดด มีลมฟ้าอากาศ เกษตรกรก็สามารถบันดาลให้พืชพรรณหรือผลิตผลทางการเกษตรของเขางอกงาม เพิ่มพูนขึ้นตลอดไปได้ตราบนั้น ถึงแม้ดินจะจืด น้ำจะแห้ง หรือลมฟ้าอากาศแปรปรวนไปบ้าง ก็ยังสามารถใช้ความรู้ความชำนาญประกอบกับอุปกรณ์อันเหมาะสม เข้าช่วยฟื้นฟูและปรับปรุงดัดแปลงระบบธรรมชาติเหล่านั้น ให้เกื้อกูลการเพาะปลูกได้

ไม่ว่าจะเข้ารับราชการหรือทำงานส่วนตัวขอให้ตั้งใจพยายามสร้างผลงาน สร้างประโยชน์จากพื้นฐานที่มีที่เป็นอยู่ให้งอกงามทวีขึ้น โดยการใช้วิทยาการ และความอุตสาหะ อดทน จัดงานให้ถูกต้องเป็นระบบและเป็นระเบียบ ขณะเดียวกัน ก็ควรจะต้องขวนขวาย ศึกษาหาความรู้ และประสบการณ์ ให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้น เพื่อได้นำไปใช้งาน พร้อมกับเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ที่ต้องการพึ่งพาโดยไม่เห็นแก่ตัว ให้ทุกคนทุกฝ่าย มีโอกาสได้รับความรู้ ความคิดและวิชาการไปสร้างหลักฐานความเจริญก้าวหน้าโดยทั่วถึง จึงจะช่วยให้ส่วนรวมและบ้านเมืองเจริญมั่นคงได้…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 3 ณ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523

คำสอนของพ่อ ถึงบัณฑิตมหาวิทยาลัยแม่โจ้

“…ทำนุบำรุงเกษตรกรรมทุกสาขาพร้อมกับเกษตรกรทุกระดับให้พัฒนาก้าวหน้าอยู่เสมอ เพื่อให้การผลิตมีคุณภาพสูงขึ้น โดยไม่ผลาญทรัพยากรให้เปลืองเปล่า วิธีการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย คือการพยายามดัดแปลง ปรับปรุง นำสิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติมาใช้ โดยสอดคล้องกลมกลืนกับสภาพพื้นที่และพื้นฐานของเกษตรกรให้ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่สูญเปล่า นำความรู้ความสามารถไปใช้ช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรให้เต็มที่ ให้สมกับที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนมาก่อน จากความเสียสละของคนส่วนรวม…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 4 ณ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ 2524

คำสอนของพ่อ ถึงบัณฑิตมหาวิทยาลัยแม่โจ้

“…เกษตรกรรมทุกสาขากล่าวโดยสรุปวัตถุประสงค์ก็คือ การผลิตเพื่อเลี้ยงดูชาวโลกนั่นเอง ดังนั้น ที่เรียนสำเร็จวิชาการเกษตรมาจึงมีหน้าที่อย่างยิ่งเกิดขึ้นที่จะต้องนำเอาความรู้ความสามารถของตนออกปฏิบัติบำเพ็ญประโยชน์ให้เกิดแก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้พืชผลที่ได้มานั้น เมื่อนำไปบริโภคเป็นอาหารทำให้ได้พลังแรงมาทำงานเมื่อนำออกมาจำหน่ายก็ทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจขึ้นทั้งแก่ผู้ซื้อและผู้ผลิตคือผู้ซื้อย่อมนำไปทำผลประโยชน์ให้งอกเงยต่อไปได้ผู้ผลิตก็ได้เงินทองมาจับจ่ายใช้สอยยังชีพรวมทั้งหาซื้อ

ปัจจัยสำหรับสนับสนุนการผลิตของตนให้เกิดผลหมุนเวียนเพิ่มพูนขึ้น งานเกษตรอย่างเดียวยังจำเป็นต้องเกี่ยวพันกับงานต่างๆ กับเหตุปัจจัยต่างๆ มากมายหลายขอบข่าย ทั้งต้องเกี่ยวพันอาศัยกันอย่างถูกต้องสมดุลด้วย จึงจะช่วยให้งานดำเนินต่อเนื่องและเจริญมั่นคงได้ นักการเกษตรควรอย่างยิ่งที่จะได้ศึกษาวงวัฏจักรของงานของตัวซึ่งสัมพันธ์กับงานสิ่งอื่นให้ทราบกระจ่างโดยละเอียดทั่วถึงจักได้สามารถทำงานให้บรรลุความสำเร็จได้ตามความประสงค์…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 5 ณ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2525

คำสอนของพ่อ ถึงบัณฑิตมหาวิทยาลัยแม่โจ้

“…การที่จะทำประโยชน์สร้างสรรค์ดังกล่าวนั้น

ประการแรก ต้องดำรงตนเป็นคนดี ถือความซื่อสัตย์ ความถูกต้อง ด้วยเหตุผล และความเจริญก้าวหน้า
เป็นหลักการในการดำรงชีวิต

ประการที่สอง ต้องประกอบการงานและอาชีพที่สุจริต ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถือประโยชน์และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของงาน
เป็นใหญ่ ไม่ปล่อยตัวให้เป็นไปตามอำนาจอคติและความเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะตัว

ประการที่สาม ต้องตั้งใจให้มั่นคง ที่จะทำงานด้วยความเพียรพยายามโดยตลอดให้จนสำเร็จ ไม่ท้อถอยเหนื่อยหน่ายเสียกลางคัน

ประการที่สี่ ต้องอาศัยใช้หลักวิชาควบคู่กับเหตุผลความถูกต้องอย่างเคร่งครัด ตลอดเวลาที่ทำงานและแก้ปัญหาทุกๆอย่าง

และประการที่สำคัญที่สุด จะต้องสำนึกตระหนักอยู่เสมอ ว่าการทำงานของตนนั้นจำเป็นต้องประสานกับผู้อื่น ฝ่ายอื่น
ทั้งในด้านวิชาการทั้งในด้านบุคคลด้วย อย่างทั่วถึงสอดคล้อง และพร้อมเพรียงพอเหมาะพอดี จึงจะได้ผลแน่นอนและ
สมบูรณ์ตามเป้าหมาย…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 6 ณ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2527

คำสอนของพ่อ ถึงบัณฑิตมหาวิทยาลัยแม่โจ้

“…ทุกวันนี้ แม้ประเทศของเราจะพัฒนาด้านอุตสาหกรรมไปมากแล้วก็ตาม แต่การเกษตรก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จะละเลยทอดทิ้งมิได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องค้นคิดหาแนวทางปฏิบัติการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาวการณ์อยู่เสมอ เพื่อช่วยให้เกษตรกรของเราได้มีผลผลิตที่เพียงพอเลี้ยงตัว และมีฐานะความเป็นอยู่ที่สุขสบายพอควรแก่อัตภาพ

การเกษตรนั้นเป็นทั้งรากฐานและชีวิตสำหรับประเทศของเรา และเกษตรกรรมในยุคปัจจุบันนี้จำเป็นต้องได้รับการวางแผน และพัฒนาอย่างถูกต้อง ทุกคนจึงควรจะได้ถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันศึกษาค้นคิดและปฏิบัติทดลอง หาวิธีการที่ดีที่เหมาะสมยิ่งๆ ขึ้น เพื่อให้การเกษตรในประเทศของเราได้พัฒนาก้าวหน้าไปได้อย่างมั่นคง

ทฤษฎีใหม่เป็นวิธีปฏิบัติการเกษตรอีกแนวทางหนึ่งที่คิดค้นขึ้นสำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินจำนวนน้อย หรือแปลงขนาดเล็ก มีหลักสำคัญอยู่ว่า แต่ละแปลงจะแบ่งออกเป็นส่วนๆ สมมุติว่าแปลงหนึ่งมี 15 ไร่ จะปลูกข้าว 5 ไร่ ปลูกไม้ผล พืชไร่ หรือพืชผักสวนครัว 5 ไร่ ขุดสระน้ำ 3 ไร่ ปลูกที่อยู่อาศัยและอื่นๆ อีก 2 ไร่ วิธีนี้ได้ทดลองปฏิบัติขั้นแรกมานานพอสมควร และได้ผลดีที่น่าพอใจระดับหนึ่ง คือเกษตรกรมีข้าวบริโภคเพียงพอตลอดปี และมีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ต่อไปหากจะให้ได้ผลที่ยิ่งสมบูรณ์ขึ้น ในขั้นที่สอง ก็จะต้องรวมกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ด้วยความร่วมมือของหน่วยราชการ มูลนิธิ และเอกชน เพื่อช่วยเหลือในด้านการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ต่างๆ และในขั้นที่สาม จะต้องร่วมมือกับสถาบันการเงินและการพลังงาน เพื่อช่วยเหลือด้านการจัดตั้ง และบริหารโรงสี ร้านสหกรณ์ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุน …”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 17 ณ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://library.mju.ac.thhttp://www.archives.mju.ac.th

บทความแนะนำ