มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (Maejo University) ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยมาเป็นระยะเวลา 16 ปี พัฒนามาจาก โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือ กระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เป็นสถานศึกษาขั้นสูงสุดทางการเกษตรของประเทศในสมัยนั้น ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยแม่โจ้” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ประวัติ
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้พัฒนามาจาก โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้) ซึ่งได้ทำการขยายพื้นที่การศึกษาไปยังบ้านแม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ (ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน) หลังจากนั้นก็ยกฐานะจากโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมที่บ้านแม่โจ้ก่อตั้งเป็น โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือ กระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เป็นสถานศึกษาขั้นสูงสุดทางการเกษตรของประเทศในสมัยนั้น ซึ่งมีประวัติที่เล่าขาน และเป็นตำนานที่บอกกล่าวมายาวนานถึงเรื่องราวการบุกเบิกพื้นที่ และการต่อสู้กับงานหนัก เพื่อให้ความรู้ สติปัญญา ฝึกทักษะ อาชีพ และหล่อหลอมความทรหดอดทนของผู้เรียน เพื่อให้บรรลุผลของงานที่ทำท่ามกลางภยันตรายที่รุมล้อมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นไข้ป่า ความกันดารของสภาพพื้นที่ที่เป็นป่า ขาดแคลนน้ำและดินเลว สภาพที่อยู่ที่กิน และห้องเรียนทีสร้างจากใบตองตึงพื้นเป็นดิน ซึ่งหากไม่มีหัวใจของนักต่อสู้งานหนัก จิตใจที่ตั้งมั่นและอดทนแล้ว คงมิอาจฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ดังกล่าวไปได้เลย สมดังปรัชญาของลูกแม่โจ้ “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” (Hard Work Never Kills Anyone)
ยุคสร้าง “แม่โจ้”
พ.ศ. 2477 จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) รัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ ได้มีบัญชาให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคเหนือที่แม่โจ้ ให้อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก ควบคู่กับสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ โดยจัดแบ่งพื้นที่คนละครั้งกับสถานีทดลองซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือ พื้นที่โรงเรียนอยู่ทางทิศใต้ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 900 ไร่เศษ สภาพพื้นที่ยังเป็นป่าตองตึงและไม้เหียงซึ่งเป็นไม้ขนาดย่อมส่วนไม้ป่าอื่นๆ เช่น ไม้สัก ประดู่ และตะเคียน มีอยู่เพียงประปรายเท่านั้น เหตุผลเพราะดินชั้นล่างเป็นดินดานแข็งโดยทั่วไป ระบบรากต้นไม้ไม่อาจหยั่งลึกได้ ส่วนดินชั้นบนก็เป็นดินทราย ขาดความอุดมสมบูรณ์สำหรับการปลูกพืชทั่วๆ ไป สภาพพื้นที่อย่างนี้จึงไม่มีใครต้องการจะทำประโยชน์อะไร แต่กลับเป็นเหตุผลจูงใจสำคัญยิ่ง ที่พระช่วงฯ ต้องการจะทำประโยชน์ในพื้นที่อย่างนี้ ท่านเล็งให้เห็นว่าการจะพัฒนาการเกษตร ให้เป็นแบบอย่างสำหรับเกษตรกรทั่วไปได้นั้น สิ่งหนึ่งที่จะทำคือ ต้องนำเอาความรู้มาสาธิตแสดงให้ประจักษ์ต่อบุคคลทั่วไป ได้เห็นว่าการปรับปรุงดินเลวให้สามารถใช้ปลูกพืชโดยจัดระบบปุ๋ยพืชสด การใช้ปุ๋ยหมักต่างๆ ในพื้นที่เกษตร ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่ นา สวนไม้ผล แปลงปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ และระบบการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ของพื้นที่นั้น จะสามารถทำการเกษตรได้ทุกอย่าง
การที่ต้องเปิดโรงเรียนตามนโยบายของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) อย่างเร่งด่วนในปีนี้นั้นสภาพสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่นห้องเรียน เรือนนอน โรงอาหารและบ้านพักครู จึงต้องจัดสร้างขึ้นอย่างลำลองชั่วคราว โดยใช้เสาไม้ หลังคาและฝาใช้ใบตองตึง พื้นเป็นดิน ห้องเรียนมีเฉพาะหลังคาไว้กันแดด และฝนเท่านั้น โต๊ะเรียน และม้านั่งก็ใช้ไม้กระดาน 2 แผ่นตอกยึดไว้ นั่งได้ 3 คน สร้างเรียงเป็นแถวไว้เนื่องจากมีนักเรียนเพียง 48 คนในปีแรก เป็นนักเรียนในบำรุง 37 คน และนอกบำรุง 11 คน (นักเรียนในบำรุง คือ นักเรียนที่จังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคส่งเข้าเรียนโดยรัฐออกค่าใช้จ่ายค่าอาหารให้เดือนละ 15 บาท ส่วนประเภทนอกบำรุงคือ ผู้ที่สมัครมาเรียนเอง หรือเรียนด้วยทุนส่วนตัว เป็นค่าอาหารเดือนละ 10 บาท) จึงใช้ห้องเรียนเพียงห้องเดียวหมุนเวียนครูอาจารย์สอนแต่ละวิชากันไป (ปี พ.ศ. 2477 มีครูอาจารย์ 5 คน ส่วนปี พ.ศ. 2478 มีเพิ่มอีก 12 คน และรับนักเรียนเพิ่มเป็น 85 คน) ส่วนเรือนนอกนักเรียนนั้น ยกพื้นกระดานสูงจากพื้นดินราว 50 เซนติเมตร ฝาและหลังคาใช้ใบตองตึงทั้งหมด เวลาจะนอนต้องกางมุ้งเพื่อป้องกันยุงและขี้มอดที่ร่วงจากหลังคา
รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 หรือประกาศนียบัตรครูมูล (ป.) ใช้เวลาเรียน 2 ปี ได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูประถมกสิกรรม (ป.ป.ก.) หากรับราชการจะได้เงินเดือนขั้นต้น 45 บาท ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกนี้มีจำนวน 48 คน อาทิ เลขประจำตัว 2: อาจารย์กำจร (ตาคำ) บุญแปง, เลขประจำตัว16: อาจารย์เลื่อน เมฆบังวัง, เลขประจำตัว 38: อาจารย์สุรัตน์ (หลี) มงคลชัยสิทธิ์ และเลขประจำตัว 45: อาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย เป็นต้น สามท่านแรกเมื่อจบการศึกษาแล้วก็ได้รับการบรรจุเป็นครูสอนในปี พ.ศ. 2479 ทันที ส่วนอาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย เข้ารับราชการเป็นพนักงานเกษตรกรรมผู้ช่วยและพนักงานยางที่อำเภอหาดใหญ่ และสอบชิงทุนหลวง (ทุน ก.พ.ในปัจจุบัน) ไปเรียนต่อปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ ที่ลอสบานยอส ระหว่างปี พ.ศ. 2480 – 2483 เมื่อจบการศึกษาแล้ว จึงกลับมาสอน และเป็นอาจารย์ผู้ปกครองที่แม่โจ้ เมื่อปี พ.ศ. 2484
หลักสูตร ปปก.รับนักเรียนเพียง 3 รุ่น คือในปี 2477-79 (แม่โจ้ รุ่น 1 จำนวน 48 คน รุ่น 2 จำนวน 84 คน และ รุ่น 3 จำนวน 99 คน)
พ.ศ. 2478 โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม กระทรวงธรรมการเห็นว่า หลักสูตรประโยคครูประถมกสิกรรม (ป.ป.ก.) ที่เปิดไปแล้วมีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนมากพอ และมีสถานศึกษาที่ต้องใช้ครูเกษตรเหล่านี้เพียงจำนวนน้อย จึงให้ยุบเลิกการสอนหลักสูตรดังกล่าว และเปิดหลักสูตรมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมขึ้นแทน
หลักสูตรที่เปิดใหม่นี้ รับจากผู้สำเร็จมัธยมปีที่ 4 สายสามัญ เข้าเรียนต่ออีก 4 ปี จบการศึกษาแล้วจะไดรับประกาศนียบัตรประโยคมัธยมบริบูรณ์แผนกเกษตรกรรม เทียบได้ชั้นมัธยม 8
หลักสูตรมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม (มก.) รับเพียง 4 รุ่น ในปี 2478-2481 (แม่โจ้ รุ่น 2 (มก.1) จำนวน 134 คน รุ่น 3 (มก.2) จำนวน 57 คน รุ่น 4 (มก.3) จำนวน62 คน รุ่น 5 (มก.4) จำนวน 51 คน
พ.ศ. 2481 จัดตั้งเป็น วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงธรรมการได้โอนโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมให้กับกระทรวงเกษตราธิการโดยยุบรวมแห่งอื่นๆ ที่บางกอกน้อย โนนวัด คอหงศ์ และที่แม่โจ้ แล้วจัดตั้งเป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ เพียงแห่งเดียว หลักสูตร 2 ปี ระดับอนุปริญญา โดยรับผู้สำเร็จชั้นมัธยม 8 สำเร็จแล้วบรรจุเป็นข้าราชการชั้นตรี อันดับ 1 อัตราเงินเดือน 80 บาท ตกลงในปีเดียวกันนี้ แม่โจ้จึงเป็นทั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม (ป.ป.ก. ปีสุดท้าย) มัธยมวิสามัญเกษตรกรรม และวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามลำดับโดยมี พระช่วงเกษตรศิลปการ เป็นผู้อำนวยการ
กลางปี พ.ศ. 2481 พระช่วงเกษตรศิลปการได้ย้ายไปรับตำแหน่งอธิบดีกรมเกษตรที่กรุงเทพฯ อาจารยจรัด สุนทรสิงห์ มารักษาการแทน
พ.ศ. 2482 เป็นโรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ย้ายจากแม่โจ้ไปตั้งที่บางเขนที่แม่โจ้จึงถูกจัดตั้งเป็นโรงเรียนเตรียมเกษตรศาสตร์ รับผู้สำเร็จชั้นมัธยมปลาย (ม.6 สายสามัญ) หลักสูตร 2 ปี สำเร็จแล้วเข้าศึกษาต่อได้ที่วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมีศาสตราจารย์ ดร.พนม สมิตานนท์ เป็นผู้อำนวยการ
ศาสตราจาร ดร.พนม ย้ายไปกรมเกษตร ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อปี พ.ศ. 2484 อาจารย์ประเทือง ประทีปเสน จึงรักษาการผู้อำนวยการต่อจนถึงปี พ.ศ. 2486
พ.ศ. 2486 โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม่โจ้จึงเปลี่ยนไปเป็น”โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” หลักสูตร 2 ปี เพื่อเตรียมนักเรียนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป โดยมีศาสตราจารย์ ดร.พนม สมิตานนท์ เป็นผู้อำนวยการ
พ.ศ. 2488 สถานศึกษาการเกษตรแม่โจ้ ได้มีการยกเลิกโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ เนื่องจากต้องการที่จะควบรวมกิจการกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนทั้งหมด ประกอบกับในปีนี้ก็ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ทวีความรุนแรงขึ้น เส้นทางคมนาคมสำคัญ เช่นทางรถไฟ สะพาน ถูกทำลาย ทำให้มีผู้มาสมัครเรียนเพียง 12 คนเท่านั้น อีกทั้งแม่โจ้ก็อยู่ห่างไกลจากกรุงเทพมหานคร ไม่สะดวกในการติดต่อ และดำเนินงานเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่บางเขนจึงให้ยุบเลิกโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเกษตรศาสตร์ที่แม่โจ้เสีย แต่พระช่วงเกษตรศิลปการ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเกษตรเห็นว่า ควรจะคงสถานศึกษาการเกษตรแม่โจ้ไว้สักแห่งหนึ่ง เพราะถิ่นภาคเหนือเป็นแหล่งที่มีน้ำดี อากาศดี อุดมด้วยการกสิกรรมเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านการเกษตรแก่เยาวชนและเกษตรกร โดยจัดตั้งเป็นสถานศึกษาการเกษตร กำหนดเวลาเรียน 3 ปี ใช้หลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาอย่างเดิม นับเป็นก้าวใหม่ของการให้การศึกษาอาชีวเกษตรของประเทศ
พ.ศ. 2492 จัดตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ โอนกิจการของสถานศึกษาการเกษตรแม่โจ้ไปสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ เพื่อให้การศึกษาระดับประโยคอาชีวชั้นสูงเกษตรกรรม โดยรับนักศึกษาจากผู้สำเร็จประโยคอาชีวชั้นกลาง เกษตรกรรม และประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น (มัธยมปีที่ 6) ใช้เวลาเรียน 3 ปี ได้รับประกาศนียบัตรอาชีวชั้นสูงเกษตรกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.พนม สมิตานนท์ ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2495 จึงได้ย้ายไปอยู่กับ สำนักงานอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟ.เอ.โอ.) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อาจารย์ไสว ชูติวัตร จึงมารับงานในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่สืบแทน จึงถึงปี พ.ศ. 2497 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวหน้ากองโรงเรียนเกษตรกรรม กรมอาชีวศึกษา
ปรัชญา
มุ่งมั่นพัฒนาบัณฑิตสู่ความเป็นผู้อุดมด้วยปัญญา อดทน สู้งาน เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาของสังคมไทยที่มีการเกษตรเป็นรากฐาน
ต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย คือ อินทนิล
– อินทนิล เป็นไม้ยืนต้นที่แข็งแรง อายุยาวนาน และเจริญเติบโตได้ทุกสภาพของประเทศไทย แทน ความแข็งแกร่ง อดทน ของศิษย์แม่โจ้
– ช่ออินทนิล มีลักษณะเกาะกันเป็นกลุ่มแน่น สีสด แทน ความรัก ความสามัคคี และความกลมเกลียว
– อินทนิลเป็นต้นไม้ที่เจริญได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย แทน ศิษย์แม่โจ้ที่มาจากทุกหนทุกแห่ง และกระจายกันออกไปเจริญเติบโตก้าวหน้าอยู่ทั่วทุกภาค
– ต้น เปลือก และใบ ของอินทนิล ใช้เป็นยาสมุนไพรได้ แทน คุณค่าของศิษย์แม่โจ ที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคม
วิทยาเขต มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่-พร้าว ในพื้นที่ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ 10 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 12,879 ไร่ อยู่ใน 4 จังหวัด คือ
1. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เลขที่ 63 หมู่ที่ 4 ถนนเชียงใหม่ – พร้าว ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
2. มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เลขที่ 17 หมู่ 3 ถนนยันตรกิจโกศล ตำบลแม่ทราย อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่
3. มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร เลขที่ 99 หมู่ที่ 5 ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร
4. มหาวิทยาลัยแม่โจ้-อุตรดิตถ์ (กำลังก่อสร้าง) ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ : Maejo University
ชื่อย่อ : มมจ. / MJU
สถาปนา : 11 พฤศจิกายน 2539 (มหาวิทยาลัย) และ 7 มิถุนายน 2477 (โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม)
ประเภท : สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
เว็บไซต์ : www.mju.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/mjuchannelhd?ref=ts&fref=ts
ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี