Khamkoon บิวตี้-บุญศักดิ์ ยุระตา แบรนด์ผ้าไทย

บิวตี้-บุญศักดิ์ ยุระตา แฟชั่นดีไซเนอร์แบรนด์ผ้าไทย Khamkoon

Home / วาไรตี้ / บิวตี้-บุญศักดิ์ ยุระตา แฟชั่นดีไซเนอร์แบรนด์ผ้าไทย Khamkoon

บิวตี้-บุญศักดิ์ ยุระตา แฟชั่นดีไซเนอร์คนเก่งจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์จากผ้าไทย “Khamkoon” กับแรงบันดาลใจที่อยากจะพัฒนาแฟชั่นไทยให้ทันยุคทันสมัยและดังไกลถึงระดับโลก

บิวตี้-บุญศักดิ์ ยุระตา

แฟชั่นดีไซเนอร์แบรนด์ผ้าไทย Khamkoon

แฟชั่นดีไซเนอร์แบรนด์ผ้าไทย “Khamkoon”

INSPIRATION

ด้วยความที่ชอบงานศิลปะวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แม้จะเริ่มต้นด้วยการเรียนม.ปลายในสายวิทย์คณิต แต่ในที่สุดก็ค้นพบว่าตัวเองอยากเรียนสายแฟชั่นดีไซน์ที่กำลังเป็นที่นิยม ณ ตอนนั้นมากที่สุด ทำให้บิวตี้ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เรียนรู้ลงลึกในงานแฟชั่นที่รัก และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เกิดแบรนด์ผ้าไทยแท้ๆ อย่าง “Khamkoon” ขึ้นมา

HOW TO WORK

จุดเริ่มต้นจากผ้าไหมไทยแท้

“ในระหว่างที่เรียนรู้สึกสนุกกับการเรียน ชอบด้านการดีไซน์ที่สุด ชอบตรงที่แฟชั่นมันไม่มีขอบเขตจำกัดความคิดแต่ละบุคคล เราสามารถคิดค้นคว้าทำอะไรไปเรื่อยๆ ได้ พอถึงปี 3 เราก็มีโอกาสได้เริ่มทำธีสิส รีเสิร์จหาข้อมูล เลยเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ “Khamkoon” มาจากผ้าไหมแพรวาของจ.กาฬสินธุ์ซึ่งเป็นบ้านเกิดหนู เป็นผ้าไหมทอมือมาตั้งแต่โบราณ ความมาสเตอร์พีชของมันก็คือมีผืนละชิ้นเท่านั้น ไม่สามารถทำกลับมาใหม่ให้เหมือนเดิมได้ มันมีชิ้นเดียวในโลก แล้วเราก็มองว่าอยากให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงผ้าไหมไทยมากขึ้น เพราะถ้าคนพูดถึงผ้าไหมเขาจะมองว่าตัดได้แค่ชุดทำงานหรือชุดแบบผู้สูงอายุ เราก็เลยคิดว่าจะทำยังไงถึงจะให้ผ้าไหมได้เข้าไปในอยู่กระแสแฟชั่นของคนทุกยุคสมัย ทุกคนมองว่าผ้าไหมไม่แก่ไม่เชยอีกต่อไป อยากให้สินค้าไทยจากภูมิปัญญาไทยเข้าไปอยู่ในกระแสแฟชั่นไทย หรือเข้าไปอยู่ในกระแสแฟชั่นโลก ก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย”

จุดเด่นของแบรนด์ “Khamkoon”

“Khamkoon เป็นภาษาผู้ไท แปลว่า ให้คุณค่า เพิ่มมูลค่าต่อสิ่งนั้นๆ ก็คือการที่หนูมีผ้าอยู่แล้ว คนภูไท จ.กาฬสินธุ์ เขาจะมีผ้าประจำบ้านอยู่แล้ว ก็เลยเอาผ้าพวกนี้มาเพิ่มมูลค่าต่อยอดให้คนรู้จักมากขึ้น จุดเด่นของแบรนด์เรา คือ จะเป็นผ้าลายพญานาคสีแดง ซึ่งมาจากประเพณีบุญบั้งไฟของชาวกาฬสินธุ์ แล้วเอามาผสมผสานให้มีความทันสมัย ทำเป็นโปรดักซ์ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าที่ดูแปลกตามากขึ้น”

แฟชั่นดีไซเนอร์แบรนด์ผ้าไทย “Khamkoon”

แรงบันดาลใจในการทำชิ้นงานแต่ละชิ้น

“แรงบันดาลใจแต่ละชิ้นงานมาจากการเสพแฟชั่นไปเรื่อยๆ แล้วนำมาใช้ในการออกแบบตัดเย็บ อย่างชิ้นงานล่าสุด “The Faith of Rain” ศรัทธาในสายฝน ที่เราอยากให้ผ้าแพรวาอยู่ในชีวิตประจำวันได้ เลยเลือกเอาผ้ามาทำกระเป๋าในรูปทรงที่ดูเท่และเก๋ เรียกว่าสวยแบบมีอารยธรรม ด้วยลายผ้าพญานาคสองแขนหุ้มดอกดาวที่คนโบราณเชื่อว่าพญานาคเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ อุดมสมบูรณ์ ก็ถือว่าเป็นมงคลแก่ผู้ที่ได้เลือกใช้ เสริมบุคลิกและความมั่นใจไปในตัว รูปลักษณ์ของกระเป๋าก็ออกแบบให้ตอบโจทย์กับคนเมืองมากขึ้น สะพายไป ถึงเป็นผ้าไทยก็ไม่เชย”

ความรู้ด้านการออกแบบมาต่อยอดจนเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก

“การเรียนในคณะช่วยทั้งในเรื่องการออกแบบ แนวคิด และแรงบันดาลใจต่างๆ รวมถึงการตัดเย็บ งานทุกชิ้นของเราจะต้องมีการตัดเย็บที่ดีและเนี้ยบค่ะ อีกอย่างหนึ่งคือวิชาการวางแผนธุรกิจ หนูได้เรียนรู้การโปรโมชั่นการตลาด ทำยังไงให้สินค้าเราน่าสนใจ ก็ทำให้เกิดเป็นแบรนด์ที่วางขายในโลกออนไลน์ขึ้นมาได้ ก็ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ทำให้ตอนนี้กระแสความสนใจในผ้าไทยก็เพิ่มมากขึ้น ทั้งในสังคมออนไลน์และเน็ตไอดอลที่มีอิทธิพลทำให้หลายๆ คนเข้าถึงผ้าไทยได้มากขึ้น ส่วนทิศทางแบรนด์ในอนาคตหนูก็อยากจะมีแกลเลอรี่เล็กๆ เหมือนเป็นหน้าร้านให้คนที่สนใจเข้ามาชมสินค้าที่บ้านเราได้เลย”

THINKING TO CAMPUS

“ฝากถึงน้องๆ ที่เรียนสายศิลปกรรมแฟชั่นหรือคนนอกที่ไม่ได้เรียนแฟชั่น แต่มีความสนใจในเรื่องนี้ มันเป็นสิ่งที่ดี กับการที่เราคิดค้นอะไรใหม่ๆ ขึ้นหรือว่านำสิ่งที่มีอยู่แล้ว มาต่อยอดให้มันมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น สำหรับใครที่สนใจอยากเรียนแฟชั่นก็สามารถมาเรียนได้ ส่วนตัวอยากแนะนำแฟชั่นที่ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ที่มีการสอดแทรกเรื่องธุรกิจเข้าไปในระหว่างเรียนด้วย น้องๆ ที่ไม่มีพื้นฐาน หรือแม้แต่ตัวบิวเองก็แทบไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ไม่ได้เป็นเด็กเรียนศิลป์มาก่อน แต่ก็เข้ามาเรียนได้ ขอแค่ให้มีใจรักและมีความสุขไปกับมัน ทุกอย่างมันก็จะออกมาดีหมด”

อาจารย์ ณธกร อุไรรัตน์

STARTUP ADVISOR

“คณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นคณะที่สอนทางด้านศิลปะและการออกแบบ มีหลักสูตรวิชาให้นักศึกษาได้เลือกเรียนตามความถนัด คือ หลักสูตรคอมพิวเตอร์กราฟิก จะสอนทางด้านงานออกแบบกราฟิก ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในงานหลากหลายประเภท เช่น งานออกแบบแอนิเมชั่น งานออกแบบสื่อดิจิทัล รวมถึงการสร้างสรรค์อัตลักษณ์องค์กร หลักสูตรออกแบบภายใน เน้นการสร้างสรรค์งานแตกต่างภายในที่พักอาศัย สถานที่ราชการ ร้านค้า และสถานที่ต่างๆ และหลักสูตรการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น ที่เน้นการออกแบบเครื่องแต่งกาย และแฟชั่นแอสเซสเซอรี่ ดังนั้นเห็นว่าทั้งสามหลักสูตรของคณะศิลปกรรมนั้นมีความน่าสนใจและมีโอกาสที่จะใช้ความรู้ที่ได้เรียนมานำไปสร้างธุรกิจของตัวเองได้จริง เพราะจะได้เรียนกับมืออาชีพ และระหว่างที่เรียนอยู่ เราจะมีโครงงานต่างๆ ที่เป็นงานของผู้ประกอบการจริงๆ มาเป็นโจทย์ให้นักศึกษาได้ลองออกแบบ และยิ่งไปกว่านั้น ผลงานที่ออกแบบ เราก็จะหาสถานที่และเวทีให้นักศึกษาได้แสดงจริงได้ขายจริงดังเหมือนกับรุ่นพี่ของเราที่ประสบผลสำเร็จอยู่ในอุตสาหกรรมการออกแบบทั้งในและต่างประเทศ ความสำเร็จไม่ต้องรอให้เรียนจบ จากโปรเจคในวิชาเรียน ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจ ต่อยอดสู่ธุรกิจ”

อาจารย์ ณธกร อุไรรัตน์

คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

อ่าน Campus Star No.61 ได้ที่นี่

www.facebook.com/campusstar