มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

Nakhon Ratchasima Rajabhat University

Home / academy / มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เลขที่ 340 ถนนสุรนารายณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา อยู่ห่างจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีไปทางตำบลจอหอ ประมาณ 3 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 274… See More

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เลขที่ 340 ถนนสุรนารายณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา อยู่ห่างจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีไปทางตำบลจอหอ ประมาณ 3 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 274 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา

พื้นที่หลักอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จำนวน 174 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา และมีศูนย์ฝึกปฏิบัติงานด้านการเกษตรอีก 100 ไร่ อยู่ที่ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ติดกับสวนสัตว์ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประมาณ 15กิโลเมตร

 

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

อาคารยุพราชเบญจมงคล 2

ประวัติความเป็นมา
ต้นกำเนิดมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สืบเนื่องมาจากโรงเรียนฝึกหัดครูมูลกสิกรรมซึ่งมณฑลนครราชสีมาตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2466 มีขุนศุุภลักษณ์ศึกษากร (นายเจียม ศุภลักษณ์) เป็นครูใหญ่คนแรก

ในราชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติการประถมศึกษา มีสาระสำคัญคือ ให้เด็กทุกคนที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ ต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุ 14 ปี จึงมีนโยบายให้ทุกมณฑลจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้น มณฑลนครราชสีมาจึงได้สร้างโรงเรียนฝึกหัดครูที่ด้านตะวันตกของวัดโพธิ์ ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2465 ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของขุนศุภลักษณ์ศึกษากร โดยทางราชการให้ค่าตอบแทน เป็นเงิน 300 บาท จึงเป็นที่ตั้งของโรงเรียนฝึกหัดครูมณฑลนครราชสีมา

สมัยเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู (ระหว่าง พ.ศ. 2466 – พ.ศ. 2501)
ระหว่าง พ.ศ. 2466 ถึง พ.ศ.2501 โรงเรียนฝึกหัดครูมณฑลได้ย้ายสถานที่ตั้งอีกหลายครั้ง และมีชื่อเรียกต่างกันตามสภาวะ ได้แก่ โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม โรงเรียนฝึกหัดครูมูลกสิกรรมประจำมณฑลนครราชสีมา โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัด โรงเรียนฝึกหัดครูโนนวัด โรงเรียนฝึกหัดครูโนนสูง และโรงเรียนฝึกหัดครูนครราชสีมา ดังนี้

โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม
เริ่มดำเนินการสอนในปี พ.ศ. 2466 โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายส่งเสริมอาชีพกสิกรรม เพื่อผลิตครูที่สามารถสอนด้านการกสิกรรมในโรงเรียนต่างๆ โดยออกไปสอนโรงเรียนประชาบาลในสมั้ยนั้น นักเรียนนั้นรับผู้ที่มีความรู้ตั้งแต่ประถมปีที่ 3 ขึ้นไปเข้าเรียน ใช้เวลาเรียน 2 ปี โดยต้องอยู่ประจำ ส่วนนักเรียนที่จบการศึกษาก็ไปประกอบอาชีพกสิกรรม ต่อจากผู้ปกครอง

โรงเรียนฝึกหัดครูมูลกสิกรรม ประจำมณฑลนครราชสีมา
เริ่มดำเนินการสอนในปี พ.ศ. 2466 เนื่องจากโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม ได้เปิดสอนหลักสูตรประโยคครูมูล จึงเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนฝึกหัดครูมูลกสิกรรม เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูมูลกสิกรรม ประจำมณฑลนครราชสีมา นักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้จะได้รับวุฒิการศึกษา 2 วุฒิ คือ ผู้ที่มีความรู้ไม่ถึงมัธยมปีที่ 3 เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรจะได้วุฒิ ป.มณฑล ส่วนผู้ที่มีความรู้ตั้งแต่ มัธยมปีที่ 3 ขึ้นไป เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรจะได้วุฒิประโยคครูมูล

โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนัยบัตรจังหวัด
เริ่มดำเนินการสอนในปี พ.ศ.2476 โรงเรียนได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรจังหวัด โดยรับผู้ที่มีความรู้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ขึ้นไป เข้าเรียน ใช้เวลา 2 ปี ต่อมาโรงเรียนยกเลิกหลักสูตรประโยคครูมูลเหลือเพียงหลักสูตร ประกาศนียบัตรจังหวัดนี้เพียงหลักสูตรเดียว ดังนั้นในปี พ.ศ. 2478 จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัด เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรจะได้วุฒิประโยคครูประกาศนียบัตรจังหวัด (ว.) ในปี พ.ศ. 2477 ขุนศุภลักษณ์ศึกษากร (นายเจียม ศุภลักษณ์) ครูใหญ่ได้ย้ายไปทำงานที่แผนกศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา และได้ขุนสุบงกชศึกษากร (นายนาก สุบงกช) มาเป็นครูใหญ่แทน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2477 เป็นผู้บริการท่านที่ 2 ของโรงเรียน

ย้ายโรงเรียนไปอยู่ที่อำเภอโนนวัด
ในปีพ.ศ. 2481 โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอโนนวัด (อำเภอโนนสูง ในปัจจุบัน) ได้ย้ายไปเปิดสอนที่บ้านแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดจึงได้ย้ายไปใช้อาคารสถานที่ของ โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2481 เพราะมีอาคารสถานที่พร้อมมากกว่าที่เดิม เรียกชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดนครราชสีมา อำเภอโนนวัด” เรียกย่อว่าโรงเรียนฝึกหัดครูโนนวัด ต่อมาอำเภอโนนวัดได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอโนนสูง ในปี พ.ศ. 2482 จึงได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนฝึกหัดครูโนนสูง ในระหว่าง พ.ศ. 2481 – 2482 ได้เปิดหลักสูตรครูมัธยปีที่ 1 พิเศษ และ มัธยมปีที่ 2 พิเศษ โดยหลักสูตรนี้จะรับนักเรียนที่จบประถมศึกษาปีที่ 4 มาเรียน ถ้าเรียน 1 ปี ได้ มัธยมปีที่ 1 พิเศษ ถ้าเรียน 2 ปี ได้ มัธยมปีที่ 2 พิเศษ ซึ่งจะได้รับเงินเดือนแตกต่างกัน ต่อมาหลักสูตรนี้ถูกปรับใหม่เป็นประกาศนียบัตรครูประชาบาล จะรับผู้ที่เรียนจบประถมศึกษาปีที่ 4 มาเรียน 3 ปี สำเร็จการศึกษา ได้วุฒิประกาศนียบัตรครูประชาบาล (ป.บ.) วันที่ 11 กันยายน 2482 ขุนสุบงกชศึกษากร ย้ายไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนเกษตรกรรมจังหวัดเลย นายช่วง จันทรมะโน มาเป็นครูใหญ่แทน เป็นผู้บริหารท่านที่ 3 ของโรงเรียน

โรงเรียนฝึกหัดครูมูลโนนสูง
ในปี พ.ศ. 2485 โรงเรียนเปิดสอนหลักสูรประโยคครูมูล (ป.) อีกครั้ง โรงเรียนจึงกลับไปใช้ชื่อว่า โรงเรียนฝึกหัดครูมูลโนนสูง โดยเปิดสอน 3 หลักสูตร คือ ฝึกหัดครูประชาบาล (ป.บ.) ฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัด (ว.) และฝึกหัดครูมูล (ป.) ในเวลานั้นโรงเรียนฝึกหัดครูมูลโนนสูง เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งเดียวที่เปิดสอนหลักสูตรครูมูล จึงต้องรับนักศึกษาที่ส่งมาจากทุกจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งบางจังหวัดในภาคกลาง เช่น สระบุรี ลพบุรี นครนายก เป็นต้น ดังนั้นโรงเรียนฝึกหัดครูมูลโนนสูง จึงถูกเรียกว่า โรงเรียนฝึกหัดครูมูลประจำจังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2487 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายขยายหลักสูตรการฝึกหัดครู ให้โรงเรียนฝึกหัดครูมูลประจำจังหวัดนครราชสีมาสอนในระดับที่สูงขึ้น จึงได้เปิดสอนชั้นฝึกหัดครูประถม (ป.ป.) ซึงใช้เวลาเรียน 3 ปี แต่เปิดสอนได้เพียงปีที่ 1 ก็ยุติลงและย้ายนักศึกษาไปเรียนต่อปีที่ 2 ที่ กรุงเทพมหานคร

ย้ายโรงเรียนไปอยู่ที่อำเภอเมืองนครราชสีมา
โรงเรียนฝึกหัดครูย้ายมาอยู่ที่อำเภอโนนสูง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 จนถึงปี พ.ศ. 2489 เป็นเวลาถึง 9 ปี เริ่มประสบปัญหาจากการที่โรงเรียนตั้งอยู่นอกตัวอำเภอ ห่างไกลตลาด การซื้อข้าวของ หรือเครื่องใช้ไม่สะดวกนัก จึงย้ายกลับมาอยู่ในเขตอำเภอเมือง โดยได้สถานที่ที่เป็นที่ตั้งปัจจุบันของมหาลัย บริเวณทุ่งตะโกราย ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมือง (ปัจจุบันเป็นตำบลในเมือง) เนื้อที่ประมาณ 163 ไร่ จึงได้ย้ายโรงเรียนจากโรงเรียนโนนสูง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2490 แต่ในช่วงเวลาที่ก่อสร้างอาคารเรียนยังไม่แล้วเสร็จ ได้ไปใช้สถานที่ของโรงเรียนเทศบาล 1 (สุขานารี) ซึ่งอยู่ที่ถนนโพธิ์กลาง ตำบลในเมืองนครราชสีมา เป็นที่พักและที่เรียนชั่วคราวเป็นเวลาประมาณ 1 ปี

โรงเรียนฝึกหัดครูนครราชสีมา
การก่อสร้างอาคารเรียนและที่พักแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2491 จึงได้ย้ายจากโรงเรียนสุขานารี มาใช้บริเวณทุ่งตะโกราย ริมถนนสุรนารายณ์ จนถึงทุกวันนี้ และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรีียนฝึกหัดครูนครราชสีมา” ในปี พ.ศ. 2495 โรงเรียนฝึกหัดครูนครราชสีมา เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตร ประโยคประถม (ป.ป.) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่รับผู้ที่จบ มัธยมปีที่ 6 เข้าเรียนใช้เวลาเรียน 3 ปี การเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญเพราะทำให้โรงเรียนฝึกหัดครูนครราชสีมามีฐานะ โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงเนื่องจากหลักสูตรนี้ เปิดสอนเฉพาะโรงเรียนฝึกหัดครูในกรุงเทพมหานคร อาทิ โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ประสามิตร เป็นต้น จนถึง ปี พ.ศ. 2497 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) แทนหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.)

สมัยเป็นวิทยาลัยครู (พ.ศ. 2502 – 2535)
ในปี พ. ศ. 2502 โรงเรียนฝึกหัดครูนครราชสีมา ได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยครูนครราชสีมา และได้เปิดสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) เพิ่มเติม ในช่วงเวลา 33 ปี ของการเป็นวิทยาลัยครูนครราชสีมาจะเป็นช่วงเวลา ที่มีการพัฒนาตยเองให้มีความแข็งแกร่งทางด้านวิชาการมากยิ่งขึ้น โดย เริ่มจากผู้อำนวยการวิทยาลัยครูนครราชสีมาคนแรก คือ นายสุรินทร์ สรสิริ ที่ได้วางรากฐานสำคัญทางวิชาการ ทำให้วิทยาลัยครูนครราชสีมาเป็นวิทยาลัยครูที่มีชื่อเสียงชั้นแนวหน้าของ ประเทศ ผู้บริหารคนต่อมาได้ดำเนินรอยตามและพัฒนาให้วิทยาลัยมีความแข็งแกร่งทาง วิชาการยิ่งขึ้น ผลผลิตจากวิทยาลัยครูนครราชสีมาได้ กลายเป็น กำลังสำคัญทางการศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศ การยกฐานะจากโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นวิทยาลัยครู และโอนกิจการของโรงเรียนการเรือนนครราชสีมา รับนักเรียนมาจากจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ และชัยภูมิ เริ่มสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) เริ่มการเรียนในระบบหน่วยกิจเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ต่อมาเริ่มโครงการฝึกหัดครูชนบท โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโก มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการซึ่งอยู่ในเขตอำเภอต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนบ้านด่านจาก “โกศลวัฒนา” โรงเรียนบ้านโคกสวาย โรงเรียนบ้านพังเทียม “คุรุสามัคคี 1” โรงเรียนบ้านสันเที๊ยะ “สุคนธวัฒนา” และโรงเรียนบ้านประคำ “คุรุรัฐประชาสรรค์” และในปี พ.ศ 2506 ได้เพิ่มโรงเรียนบุสายออ อีกหนึ่งโรงเรียน นักศึกษาที่ไปฝึกสอนเป็นนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นปีที่ 2 โดยที่นักศึกษาต้องพักอยู่ในชุมชน เรียนรู้จากชุมชนในด้านต่างๆ เช่นการฝึกทำนา หรือเกี่ยวข้าว การเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกัน รวมถึงการแบ่งเวรทำหน้าที่ต่างๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนอาจารย์นิเทศก็จะหมุนเวียนกันไปดูแล ให้คำแนะนำด้านวิชาการรวมทั้งการไปนอนค้างกับนักศึกษาในแต่ละหน่วยฝึกสอนตาม โอกาส โครงการฝึกหัดครูชนบทจึงเจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จมาก

มีการแข่งขันฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทาน
การที่วิทยาลัยครูและวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสถาบันการ ศึกษาที่อยู่ติดกัน ได้มีการจัดแข่งขันฟุตบอลระหว่างกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 โดยริเริ่มจากอาจารย์เตรียม ทิพวงศา และอาจารย์ สุวัฒน์ พินิจพงศ์ ในปี พ.ศ. 2502 ได้ขอพระราชทานโล่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อทั้งสองสถาบัน เพราะเป็นโล่พระราชทาน ให้กับสถาบันอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาคเพียงแห่งเดียว การแข่งขันฟุตบอลประเภทณีชิงโล่พระราชทานจึงเป็นงานสำคัญของสองสถาบัน นักศึกษาทุกคนจะร่วมงานด้วยความภาคภูมิใจ แม้ศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วก็จะกลับมารวมกลุ่มกันในวันนี้ งานฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทานจึงสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 เวลา 15.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถได้ เสด็จทอดพระเนตรกิจการของวิทยาลัยครูนครราชสีมา และนิทรรศการโครงการฝึกหัดครูชนบท และทรงประทับฟังการอภิปรายหน้าพระที่นั่ง เรื่อง การฝึกหัดครูชนบท โดย อาจารย์ สุรินทร์ สรสิริ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย มีผู้ร่วมอภิปราย คือ อาจารย์พจน์ ธญญขันธ์ รศ.ชุ่มเมือง โคตรฉิน และนักศึกษาสองคน ใช้เวลาในการอภิปราย 40 นาที ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสกับอาจารย์สุรินทร์ สรสิริ ว่า “ช่วยให้นักศึกษาสอบผ่านได้ขึ้นด้วย” ในปี พ.ศ. 2513 เริ่มผลิตครูหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) ภาคนอกเวลา โดยเรียนวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 15.00 – 21.00 น. และ เสาร์ – อาทิตย์ เต็มวัน ใช้เวลาเรียน 3 ปี

พ.ศ. 2515 เริ่มผลิตครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูงภาคนอกเวลาใช้เวลาเรียน 2 ปีครึ่ง

พ.ศ. 2517 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรการฝึกหัดครูระดับปริญญาตรี ของสภาการฝึกหัดครู สาขาที่เปิดสอนคือ วิทยาศาสตร์ทั่วไป รับนักศึกษา 1 ห้องเรียน จำนวน 19 คน นับเป็นก้าวสำคัญเข้าสู่ความเป็นสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น

พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 วิทยาลัยครูนครราชสีมาจึงได้รับยกย่องฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษา โดยมีคณะวิชา 3 คณะ ประกอบด้วย คณะวิชาครุศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิชาวิทยาศาสตร์ และขยายการผลิตครูในระดับปริญญาตรี วิชาเอกต่างๆ เพิ่มขึ้น

พ.ศ. 2520 วิทยาลัยครูนครราชสีมา ได้เสนอโครงการฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำการ (อคป.) เป็นแห่งแรก โดยดำเนินการทั้งระดับครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.ชั้นสูง) และประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) เพื่อให้ครูในจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิเข้ามาเรียนเพื่อเพิ่มความรู้ รวมทั้งต่อมาได้ทำโครงการอบรมครูที่ยังไม่มีวุฒิครู

พ.ศ. 2526 วิทยาลัยครูนครราชสีมา ได้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอน โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โดยรับผิดชอบโรงเรียนในเขตตำบลศรีสุข อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น

พ.ศ. 2527 กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนขึ้นในวิทยาลัยครูนครราชสีมา เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เรียกว่า วิทยาลัยนครราชสีมา โดยเปิดสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรเทคนิค การอาชีพ (ปทอ.) สอนใน หลักสูตร คอมพิวเตอร์ ธุรกิจ โรงแรม และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ชุดแรก จำนวน 11 เครื่อง

พ.ศ. 2527 พระราชบัญญัติวิทยาลัยครูฉบับที่ 2 อนุญาตให้สามารถผลิตบัณฑิต สาขาวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่วิชาชีพครูได้ วิทยาลัยครูนครราชสีมาจึงได้จัดตั้งคณะวิทยาการจัดการ ใน พ.ศ. 2528 และเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2529 โดยมีการเปิดสอนตามหลักสูตรสภาฝึกหัดครู อาทิ ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง ปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี ปริญญาตรีหลักสูตร 2 ปี ในหลายวิชาเอก อาทิ วิชาเอกภาษาไทย สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์่วไป เกษตร พลศึกษา อุตสาหกรรม คหกรรมศาสตร์ ศิลปศึกษา ประถมศึกษา บรรณาักษ์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ เป็นต้น

พ.ศ. 2528 เกิดการก่อตั้งสหวิทยาลัยอีสานใต้ ตามข้อบังคับว่าด้วยการจัดกลุ่มวิทยาลัยครูออกเป็นสหวิทยาลัย สหวิทยาลัยอีสานใต้จึงเป็นการรวมกลุ่มวิทยาลัยครูนครราชสีมา วิทยาลัยครูอุบลราชธานี วิทยาลัยครูสุรินทร์ และวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ โดยมีสำนักงานอยู่ในวิทยาลัยครูนครราชสีม

พ.ศ. 2529 โครงการ อ.ค.ป. ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2521 ได้เปลี่ยนมาเป็นโครงการ จัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตสาขาวิชาชีพอื่นนอกจากวิชาชีพครู และเปลี่ยนเป็นโครงการการศึกษาเพื่อปวงชน (กศ.ปช.) ในปี พ.ศ. 2539

พ.ศ. 2530 การสร้างลานธรรมเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ที่บริเวณหอประขุมเก่าซึ่งเป็นสถานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เคยประทับฟังการอภิปรายหน้าพระที่นั่งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507

สมัยเป็นสถาบันราชภัฏนครราชสีมา (พ.ศ. 2535 – 2546)
พ.ศ. 2535 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามวิทยาลัยครูทั่วประเทศเป็นสถาบัน ราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2538 สมัยสถาบันราชภัฏนครราชสีมา เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็น มหาลัยอย่างเต็มรูปแบบ อธิการบดี 4 ท่าน นับตั้งแต่ผศ.ดร.สมศักดิ์ ทองงอก ผศ.อุทัย เดชตานนท์ รศ.เชิดชัย โชครัตนชัย และ ผศ.ดร.เศาวนิต เศานานนท์ ได้นำพาสถาบันพัฒนาทั้งด้านอาคารสถานที่ การบริหารและการจัดการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นคุณภาพนักศึกษาทั้งด้านความรู้ และด้านคุณธรรม ความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน

พ.ศ. 2541 สถาบันราชภัฏนครราชสีมา เปิดสอนในระดับปริญญาโทเป็นครั้งแรก ในสาขาวิชาบริหารการศึกษา

ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ จึงได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2547 โดยมีเศาวนิต เศานานนท์ เป็นอธิการบดีคนแรก

สถานที่ตั้ง
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตั้งอยู่เลขที่ 340 ถนนสุรนารายณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000
หมายเลขโทรศัพท์ 0-4425-4000, 0-4425-5322 , 0-4424-2158, 0-4425-6656, 0-4424-6341, 0-4427-2828
หมายเลขโทรสาร 0-4424-4739
มีพื้นที่ทั้งหมด 274 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา โดยมีพื้นที่หลักอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จำนวน 174 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา และหน่วยงานนอกที่ตั้ง ศูนย์ฝึกปฏิบัติงานด้านการเกษตรอีก 100 ไร่ อยู่ที่ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระ เกียรติซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประมาณ 15 กิโลเมตร

ปรัชญาประจำมหาวิทยาลัย แหล่งวิชาการ สร้างสรรค์คนดี มีคุณธรรม นำสังคม

วิสัยทัศน์ประจำมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นผู้นำด้านการศึกษา การผลิต พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เสริมสร้างคุณภาพคน สังคมให้เข้มแข็ง และมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งระดับชาติและนานาชาติ

ตรา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
เป็นรูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น อุ หรือเลข 9 รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร 7 ชั้น ตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรม เดชานุภาพในแผ่นดิน โดยที่วันบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่ง อัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปด รอบนอกของตราด้านบนมีตัวอักษรภาษาไทยว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” ด้านล่างมีตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า “NAKHON RATCHASIMA RAJABHAT UNIVERSITY” สีของตราสัญลักษณ์มี 5 สี คือ
1. สีน้ำเงิน แทน สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิดและพระราชทานนาม ‘‘มหาวิทยาลัยราชภัฏ’’ (Blue means the Royalty and the relation that the name ‘Rajabhat University’ was given by the King.)
2. สีเขียว แทน แหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่งในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม (Green means the location of all 40 Rajabhat Universities around the country in exquisite natural surroundings.)
3. สีทอง แทน ความเจริญรุ่งเรืองทางปัญญา (Gold means the intellectual prosperity.)
4. สีแดง แทน ความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ก้าวไกลใน 40 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (Red means the rise in local arts and culture being adorned at all 40 Rajabhat University locations.)
5. สีขาว แทน ความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (White means the pure thoughts of philosophers in the era of His Majesty the King Rama IX.)

อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย “ที่พึ่งของท้องถิ่น”

อัตลักษณ์ของบัณฑิตมหาวิทยาลัย “สำนึกดี  มีความรู้  พร้อมสู้งาน”
1. สำนึกดี หมายถึง มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึกและตระหนักในความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพ มีสำนึกในความเป็นไทย และมีความรัก และความผูกพันต่อท้องถิ่น
2. มีความรู้ หมายถึง มีความรู้ความสามารถทางวิชาการและวิชาชีพ มีทักษะทางปัญญา การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี
3. พร้อมสู้งาน หมายถึง มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ อุทิศเวลาให้กับงาน มีภาวะผู้นำในการแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มและให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

เอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
1. สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านบรรพชีวินระดับนานาชาติที่โดดเด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. เป็นผู้นำด้านการศึกษาพิเศษในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3. เป็นผู้นำหนึ่งในห้าของประเทศในการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษามืออาชีพ
4. การวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดนครราชสีมา ด้านอาหาร ผ้า และการท่องเที่ยว
5. การสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการแก้ปัญหาและใช้ประโยชน์จากดินเค็ม

สีประจำมหาวิทยาลัย สีเขียว-สีเหลือง

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ต้นราชพฤกษ์ (Cassia fistula) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูง 10-20 เมตร ดอกขึ้นเป็นช่อยาว 20-40 เซนติเมตร แต่ละดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 เซนติเมตร มีกลีบดอกสีเหลืองขนาดเท่ากัน 5 กลีบ ผลยาว 30-62 เซนติเมตร และ กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุน และมีเมล็ดที่มีพิษเป็นจำนวนมาก

 

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา : Nakhon Ratchasima Rajabhat University
ชื่อย่อ : มรภ.นม./NRRU
คติพจน์ : ธมฺมจารี สุขํเสติ (ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข)
สถาปนา : 15 มิถุนายน 2547 (ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย)
ประเภท : สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
เว็บไซต์ : www.nrru.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/pagenrru

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ http://www.nrru.ac.th/index.php/nrru/general-information.html

See Less

ดาวเด่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ชิลเอ้าท์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

มุมต่างๆในรั้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

เรื่องเล่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้