มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (เดิมชื่อ มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร) เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยมี 2 คณะเริ่มแรกคือ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ประวัติความเป็นมา
กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ในกำกับของกรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นสถาบันอุดมศึกษาห้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับพระราชทานนามว่า มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556 โดยมีศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย และดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นอธิการบดี
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานครได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานครเป็นมหาวิทยาลัยนวมิ นทราธิราช พ.ศ. 2556 ซึ่งประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130 ตอนที่ 53ก เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาเมือง มีพันธกิจหลักเกี่ยวกับการจัดการศึกษา การวิจัย การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหาร การจัดการเมือง การปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมและกีฬา การบริหารจัดการตามหลักธรรมมาภิบาลและการพัฒนาโดยยึดหลัก ปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย โดยมีความเป็นสากลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ
ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ใช้ตามสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีลักษณะและความหมาย ดังนี้
สัญลักษณ์พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเป็นภาพจำลองจาก ฝีพระหัตถ์ของพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งได้เขียนทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในวาระดิถี 60 พรรษาของพระองค์ โดยมีความหมายถึงการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ท้องถิ่นอย่างเหมาะสม
ตราพระอินทร์ทรงช้างเกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร เพราะว่ากรุงเทพเป็นเมืองเทวดาของ พระอินทร์ดังปรากฏตามชื่อเมือง ซึ่งรัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานนามว่า “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์”และรัชกาลที่ 4 ทรงแก้สร้อยชื่อเมืองเป็น “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” ก็คือโกสิน สนธิกับอินทร์ ซึ่งหมายถึงพระอินทร์
สาเหตุที่ยกกรุงเทพมหานครเป็นเมืองพระอินทร์สันนิษฐานว่า เพราะคำว่า “รัตนโกสินทร์” คือแก้วของพระอินทร์ อันได้แก่ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ซึ่งมีสีเขียวเหมือนสีกายของพระอินทร์เมืองของพระแก้วมรกตจึงเป็นเมืองของพระอินทร์
รูปพระอินทร์ที่ตรงตรากรุงเทพมหานครนั้น ถือวชิรวุธหรืออาวุธที่เป็นสายฟ้า เป็นอาวุธประจำพระองค์ ทั้งนี้ เพราะพระอินทร์มีหน้าที่ขับไล่ประหารอสูรหรือฤาษีที่ทำความมืดมัวแก่โลก กล่าวคือ เมื่อฤาษีบำเพ็ญตบะจนโลกมืดมัวฝนไม่ตกตามฤดูกาล พระอินทร์จะทรงใช้สายฟ้าหรือใช้นางอัปสรไปยั่วยวนทำลายตบะฤาษี ฝนจะตก ท้องฟ้าแจ่มใส เกิดแสงสว่างและความชุ่มชื่นดังเดิม ดังนั้น รูป พระอาทิตย์ทรงช้างเอราวัณบนก้อนเมฆจึงมีความหมายในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชา
ด้านบนตราสัญลักษณ์เป็นคำอักษรภาษาบาลีคำว่า “วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฐา” แปลว่า “การเกิดปัญญาประเสริฐกว่าเกิดสิ่งใดๆ” ส่วนด้านล่างเป็นอักษรไทย คำว่า “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช”
สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีเขียวเข้ม
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช : Navamindradhiraj University
ชื่อย่อ : NMU / มนร.
คติพจน์ : “วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺฐา” (ในบรรดาสิ่งที่งอกขึ้น วิชาประเสริฐที่สุด)
สถาปนา : 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
ประเภท : สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของกรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : 131/6 ถนนขาว แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
เว็บไซต์ : http://www.nmu.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/NavamindradhirajUniversity/
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ http://www.nmu.ac.th/th/?page_id=37