ถือได้ว่าเป็นข่าวที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับวงการการศึกษาไทย เมื่อสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์ของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลอีกครั้ง จากการยกระดับการศึกษาแพทยศาสตร์สู่มาตรฐานสากล
16 คณะแพทย์ไทย ผ่านมาตรฐานโลก
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 62 ที่ผ่านมา การกระทรวงสาธารณสุข การกระทรวงศึกษาธิการ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยว่า สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ของไทย ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสมาพันธ์แพทยศาสตร์ศึกษาโลกว่า เป็นสถาบันที่ตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาแพทยศาสตร์ด้วยเกณฑ์มาตรฐานสากล เป็นผลทำให้แพทย์ที่จบจากสถาบันการศึกษาไทยด้านการแพทย์ที่ผ่านการประเมิน สรพ. จะได้รับการรับรองว่าเป็นแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับโลก
ทั้งนี้ สถาบันของไทยที่เปิดสอนด้านการแพทย์มีทั้งสิ้น 22 แห่งด้วยกัน แต่มีเพียง 16 แห่งเท่านั้นที่ผ่านการประเมินและได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก ซึ่งถือได้ว่าไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก ทั้งจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ประเทศไทย และสมาพันธ์แพทยศาสตร์ศึกษาโลก (สมพ.) สะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือในมาตรฐานการแพทย์ไทย ทั้งด้านการให้บริการของสถานพยาบาล ไปจนถึงเรื่องคุณภาพการศึกษาของแพทย์ไทย
- อัปเดต ค่าเทอม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ปีการศึกษา 2562
- เรียนแพทย์ 6 ปี ต้องเจออะไรบ้าง? ใช้คะแนนอะไรในการสอบเข้า? | ม.ที่เปิดสอน
1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
ถือได้ว่าเป็นคณะที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุด และเป็นคณะแพทย์ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนมากที่สุดของไทย ผลิตบัณฑิตทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา รวมถึงการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สังคม พร้อมให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนทั่วไป เปิดสอนในหลายภาควิชาด้วยกัน เช่น กายวิภาคศาสตร์, กุมารเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์, จักษุวิทยา, เภสัชวิทยา, รังสีวิทยา, และสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เป็นต้น
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : www.si.mahidol.ac.th
2. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล
เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ทั้งในระดับปริญญาตรี ระดับหลังปริญญาในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและสาขาที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมีโครงการปริญญาเอก โครงการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ และสาขาย่อยเฉพาะทาง รวมทั้งการวิจัยด้วย ซึ่งจะมุ่งเน้นการผลิตบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่าง ๆ พยาบาล และบุคลากรด้านอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับทางด้านการแพทย์
โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลรักษาแบบองค์รวม การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม และสามารถทำงานในชุมชนได้ เปิดสอนในหลายภาควิชาด้วยกัน เช่น วิสัญญีวิทยา, เวชศาสตร์ครอบครัว, อายุรศาสตร์, จักษุวิทยา, โสต ศอ นาสิกวิทยา, ออร์โธปิดิกส์, พยาธิวิทยา, กุมารเวชศาสตร์ และจิตเวชศาสตร์ ฯลฯ
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : https://med.mahidol.ac.th
3. คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 3 ของไทย และยังเป็นโรงเรียนแพทย์ในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของไทย นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ อีกด้วย ได้แก่ ศูนย์ศรีพัฒน์, ศูนย์โรคสมองภาคเหนื, ศูนย์ทะเบียนมะเร็ง, ศูนย์เลสิก และศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ เปิดสอนหลากหลายภาควิชาด้วยกัน เช่น กายวิภาคศาสตร์, กุมารเวชศาสตร์, เวชศาสตร์ฉุกเฉิน, ออร์โทปิดิกส์, อายุรศาสตร์, เภสัชวิทยา, ปรสิตวิทยา และพยาธิวิทยา เป็นต้น
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : www.med.cmu.ac.th
เทคโนโลยีแพทย์จีนรักษามะเร็ง
Link : seeme.me/ch/goodmorningthailand/MmKEBk
4. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิตทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา ในปัจจุบันมีภาควิชาที่ทำการเรียนการสอนอยู่ 21 ภาควิชา เช่น กายวิภาคศาสตร์, จิตเวชศาสตร์, ชีวเคมี, เภสัชวิทยา, เวชศาสตร์ชันสูตร, ออร์โธปิดิกส์, สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และโสต ศอ นาสิกวิทยา ฯลฯ วุฒิการศึกษาที่ได้รับก็คือ แพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) หรือ Doctor of Medicine (M.D.)
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : www.chula.ac.th
5. วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ม.รังสิต
เป็นสถาบันแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 6 ในจำนวนโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศจำนวน 21 สถาบัน มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บัณฑิตแพทย์ มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม และสามารถปฏิบัติงานในสถานพยาบาลต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : www.rsu.ac.th
6. คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
หลักสูตรการเรียนการสอนของที่นี่จะมีการปรับหลักสูตรทุก ๆ 5 ปี โดยหลักสูตรการเรียนการสอนที่ใช้ในปัจจุบันก็คือ หลักสูตรปี พ.ศ. 2552 โดยในระดับพรีคลินิค (ชั้นปีที่ 2-3) มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Hybrid Problem-based Learning (Hybrid PBL) คือ มีการเรียนการสอนแบบบรรยาย ประกอบกับการใช้โจทย์ปัญหาในกระบวนการกลุ่มย่อยที่อ้างอิงทางคลินิก และในระดับคลินิก (ชั้นปีที่ 4-6) มีการจัดการเรียนการสอนคล้ายคลึงกับสถาบันอื่น ๆ โดยเน้นการปฏิการทางคลินิกบนโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : http://med.tu.ac.th/
7. คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
เปิดสอนในสายวิชาชีพแพทยศาสตร์ และสายวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา โดยในระดับปริญญาตรีได้มีการแบ่งหลักสูตรการเรียนการสอนออกเป็น 4 ปี และ 6 ปี ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี) และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (4 ปี) แบ่งย่อยออกเป็น 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์, สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์, สาขาวิชากายภาพบำบัด และสาขาวิชารังสีเทคนิค (ต่อเนื่อง)
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : http://medinfo.psu.ac.th/
8. คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น
เป็นคณะที่จัดตั้งขึ้นเป็นอันดับที่ 6 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะแพทยศาสตร์ลำดับที่ 5 ของประเทศไทย และเป็นลำดับที่ 2 ของส่วนภูมิภาค ส่วนสถานปฏิบัติการการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาคือ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ แบ่งออกเป็นภาควิชาต่าง ๆ เช่น ปรีคลินิก (จุลชีววิทยา, ชีวเคมี, พยาธิวิทยา, เวชศาสตร์ชุมชน, สรีรวิทยา) และคลินิก (กุมารเวชศาสตร์, นิติเวชศาสตร์, เวชศาสตร์ฟื้นฟู, วิสัญญีวิทยา) ฯลฯ
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : www.md.kku.ac.th
9. คณะแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 1 เรียนที่ มศว องครักษ์ ชั้นปีที่ 2 และ 3 เรียนที่ มศว ประสานมิตร ส่วนชั้นปีที่ 4-6 ฝึกปฏิบัติงานชั้นคลินิกที่ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หมุนเวียนร่วมกันไปกับ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน โดยแบ่งหลักสูตรการเรียนการสอนออกเป็นภาควิชาต่าง ๆ เช่น ภาควิชาพรีคลินิก (กายวิภาคศาสตร์, จุลชีววิทยา, วิชาชีวเคมี) และภาควิชาคลินิก (กุมารเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์, นิติเวชวิทยา, รังสีวิทยา, วิสัญญีวิทยา) ฯลฯ
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : http://med.swu.ac.th/
10. คณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร
โครงการรับสมัครนักศึกษาใหม่ คณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร แบ่งออกเป็นโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการรับตรงร่วมกับ กสพท. (Direct Admissions), โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD), โครงการแพทย์แนวใหม่ (New Tract) และโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD)
หลักสูตรการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ระดับชั้นปรีคลินิก (ชั้นปีที่ 1 – 3) ในระดับชั้นนี้จะเป็นการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานก่อนที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วยในระดับชั้นคลินิกต่อไป และระดับชั้นคลินิก (ชั้นปีที่ 4 – 6) เป็นการเรียนต่อยอดจากระดับชั้นปรีคลินิกโดยเน้นการนำไปใช้กับผู้ป่วยจริง ในระดับชั้นนี้นิสิตแพทย์จะแยกกันเรียนในโรงพยาบาลต่าง ๆ ตามโครงการที่เข้ามาตั้งแต่แรกรับ
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : www.med.nu.ac.th
11. คณะแพทยศาสตร์ ม.บูรพา
มีระบบการเรียนการสอนแบบเต็มเวลา (ภาคปกติ) ทั้งนี้ได้มีการจัดการศึกษาของหลักสูตรแพทยศาสตร์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาทั่วไป เป็นการศึกษาในชั้นปีที่ 1 โดยใช้ระบบทวิภาค (Semester), ระยะที่ 2 การศึกษาระดับปรีคลินิก เป็นการศึกษาในชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 3 โดยใช้ระบบทวิภาค (Semester), ระยะที่ 3 การศึกษาระดับคลินิก เป็นการศึกษาในชั้นปีที่ 4 ถึงชั้นปีที่ 6 โดยใช้ระบบการศึกษาตลอดปี (Year Course) 1 หน่วยกิตเท่ากับการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ โดยจัดการศึกษาที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : http://med.buu.ac.th/
12. วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
การเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ชั้นเตรียมแพทย์ (ปี 1) โดยที่นิสิตเตรียมแพทย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าจะศึกษาที่ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นระยะเวลา 1 ปี, ชั้นปรีคลินิก (ปี 2-3) มีการจัดการเรียนการสอน ณ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นเวลา 2 ปี และชั้นคลินิก (ปี 4-6) ทำการเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นเวลา 3 ปี
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
13. สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี
สำหรับ แผนการศึกษาแบ่งออกเป็นชั้นปีที่ 1, 2, และ 3 จัดการศึกษาเป็นระบบไตรภาค (trimester) และแผนการศึกษาชั้นปีที่ 4, 5, และ 6 จัดแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มและหมุนเวียนกลุ่มนักศึกษาเรียนบรรยายวิชาเป็นรายสัปดาห์จนครบตามรายวิชา และหน่วยกิตที่กำหนดตลอดปีการศึกษา
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : http://im.sut.ac.th/
14. สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
มีความมุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตแพทย์ ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ รับผิดชอบ เป็นผู้มีความรู้พื้นฐานทางวิชาชีพในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก ระเบียบวิธีการวิจัยทางการแพทย์ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
โรงพยาบาลที่ผลิตแพทย์ร่วมกับสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ในระดับชั้นคลินิก (ชั้นปี 4-6) มี 2 โรงพยาบาล ได้แก่ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลตรัง, ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก” ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ร่วมผลิตแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : https://smd.wu.ac.th/
15. วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลราชธานี
จัดตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตแพทย์ในเขตพื้นที่ชนบท และรองรับการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวมทั้งการวิจัยทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในเขตภูมิภาค ได้มีการร่วมผลิตแพย์กับโรงพยาบาล 2 แห่ง ในระดับชั้นคลินิก (ชั้นปีที่ 4 – 6) ได้แก่ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลศรีสะเกษ
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : www.cmp.ubu.ac.th
16. คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช
การเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ชั้นปีที่ 1 เตรียมแพทยศาสตร์ จะเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปและวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เรียนที่ ม.มหิดล ศาลายา, ชั้นปีที่ 2-3 ปรีคลินิก เป็นการศึกษาระดับปรีคลินิก จะศึกษาวิชาแพทย์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น กายวิภาคศาสตร์ สรีวิทยา เภสัชวิทยา ที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล พญาไท
ส่วนชั้นปีที่ 4-6 คลินิก เข้าสู่การศึกษาระดับคลินิก ซึ่งศึกษาและฝึกอบรมที่วชิรพยาบาล สำหรับนักศึกษาปีที่ 6 (extern) จะมีการเรียนเสมือนการทำงานจริง ดูแลควบคุมโดยอาจารย์แพทย์และแพทย์ประจำบ้าน (residence) อย่างใกล้ชิด แล้วจะมีการศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลในสำนักการแพทย์ กรุงเทพฯ อีกด้วย
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : www.vajira.ac.th
อ้างอิงข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://mgronline.com/