วันนี้ในอดีต อาคารจั่วสามมุข อาคารหอประชุมใหญ่ ม.เกษตรศาสตร์

วันนี้ในอดีต 18 เม.ย. วันวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารจั่วสามมุข ม.เกษตรศาสตร์

Home / เรื่องเล่ามหาวิทยาลัย / วันนี้ในอดีต 18 เม.ย. วันวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารจั่วสามมุข ม.เกษตรศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เปิดสอนด้านการเกษตร มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในด้านการเรียนการสอน อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติอีกด้วย และหนึ่งในวันสำคัญของมหาวิทยาลัยก็คือ วันที่ 18 เมษายน ซึ่งเป็นวันวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรืออาคารจั่วสามมุข นั่นเอง

ย้อนชมภาพ อาคารจั่วสามมุข เมื่อปี พ.ศ. 2497

หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อแรกสร้าง
หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อแรกสร้าง

เมื่อย้อนกลับไปในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2497 นั้น เป็นวันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ได้ทำการวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ อาคารจั่วสามมุข โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นอาคารในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย (แต่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้เป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตรแล้วเนื่องจากมีความจุไม่เพียงพอต่อจำนวนนิสิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร) ดังนั้นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงใช้อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริเป็นสถานที่จัดพิธีแทน

อาคารจั่วสามมุข เป็นอาคารที่ออกแบบด้วยศิลปะแบบไทยประยุกต์ มีเอกลักษณ์เป็นหน้าจั่วแบ่งมุขออกเป็น 3 ยอดและกรอบหน้าต่างจำนวน 6 ช่อง ต่อมาภายหลังได้กลายเป็นต้นแบบของอัตลักษณ์ทางปรัชญา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย 3 ลักษณะด้วยกัน อันได้แก่

สัญลักษณ์จั่วสามมุข
สัญลักษณ์จั่วสามมุข

1. จั่วสามมุข เอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งหน้าจั่วนี้มีลักษณะของความโดดเด่นตรงที่ มีความกว้างของส่วนฐาน ส่วนกลาง และส่วนยอดที่เท่ากัน หมายความถึงการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนแห่งสยามประเทศ

2. บัว 3 ดอก เป็นดอกบัวที่ขึ้นพ้นเหนือน้ำ อันมีเต่าและปลาเป็นตัวแทนของสัตว์ร้ายต่างๆ แหวกว่ายอยู่ หมายถึงบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาทั้ง 3 ระดับคือ บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ที่ผ่านอุปสรรคต่างๆ นานัปการตามหลักที่ปรากฏในพุทธโอวาท

3. พระอุณาโลม อันมีลักษณะพ้องกับเลข 9 เป็นเครื่องหมายอันเป็นนิมิตหมายที่ดี หมายถึง ความรู้และความสว่างแก่โลกนั่นเอง

ทั้งนี้ สัญลักษณ์จั่วสามมุขยังปรากฏเป็นศิลปกรรมตามสถานที่ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น อาคารสารนิเทศ 50 ปี อาคารวชิรานุสรณ์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๔ รอบพระชันษาจุฬาภรณ์ อาคารประจำวิทยาเขตต่างๆ หรือแม้กระทั่งบริเวณขอบรั้วโดยรอบมหาวิทยาลัยก็ถูกถอดแบบให้มีลักษณะเป็น “จั่วสามมุข” ด้วยเช่นกัน