ทุนศึกษาแลกเปลี่ยน ปอนด์ ศิริชัย ม.สวนดุสิต ออสเตรีย เรียนต่อต่างประเทศ แลกเปลี่ยนออสเตรีย

ประสบการณ์นักเรียนแลกเปลี่ยน ณ ออสเตรีย ของปอนด์ ศิริชัย ม.สวนดุสิต

Home / กิจกรรม / ประสบการณ์นักเรียนแลกเปลี่ยน ณ ออสเตรีย ของปอนด์ ศิริชัย ม.สวนดุสิต

ปอนด์-ศิริชัย หน่ายอินทร์ ปี 3 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษธุรกิจ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นักเรียนแลกเปลี่ยนในโครงการ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยดุสิต กับ University of Teacher Education ประเทศออสเตรีย ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์การไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศอย่างเจาะลึก

ประสบการณ์นักเรียนแลกเปลี่ยน ณ ออสเตรีย ของปอนด์ ศิริชัย ม.สวนดุสิต

EXCHANGE IN AUSTRIA

รู้ข่าวการไปแลกเปลี่ยนจากไหน

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ทำข้อตกลงร่วมกันกับมหาวิทยาลัยครู ที่ออสเตรีย โดยจะส่งนักศึกษาจากไทย 4 คนไปเรียนที่ University of Teacher Education ที่ออสเตรีย และทางออสเตรียจะส่งเด็กจากสถาบันที่นู่นมาเรียนแลกเปลี่ยนกัน 2 คนในปีนี้ครับ ในส่วนของการได้ทุนมานั้น ผมต้องขอขอบพระคุณทางมหาวิทยาลัย และคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าน ผศ.ดร ฉัตรแก้ว เภาวิเศษ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษธุรกิจ รวมถึงอาจารย์ทุกๆ ท่าน เป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านได้มอบโอกาศอันยิ่งใหญ่ให้กับนักศึกษา ม.สวนดุสิต

การเรียนการสอนของที่นั่น

ผมก็จะไปเรียนอยู่ที่นั่น 5 เดือน คือประมาณ 1 เทอมการศึกษา ที่ไปนี้จะได้ไปเรียนในเรื่องของระบบการศึกษา การใช้ภาษา ครูระหว่างประเทศ เป็นการเรียนเบื้องต้น การเรียนก็จะไม่ได้เคร่งจนเกินไป ยังคงมีเวลาพักผ่อน เที่ยวเล่นบ้าง การเรียนของผมเองเช้าวันจันทร์ พุธ ศุกร์จะมีเข้าไปเรียนร่วมกันกับพาร์ทเนอร์ พาร์ทเนอร์ของผมก็จะเป็นเด็กมัธยมของที่นู่น

ก็จะเป็นการไปเยี่ยมชมโรงเรียน ดูว่าเขาสอนยังไง แตกต่างกับประเทศเรายังไง และในสิ้นเทอมเราก็มาทำสรุปสิ่งที่เราได้ไปเรียนรู้มา แต่ถ้าเป็นการเรียนปกติในแต่ละวันก็จะมีเรียนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 คาบเรียน คาบละ 3 ชั่วโมง เรียนก็จะเรียนอย่างตรงเวลา ไม่มีเลิกก่อน เลิกหลัง กริ่งดังเข้า กริ่งดังเลิก จะเป๊ะๆ เลย

อยู่ในห้องเรียนก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ จะไม่มีคำว่า ผิด ส่วนใหญ่เขาจะบอกว่า ถูก คำตอบนี้ใช้ได้นะ แต่ยังไม่ตรงกับเนื้อหา หรือความคิดอันนี้ดีนะ แต่มีเพิ่มเติมจุดไหน คือเขาจะไม่ปิดกั้น ไม่มีบอกว่าใช้ไม่ได้ หรือไม่ถูกต้อง เขาจะเปิดโลกให้เรามีมุมมองที่มากขึ้น พยายามที่จะเข้าใจนักศึกษา เข้ามาคุย ชวนกันไปคุยนอกห้องเรียนก็มี ช่วงเบรกอาจจะชวนกันไปดื่มกาแฟ แล้วคุยกันเป็นสไตล์กันเอง ไม่ถือตัวว่าตัวเองเป็นอาจารย์นะ

ส่วนที่ยากของการเรียน

จุดที่คิดว่ายากจะเป็นเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียน คือ เราเรียนที่ไทยเนื้อหาที่เรียนจะเป็นภาษาอังกฤษธุรกิจ แต่พอไปเรียนที่นู่นเป็นเรื่องของระบบการศึกษา เป็นครู เขาก็จะมีศัพท์เฉพาะที่แตกต่างกันกับที่เราเคยเรียน วิธีแก้ปัญหา คือ เมื่อเราไม่เข้าใจตรงไหนให้เข้าไปถามอาจารย์ผู้สอนเลย ผมเองก็มีเข้าไปถามในส่วนที่ติดขัด ขอคำแนะนำจากอาจารย์ ซึ่งอาจารย์เขาก็จะอธิบายให้เราดีมาก อธิบายจนกว่าเราจะเข้าใจ ถือเป็นจุดที่เขาใส่ใจเราดีมากๆ

กิจกรรมท่องโลกกว้าง

อย่างที่บอกว่าจะไม่ได้เรียนหนักมาก มีพักไปเที่ยวเล่นบ้าง เมืองเขาก็จะมีต้นไม้เยอะ ธรรมชาติ อากาศดี เหมือนเมืองหิมะสวยๆ เวลาไปทำ Activity อะไรเราก็จะไปเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เลย เป็นกลุ่มเพื่อนนักเรียนระหว่างประเทศไปเที่ยวด้วยกัน จะมีออกไปทำกิจกรรมทุกสัปดาห์ เขาจะพาเราไปชม Sightseeing ของเมือง พาไปดูวัฒนธรรมเมือง เทศกาลงานเต้น งานสำคัญต่างๆ ไปเรียนรู้ชมเหมือง ชมทะเลสาบ ร่องเรือชมวิว ดูหิมะ

ซึ่งถ้าเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีมของเขาก็จะเป็นไอซ์สกีที่ทะเลสาบ ช่วงที่ไปเป็นช่วงที่หนาวมากๆ ก็เลยอดเล่น แต่มีโอกาสได้ไปปีนเขา ปีนขึ้นไป 4 ชั่วโมง เดินลงมาก็อีก 4 ชั่วโมง ขึ้นไปแล้วเจอไร่องุ่น เขาก็ถามเรานะว่า เป็นยังไงบ้างสดชื่นมั้ย คือคนที่นั่นเขาเจอกิจกรรมแบบนี้บ่อยๆ แล้ว เขาก็รู้สึกดีไง แต่สำหรับเรามันก็เหนื่อยนะ (หัวเราะ) แต่อากาศดีจริง นอกจากนี้ก็มีกิจกรรมที่เป็นกลุ่มเพื่อนในคลาสชวนไป เพราะที่นี่วันจันทร์ถึงศุกร์เขาจะเรียนเต็มที่มาก แต่พอถึงคืนวันศุกร์ปุ๊บจะถึงเวลาเที่ยวทันที ไปเที่ยว ไปปลอดปล่อยเต็มที่

สไตล์วัฒนธรรมที่แตกต่าง

ที่นู่นเขาจะคนละอย่างกับประเทศเราเลย ไม่ค่อยมีศาสนาเยอะ เขาก็จะชวนเข้าโบสถ์ ถามว่ามีศาสนาอื่นมั้ย เขาก็มีนะ แต่ส่วนน้อยมาก วัฒนธรรมก็ต่างกันอยู่แล้ว ที่นั่นจะมีความอิสระเสรี อยากทำอะไรก็ทำ แต่ว่าสิ่งที่เขาทำก็จะไม่เป็นการรบกวนคนอื่น เขาก็จะเป็นคนพูดตรงๆ เขาจะไม่มีมาพูดอ้อมๆ พูดเกรงใจเหมือนคนไทย แต่เขาจะพูดออกมาตรงๆ เลย

ความประทับใจ

ประทับใจในบ้านเมืองของเขา ความเป็นธรรมชาติ อากาศดีๆ แล้วก็ประทับในบุคลากรของที่เรียน เพื่อนๆ ระหว่างประเทศที่ได้รู้จักกัน คือ เขาพยายามศึกษาวัฒนธรรมของเราเช่นกัน แล้วรู้ว่าวัฒนธรรมเราเป็นแบบนี้นะ เขาก็จะพยายามเทคแคร์เรา พยายามเข้าหา เข้าใจเรา อาจารย์ก็ให้ความรู้ ให้คำแนะนำเราแบบเป็นกันเองมากๆ ไม่ถือตัวเลย

ฝากถึงน้องๆ ที่ต้องการเรียนแลกเปลี่ยน

ก่อนไปก็ต้องเตรียมตัวที่จะไป ผมเองก็มีถามพี่ๆ ที่ไปเรียนที่นั่นเหมือนกัน จะคุยกับพี่ที่เรียนปริญญาเอกที่นู่น ซึ่งพวกพี่เขาจะเตรียมตัวกันดีมาก ตอนเขาไปก็ชิงทุนไปเอง เขาก็จะแนะนำเราในสิ่งที่เขาเจอ จะไม่ได้บอกเราทั้งหมด บอกเท่าที่บอกได้ เพราะแต่ละคนก็เจออะไรไม่เหมือนกัน เขาก็จะแนะนำการเรียน แนะนำเรื่องการเอาของใช้ไป เราจะใช้วิธีเข้าไปถามในกรุ๊ป Facebook นักเรียนแลกเปลี่ยนที่อยู่ที่นั่นบ้าง รู้จักกันไว้มีอะไรจะได้แนะนำกัน

 

จุดสำคัญเลย คือ น้องๆ ต้องมีความขยัน ต้องพูด ต้องกล้าที่จะแสดงออก รู้จักที่จะเรียนรู้ เข้าหาผู้คน เด็กไทยหลายๆ คนติดขี้อายไม่กล้าพูด กล้าคิด คืออยากให้พูดออกไปเลย อาจารย์และเพื่อนๆ ต่างชาติพร้อมที่จะเข้าใจเราอยู่แล้ว สมัยนี้แล้วไม่มีการมานั่งเหยียดกันแล้ว ค่อยๆ พัฒนาตัวเองไป ค่อยๆ ฝึกฝน ถ้าเรามีจุดมุ่งหมายก็ค่อยๆ ทำไปทีละขึ้น อย่าไปตั้งเป้าหมายไว้สูงเกิน พอทำไม่ได้แล้วจะไม่กล้าทำต่อ ให้ตั้งเป้าหมาย ความฝันของเราทีละนิดๆ แล้วจะรู้สึกว่ามันทำง่ายมากขึ้น

 

ติดตาม Show off อื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Campus Star No.47

Facebook : https://www.facebook.com/CampusStars