TCAS65 นิเทศศาสตร์ สจล สายวิทย์ สายศิลป์ เรียนต่ออะไรดี แนะแนวการศึกษา

เรียนไปไม่เอ้าท์ ! 10 หลักสูตร สจล. ตอบโจทย์เด็กสายวิทย์ – สายศิลป์ TCAS65

Home / ข่าวการศึกษา / เรียนไปไม่เอ้าท์ ! 10 หลักสูตร สจล. ตอบโจทย์เด็กสายวิทย์ – สายศิลป์ TCAS65

สำหรับในช่วงการรับสมัคร TCAS ในปีการศึกษา 2565 น้อง ๆ ระดับชั้นมัธยมศึกษา ที่กำลังเตรียมเลือกคณะที่มีสาขาหลากหลาย จนอาจตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะเลือกสาขาไหนดี เพื่อให้น้องๆ ทั้งเด็กสายวิทย์และสายศิลป์ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แนะนำคณะต่างๆ น่าเรียนใน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. นั่นเองมาดูกันว่า 10 หลักสูตร สจล. ที่น่าสนใจมีอะไรกันบ้าง

10 หลักสูตร สจล. ตอบโจทย์เด็กสายวิทย์และสายศิลป์

มาเริ่มกันที่ 5 สาขาแรกเอาใจสายวิทย์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

– 5 สาขา สายวิทย์ –

1. วิศวกรรมคอมพิวเตอร์

สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ตอบรับดีมานด์ในสนามธุรกิจยุคดิสรัปชัน

วิศวกรรมศาสตร์

ตอบรับดีมานด์ในสนามธุรกิจยุคดิสรัปชัน กับสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อขับเคลื่อนองค์กรภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจไทย หลักสูตรที่มาแรงแซงโค้งคงไม่พ้นหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นหลักสูตรที่ต้องอาศัยหลักการพื้นฐานทางวิศวกรรม และหลักการคํานวณเชิงตัวเลขคณิตศาสตร์ มีวิชาเลือกที่กำลังเป็นที่นิยมในวงการไอทีด้วย อาทิ Block chain, Machine learning และ AI อีกทั้งยังแบ่งเป็น 3 สายหลัก ที่สามารถเลือกได้ตามความสนใจ ได้แก่ 1. Software 2. Internet of thing หรือ hardware 3. Network สำหรับคนที่สนใจ ติดตามข้อมูลคณะเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ engineer.kmitl.ac.th

จบมาทำงานอะไร : วิศวกรคอมพิวเตอร์ วิศวกรเครือข่าย นักพัฒนาและออกแบบซอฟต์แวร์ โปรแกรมเมอร์

2. ครุศาสตร์

สาขาวิชาครุศาสตร์วิศวกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ปั้นครูวิศวกรคุณภาพ ทั้ง ‘เก่ง’ ทั้ง ‘เข้าใจ’

ครุศาสตร์

ปั้นครูวิศวกรคุณภาพ ทั้ง ‘เก่ง’ ทั้ง ‘เข้าใจ’ กับสาขาวิชาครุศาสตร์วิศวกรรม

สำหรับสาขานี้เป็นการบูรณาการณ์ความรู้จาก 2 สาขา ได้แก่ ความรู้ด้านครุศาสตร์ และความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยจะได้เรียนวิชาพื้นฐานด้านวิศวกรรม และวิชาเกี่ยวกับครุศาสตร์ที่สอดแทรกอย่างต่อเนื่อง ทั้งความรู้และทัศนคติของการเป็นวิชาชีพครู ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีสุดท้าย อีกทั้งยังสามารถเลือกแขนงวิชาที่สนใจ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคม ซึ่งเมื่อจบไปก็สามารถไปทำอาชีพครูสอนที่แตกต่างไป ตามศาสตร์ที่เลือกได้ หากสนใจ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ietech.kmitl และเว็บไซต์ www.ietech.kmitl.ac.th

จบมาทำงานอะไร : ครูหรืออาจารย์ประจำสถานศึกษา นักวิชาการ นักฝึกอบรม และสามารถต่อยอดเป็นวิศวกรได้

3. วิทยาการคอมพิวเตอร์

สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ อัพเกรดความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ มุ่งสร้างนักพัฒนาโปรแกรมอย่างมืออาชีพ

พัฒนาโปรแกรมอย่างมืออาชีพ กับ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์

ในยุคดิสรัปชันที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นหลักสูตรนี้จึงมีการพัฒนาขึ้นจากสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ทั่วไป โดยมีการผนวกศาสตร์จากวิชาอื่นๆ ที่จำเป็นเข้ามาด้วย คือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ เพื่อขยายขอบเขตการศึกษา ที่มุมเน้นสร้างนักพัฒนาโปรแกรมอย่างมืออาชีพ ทางด้าน Data Engineering, Data Science, AI, Big data ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดในยุคใหม่ โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.science.kmitl.ac.th

จบมาทำงานอะไร : นักพัฒนาเว็บ แอปพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ และระบบงานสารสนเทศต่างๆ วิศวกรรมข้อมูล นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล

4. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมอาหาร ยกระดับอาหารด้วยวิทยาศาสตร์

ยกระดับอาหารด้วยวิทยาศาสตร์ กับ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร

เน้นองค์ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการใช้ประโยชน์จากผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นสาขาวิชาที่ประยุกต์ความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในกระบวนการแปรรูปและถนอมอาหาร ซึ่งจะได้เรียนรู้แขนงวิชา อาทิ องค์ประกอบ และการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและกายภาพของอาหาร จุลชีววิทยาในอาหาร หลักการถนอมอาหารและแปรรูปอาหาร สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ foodindustry.kmitl.ac.th หรือติดตามข้อมูลข่าวสารที่ food.industry.kmitl

จบมาทำงานอะไร : ฝ่ายการผลิตด้านอุตสาหกรรมอาหาร นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักวิจัยและพัฒนา นักวิเคราะห์โครงการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร ในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอื่นๆ

5. เทคโนโลยีสารสนเทศ

สาขาวิชาวิทยาการข้อมูลและวิเคราะห์เชิงธุรกิจ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล

ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล กับ สาขาวิชาวิทยาการข้อมูลและวิเคราะห์เชิงธุรกิจ

สาขานี้จะได้เรียนแบบบูรณาการณ์ ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ ความน่าจะเป็นและสถิติ วิชาคอมพิวเตอร์ กลุ่มวิชาชีพเฉพาะด้าน วิทยาการข้อมูล วิเคราะห์เชิงสถิติ และวิศวกรรมข้อมูล โดยวิชาดังกล่าว สามารถนำมาต่อยอดในวิชาที่เป็นแก่นของสาขานี้ได้ อาทิ การบริหารโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศ การทำเหมืองข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ วิทยาการข้อมูลสำหรับธุรกิจ ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.it.kmitl.ac.th

จบมาทำงานอะไร : นักวิทยาการข้อมูล นักวิเคราะห์ข้อมูล วิศวกรข้อมูล วิศวกรการเรียนรู้ของเครื่อง นักพัฒนาแบบจําลองข้อมูล

– 5 สาขา สายศิลป์ –

สำหรับสถาบัน สจล. ที่นอกจากจะมีสาขาสายวิทย์ที่มีความหลากหลาย และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของน้องๆ หลายๆ คนแล้ว ก็ยังมีสาขาอื่นในสายศิลป์ที่น่าสนใจหลากหลายสาขา รองรับน้อง ๆ หัวครีเอทีฟ (Creative) ที่มีใจรักและสนใจ เรามาดูกันว่า 5 สาขายอดฮิตที่มีคะแนนการแข่งขันสูง มีอะไรบ้าง

6. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

· สาขาวิชาสถาปัตยกรรมหลัก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กับการวางผังอาคารอย่างมืออาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย

วางผังอาคารอย่างมืออาชีพ กับ สาขาสถาปัตยกรรมหลัก

อีกหนึ่งสาขายอดฮิตของสายครีเอทีฟ โดยสาขานี้เป็นศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบวางผังอาคาร องค์ประกอบทางกายภาพของอาคาร ส่วนประกอบอาคาร และสภาพแวดล้อมหรือการอนุรักษ์อาคาร อีกทั้งจะได้เรียนโปรแกรม SketchUp ใช้ในพื้นฐานการออกแบบต่างๆ ตั้งแต่สโคปเล็กถึงใหญ่ อาทิ โครงสร้างบ้าน อาคาร ตลอดจนโรงแรม ไม่เพียงเท่านี้! เมื่อเรียนจบจะได้รับ “วุฒิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต” สำหรับยื่นขอ “ใบประกอบวิชาชีพสถาปนิก” ได้ในอนาคต หากสนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.arch.kmitl.ac.th

จบมาทำงานอะไร : สถาปนิก งานที่ปรึกษา วางผัง ออกแบบอาคารและควบคุมงานการก่อสร้าง การเขียนแบบ สถาปัตยกรรม การออกแบบงานศิลปะ การออกแบบงานกราฟฟิกทั่วไป

7. นิเทศศาสตร์

· สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร ผลิตนักสื่อสาร พัฒนาวงการเกษตร

(ผลิตนักสื่อสาร พัฒนาวงการเกษตร กับสาขาวิชานิเทศศาสตร์)

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมสาขานิเทศศาสตร์ ถึงไปอยู่ในคณะเทคโนโลยีเกษตร จริง ๆ แล้วสาขานี้เป็นสาขาวิชาที่เป็นตัวกลางนำ ข้อมูล ความรู้ ข่าวสาร และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในวงการเกษตรทำการสื่อสารไปสู่เกษตรกรชุมชน และกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ได้รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ ผ่านทางสื่อและช่องทางรูปแบบต่าง ๆ ที่ทันสมัย

ซึ่งผู้เรียนจะได้รับองค์ความรู้ด้านการเกษตร และพื้นฐานด้านนิเทศศาสตร์ทุกด้าน อาทิ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิดีโอคอนเทนต์ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ กราฟิก สิ่งพิมพ์ สื่อดิจิทัล อีเว้นท์ สื่อสารองค์กร สื่อสารการตลาด สื่อสารชุมชน ฯ เพื่อให้นักศึกษาออกไปเป็นนักนิเทศศาสตร์ ที่มีพื้นความรู้แบบนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถถ่ายทอดเรื่องที่ยากให้ออกมาให้เข้าใจได้ง่ายนั่นเอง ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.agri.kmitl.ac.th หรือ Facebook คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล.

จบมาทำงานอะไร : งานด้านการสื่อสาร การผลิตสื่อ การส่งเสริมการเกษตร สิ่งแวดล้อมหรือชุมชน ในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และธุรกิจของตนเอง

8. บริหารธุรกิจ

หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต คณะการบริหารธุรกิจ ปั้นนักบริหารยุคดิจิทัล

นักบริหารยุคดิจิทัล กับ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต

หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (แขนงนวัตกรรมการจัดการอุตสาหกรรม และ แขนงการจัดการและการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม) มุ่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ หลักวิชาการพื้นฐานทางบริหารธุรกิจ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง สามารถบูรณาการองค์ความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้จริง ภายใต้การกำกับดูแลของคณะ ที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียน ให้เป็นผู้ประกอบการและนักบริหารรุ่นใหม่ โดยมีความรู้และทักษะ ด้านการจัดการและบริหารธุรกิจ มีทักษะการพูด การเขียน การนำเสนอผลงานและการทำงานเป็นทีม พร้อมก้าวสู่การเป็นนักบริหารธุรกิจรุ่นใหม่อย่างเป็นมืออาชีพ

นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรที่น่าสนใจ ประกอบด้วย หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการระดับโลก (หลักสูตรนานาชาติ) หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการระดับโลก (หลักสูตรนานาชาติ) หากสนใจเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kbs.kmitl.ac.th/home

จบมาทำงานอะไร : ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้บริหาร อาจารย์ นักวิชาการ และนักวิจัย โดยสามารถทำงานทั้งในองค์กรภาครัฐ และเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร

9. การท่องเที่ยวและการบริหาร

สาขาวิชานวัตกรรมการท่องเที่ยวและบริหาร คณะศิลปศาสตร์ กับการยกระดับการท่องเที่ยว

ยกระดับการท่องเที่ยว กับสาขาวิชานวัตกรรมการท่องเที่ยวและบริหาร

ผู้ที่ศึกษาในสาขานี้ จะเรียนเรื่องการท่องเที่ยวและการโรงแรม เน้นองค์ความรู้ด้านการบริการ อาทิ พฤติกรรมนักท่องเที่ยว ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร สังคมและวัฒนธรรมไทย ฯลฯ นอกจากจะได้เรียนทั้งเชิงทฤษฎีแล้ว ยังมีการเรียนเชิงปฏิบัติให้ได้ประสบการณ์และความสนุก อาทิ การจัดงานและการประชุม ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การ

คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ la.kmitl.ac.th/th

จบมาทำงานอะไร : มัคคุเทศก์ พนักงานบริษัทจัดนำเที่ยว พนักงานโรงแรม พนักงานสายการบิน ภาครัฐ และเอกชน

10. ครุศาสตร์สถาปัตยกรรม

สาขาวิชาครุศาสตร์สถาปัตยกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เร่งผลิตครูสถาปัตฯ คุณภาพ รับเด็กยุคใหม่

เร่งผลิตครูสถาปัตฯ คุณภาพ รับเด็กยุคใหม่ ที่สาขาวิชาครุศาสตร์สถาปัตยกรรม

เนื่องจากสถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของชาติ สาขานี้จึงเป็นการปั้นบุคลากรที่จะมาให้ความรู้ เพื่อต่อยอดไปสู่เด็กรุ่นต่อๆไป โดยผู้เรียนจะได้เสริมสร้างทักษะด้านสถาปัตยกรรม ในการออกแบบอาคารขนาดใหญ่ ทั้งทางด้านโครงสร้างวิศวกรรม งานระบบอาคาร และสามารถเขียนแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และฝึกฝนให้มีทักษะด้านวิชาชีพครู ทั้งเรื่องการสอนและทัศนคติในวิชาชีพ รวมถึงสามารถประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม และยังสามารถเป็นนักวิชาการ โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.ietech.kmitl.ac.th

จบมาทำงานอะไร : ครู หรืออาจารย์ผู้สอนในสถานศึกษา สถาปนิก นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ปรึกษาและประสานงานด้านงานสถาปัตยกรรม ผู้ประมาณราคางานออกแบบสถาปัตยกรรม

ทั้งนี้ สจล. จึงเป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษา ที่มีคณะและสาขาที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์เด็กยุคใหม่ ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ อีกทั้งยังมีการปรับหลักสูตร ให้ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน ในปัจจุบัน สำหรับน้อง ๆ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ที่กำลังมองหาสถาบันศึกษาต่อ แต่ยังไม่รู้ว่าเลือกคณะและเลือกสาขาไหน หวังว่าข้อมูลนี้จะทำให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

สำหรับใครที่สนใจศึกษาต่อที่สจล. ในช่วงนี้มีการเปิด TCAS65 สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ new.reg.kmitl.ac.th/admission

บทความแนะนำ