สจล

4 นวัตกรรมแห่งโลกยุคใหม่ K-Engineering World Tour & Workshop 2022

Home / กิจกรรม / 4 นวัตกรรมแห่งโลกยุคใหม่ K-Engineering World Tour & Workshop 2022

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เผยเทรนด์ 4 นวัตกรรมแห่งโลกยุคใหม่ที่ผู้คนทั้งโลกจะต้องเผชิญ ได้แก่ กลุ่มนวัตกรรมไฟฟ้า พลังงาน และ IoT กลุ่มนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ กลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และกลุ่มนวัตกรรมอาหารและเกษตรกรรม ซึ่งล้วนแต่เป็นนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดียิ่งขึ้น

4 กลุ่มนวัตกรรมแห่งอนาคต

โดย สจล. นำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ล้ำสมัยที่ตอบโจทย์เทรนด์ 4 นวัตกรรมแห่งอนาคต อาทิ รถไฟไทยทำ รถไฟฟ้า Unicon เสาไฟอัจฉริยะ สามล้อไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ RAIBO – X เครื่องฟังตรวจดิจิทัล ตู้จ่ายยาอัจฉริยะ และอีกมากมาย มาจัดแสดงในงาน K-Engineering World Tour & Workshop 2022 ซึ่งเป็นการแสดงผลงานนวัตกรรม โครงงาน และผลงานวิจัยทางวิศวกรรมของคณาจารย์ และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2565 มีผู้เข้าชมงานจำนวนราว 20,000 คน เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ สจล. สู่การเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมระดับโลก

KMITL High Flow เครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูง

รศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า สจล. โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดโครงการ K-Engineering World Tour and Workshop 2022 ขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยน เผยแพร่ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ของนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ต่อสาธารณชนในวงกว้าง และยังเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ และการวิจัยระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ กับคณะอื่นๆ ภายใน สจล. และหน่วยงานภายนอก เช่น ภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายผู้ประกอบการ เป็นต้น

ปุ่มลิฟต์ไร้สัมผัส

โดยโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และเป็นโครงการที่มีองค์กร หน่วยงาน ประชาชนเฝ้าติดตามชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก โดยในปีนี้ มีผลงานวิจัยที่ผ่านเข้ารอบนำมาจัดแสดงจำนวนกว่า 200 ผลงาน จาก 4 กลุ่มนวัตกรรม ได้แก่ กลุ่มนวัตกรรมไฟฟ้า พลังงาน และ IoT กลุ่มนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ กลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และกลุ่มนวัตกรรมอาหารและเกษตรกรรม ซึ่งทุกผลงานวิจัยที่นำมาจัดแสดงล้วนเป็นแนวคิด สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

นักวิจัยนวัตกรรมเสาไฟอัจฉริยะ

กลุ่มนวัตกรรมไฟฟ้า พลังงาน และ IoT

รถไฟไทยทำรถไฟโดยสารต้นแบบ ตามนโยบายกระทรวงคมนาคมในโครงการ “ไทยเฟิร์ส” ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศ ซึ่งรถไฟไทยทำผ่านการทดสอบมาตรฐานตามระดับสากลแล้ว

เสาไฟเอไอมัลติฟังก์ชัน เสาไฟอัจฉริยะ สามารถเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ (Server) ประมวลผลด้วยระบบเอไอ (AI) ที่มาพร้อมเซนเซอร์ช่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศ พร้อมตรวจจับความหนาแน่น และแยกประเภทยานพาหนะบนท้องถนนได้แบบเรียลไทม์ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูล (Big Data) นำไปใช้เป็นแนวทางการบริหารพื้นที่ทางกายภาพ อาทิ การจัดระเบียบการจราจร จำกัดจำนวนยานพาหนะที่ปล่อยควันพิษ เพื่อลดปริมาณฝุ่นบนท้องถนน เตรียมพร้อมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคต

รถ EV Unicon

รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า Unicon รถโดยสารที่พัฒนาโดยวิศวกรคนไทยทุกขั้นตอน ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานน้ำมัน ช่วยลดมลพิษทางอากาศ สามล้อไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการทางการเคลื่อนไหว ออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานของผู้สูงอายุและคนพิการเป็นหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุและคนพิการ สามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป

หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ RAIBO – X เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ฝีมือคนไทยที่สร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ด้วยแสง UV-C ในรัศมี 1 – 1.5 เมตร ทำงานด้วยระบบเอไอ (AI) มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสิ่งมีชีวิตหรือเชื้อโรคขนาดเล็ก อาทิ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ

อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพแบบพกพา

กลุ่มนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ กลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ

เครื่องฟังตรวจดิจิทัล ช่วยฟังเสียงหัวใจและเสียงปอดแบบดิจิทัล พร้อมระบบวิเคราะห์โรคและความผิดปกติเบื้องต้น ด้วยระบบเอไอ (AI) สามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบแพทย์ทางไกลได้ ตู้จ่ายยาอัจฉริยะ ลดขั้นตอนการจ่ายยาจากเดิมที่ต้องต่อคิวรับยาจากเคาน์เตอร์จำหน่ายยา เปลี่ยนเป็นการรับที่ตู้จำหน่ายยาแทน ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดขั้นตอนการอธิบายวิธีใช้ยา โดยผู้รับยาสามารถใช้แอปพลิเคชันแสกนซองยา เพื่อดูวิธีการใช้ยาตามแพทย์สั่ง เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สามารถใช้ร่วมกับระบบการแพทย์ทางไกลได้

การพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยโรค ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Chatbot) แอปพลิเคชันที่ช่วยจัดการดูแลสุขภาพระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการทางกาแพทย์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และจะเป็นเครือข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ด้านสุขภาพของคนไทย

อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพแบบพกพา อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่พัฒนาโดยคนไทย สามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดอัตราการหายใจ วัดปริมาณออกซิเจนในเลือด วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และวัดค่าความดันโลหิต แสดงผล ควบคุม และสั่งการได้ผ่านแอพพลิเคชัน

กลุ่มนวัตกรรมอาหารและเกษตรกรรม

ชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อ เพื่อธนาคารผลไม้เคลื่อนที่ ต้นแบบชุดโรงงานกระบวนการแปรรูปผลไม้ตัวต่อที่เหมาะสมกับพื้นที่ ความต้องการของชุมชน และรองรับข้อกำหนดตามหลักมาตรฐาน GMP เครื่องตรวจวัดความสุกแก่ของทุเรียนหมอนทอง ใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดมัลติสเปกตรัลอิเมจ เพื่อแยกระดับคุณภาพของเนื้อทุเรียนบนสายพานลำเลียง

เครื่องตัดอ้อยสด

เครื่องตัดอ้อยสดพร้อมสางใบ แบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ พัฒนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งมอบให้เกษตรกร สามารถตัดอ้อยสด 6-8 ไร่ หรือ 60-80 ตัน/วัน สามารถสางใบส่วนยอดอ้อย 80%

ระบบตรวจติดตามการระบาดศัตรูพืช พัฒนาระบบ AI วินิจฉัยโรคร่วมกับข้อมูล Weather Station พร้อมใช้ระบบฐานข้อมูล Cloud Big data และแสดงการระบาดครอบคลุมการใช้งานทั่วประเทศด้วยระบบ Google Map ระบบตรวจสอบคุณภาพข้าวและสายพันธ์ข้าวด้วยปัญญาประดิษฐ์ สร้างระบบตรวจสอบคุณภาพข้าวที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำสูง ลดต้นทุน และประหยัดเวลาในการตรวจสอบคุณภาพข้าว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงภายในงาน K-Engineering World Tour and Workshop 2022 ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดนวัตกรรมทั้งหมดได้ที่ http://online.anyflip.com/ppflf/ukqu/mobile/

ระบบการจัดตารางเดินรถไฟ

ภายในงาน – กิจกรรมและการเสวนา

ภายในงาน ยังมีกิจกรรมและการเสวนาเพื่อให้ความรู้ที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งกิจกรรม Open Academic World Tour เปิดบ้านทำความรู้จักหลักสูตรต่างๆ ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั้งหลักสูตรปกติ หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรนานาชาติ พร้อมทั้งเยี่ยมชมการเรียนการสอนในแต่ละภาควิชา กิจกรรม Open Academic World Workshop กับกิจกรรมทดลองสัมผัสการเรียนรู้กับอาจารย์ตัวจริงในหลักสูตร พร้อมทั้งกิจกรรมบรรยายแนะนำการรับสมัครและการเตรียมตัวสำหรับรอบ TCAS 66 และรอบ Direct Admission 66 ของหลักสูตรนานาชาติ

ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง อนาคตระบบรางไทย โอกาสและความท้าทายงาน วิศวกรรมศาสตร์กับการพัฒนาภาคเกษตร และความร่วมมือเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ระบบรางระหว่าง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ปิดท้ายด้วยเสวนาทางวิชาการ Digital Transformation for Engineering and Technology: Needs and Trends in the Future พูดคุยถึงเทรนด์ของวิศวกรรมศาสตร์ในอนาคตในยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา

ด้าน รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า งานแสดงผลงาน K-Engineering World Tour and Workshop 2022 ได้รับความสนใจเป็นอย่างดี มีผู้เข้าชมงานจำนวนราว 20,000 คน ตลอดระยะเวลา 3 วันของการจัดงาน ซึ่งการนำเสนอผลงานนวัตกรรมของนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์ ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการพัฒนานวัตกรรมของ สจล. ไปสู่การเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมระดับโลก ด้วยนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพชีวิต ที่สะดวกสบายขึ้นของผู้คน

พิธีเปิด K-Engineering World Tour Workshop

นอกจากนี้ นวัตกรรมยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจในประเทศได้อีกด้วย สำหรับการพัฒนานวัตกรรมของ สจล. จะไม่หยุดเพียงแค่นี้ สจล.มีแผนในการปรับหลักสูตรให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของโลกในปัจจุบัน เพื่อผลิตนักศึกษาให้เป็นประชากรโลกตามนโยบาย Global Citizen และยังส่งเสริมให้นักศึกษาพัฒนาไอเดียเพื่อต่อยอดนวัตกรรมตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เพื่อก้าวสู่การเป็นแนวหน้าด้านงานวิจัย และนวัตกรรม ตามแนวทางนโยบาย Global Innovation ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายหลัก คือ Global Innovation Index

3D Strereographic colposcope

ด้าน ศ. พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายกสภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายการพัฒนาและปฏิรูประเทศโดยมุ่งไปสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” (Innovation Nation) สามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งระบบนวัตกรรม สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรม สร้างคุณค่าใหม่ทางนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม

ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ของสจล. ในการเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมระดับโลก (The World Master of Innovation) ที่มีจุดแข็งในการเป็นผู้นำด้านงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างประโยชน์ให้สังคม เป็นหลักในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ

เครื่องฟังตรวจดิจิทัล

การแสดงผลงาน K-Engineering World Tour & Workshop 2022 ในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของคณาจารย์ บุคลากรทุกฝ่าย รวมทั้งนักศึกษา ที่มีแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมที่บูรณาการองค์ความรู้หลายด้าน ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปศาสตร์ และศาสตร์หลายแขนง จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่ ตอกย้ำ ภาพลักษณ์ของสจล. ที่นอกจากจะเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมระดับโลก ยังเป็นสถาบันที่ผลิตบุคลากรคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด

ทั้งนี้ งานแสดงผลงาน K-Engineering World Tour & Workshop 2022 จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ หรือ www.facebook.com/kmitlofficial

บทความแนะนำ