สจล

รีวิว 4 สาขามาแรง ผลิตนักศึกษา เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจแห่งอนาคต – สจล.

Home / ข่าวการศึกษา / รีวิว 4 สาขามาแรง ผลิตนักศึกษา เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจแห่งอนาคต – สจล.

รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า เมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านพ้นไปสถานการณ์การต่างๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ทั้งการเรียนการสอน การค้าขาย การเดินทาง การบริการ กลุ่มธุรกิจที่จะมาแรงยุคโพสต์โควิด (Post COVID-19) อาทิ ธุรกิจการท่องเที่ยว สินค้านวัตกรรม ธุรกิจนิทรรศการ-คอนเสิร์ต ธุรกิจเกษตร ฯลฯ ดังนั้นจากโอกาสดังกล่าว จะทำให้สายอาชีพในหลายๆ สาขาจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สจล. พารีวิว 4 สาขามาแรง

ผลิตนักศึกษา ตอบโจทย์ธุรกิจแห่งอนาคต

โดยจะมี 4 กลุ่มอาชีพที่จะมีความน่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านวัสดุ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ กลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตร รวมไปถึงกลุ่มวิศวกรรมด้านเสียงและดนตรี โดย สจล. ได้พัฒนาหลักสูตร คณาจารย์ รวมถึงอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย เพื่อผลิตผู้ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะผ่าน 4 คณะและวิทยาลัย ประกอบด้วย

1. วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ

ผศ.ดร.วิภู ศรีสืบสาย คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ เปิดเผยว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ เป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย ที่ได้จัดตั้งสาขาวิชานาโนวิทยาและนาโนเทคโนโลยี ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปริญญาตรีตลอดจนปริญญาเอก เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร ด้านนวัตกรรมวัสดุ โดยเฉพาะนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย นอกจากนั้นยังเป็นที่เดียวในประเทศไทย ที่มีห้องปฏิบัติการด้านนวัตกรรมนาโนที่ทันสมัย แบบเดียวกับที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ในสถานศึกษา

ต่อมาได้มีการพัฒนาหลักสูตร ที่ครอบคลุมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ เพื่อวิจัยสร้างวัสดุใหม่ พัฒนาวัสดุเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น อาทิ การผลิตแผ่นฟิล์มที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จนมีขนาดเล็กกว่า 1 อะตอม รวมถึงงานวิจัยอื่นๆ อีกมากมาย เช่น นวัตกรรมเทสเตอร์ยาฆ่าแมลงขนาดจิ๋ว ตรวจสอบยาฆ่าแมลงตกค้างในผักได้ด้วยนาโนเทคโนโลยี นวัตกรรมกระเป๋าเป้ชาร์จไฟในขณะเดินทาง ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรม โดยกระทรวงพลังงาน

บัณฑิตจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สามารถประกอบอาชีพต่างๆ มากมายอาทิ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกรวัสดุ วิศวกรควบคุมการผลิต วิศวกรควบคุมคุณภาพ วิศวกรการขาย นักวิจัยและพัฒนา รวมถึงการนำความรู้มาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่หรือเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เดิมในการทำธุรกิจ เป็นต้น

2. คณะเทคโนโลยีการเกษตร

ผศ.ดร.ธงชัย พุฒทองศิริ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีการเกษตรมุ่งยกระดับเกษตรกรรมไทยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ในปี พ.ศ. 2564 ได้ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นรูปแบบโมดูล (Modular System) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของตน ตามกลุ่มวิชาในลักษณะโมดูล (Module)

มีห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แว่นตาส่องฟาร์มวีอาร์(Virtual Reality) นั่งอยู่กับที่ก็สามารถตรวจตราผลผลิตในฟาร์มได้ นอกจากนั้นยังเปิดให้นักศึกษาที่มีผลผลผลิตทางการเกษตรมีช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตคุณภาพผ่านร้านฟาร์มเจ้าคุณ by KMITL สนับสนุนนักศึกษาในการเป็นเจ้าของกิจการด้านธุรกิจเกษตรแบบครบวงจร

คณะเทคโนโลยีการเกษตรเป็นที่แรกของไทยที่มีโครงการ 2 ปริญญา Agrinovator (ระดับปริญญาตรี) ใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี แต่ได้รับวุฒิถึง 2 วุฒิ คือ วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) การจัดการสมาร์ตฟาร์ม และ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ในรูปแบบสหวิทยาการทั้งด้านเกษตรศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์

นอกจากนั้นยังมีสาขาวิชาอื่นๆ เช่น สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์  สาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์น้ำและการจัดการทรัพยากรการประมง สาขาวิชาการออกแบบและการจัดการภูมิทัศน์เพื่อสิ่งแวดล้อม สาขาวิชานิเทศศาสตร์เกษตร สาขาวิชาพัฒนาการเกษตร สาขาวิชาการจัดการสมาร์ตฟาร์ม

คณะเทคโนโลยีการเกษตร ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นด้านการเพาะปลูกและทำปศุสัตว์เท่านั้น แต่ยังมีสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อยกระดับวิชาชีพเกษตรกรรม อาทิ ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้เครื่องมือ และกลวิธีการสื่อสารเพื่อให้ความรู้ด้านเกษตร การใช้ความรู้ด้านพันธุ์ไม้ ในการจัดตกแต่งสถานที่ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงนักวิชาการด้านเกษตรทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

บัณฑิตจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร ไม่เพียงแต่นำความรู้ไปใช้สืบทอดการทำเกษตร จากครอบครัวในพื้นที่ต่างจังหวัดเท่านั้น ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานักศึกษาที่อยู่ในเขตเมืองเช่นกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็ได้นำความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรไปใช้สร้างงานสร้างอาชีพมากมายหลังจบการศึกษา อาทิ เพาะเลี้ยงกล้าไม้พืชเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมสร้างรายได้จำนวนมาก ยูทูบเบอร์ด้านการเกษตร เป็นนักออกแบบภูมิทัศน์ นักออกแบบนิทรรศการ ผู้ประกอบการด้านออกแบบจัดสวน นักวิชาการด้านเกษตรในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นผู้จัดการสมาร์ตฟาร์ม สัตวบาล ตลอดจนเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสัตว์น้ำขนาดเล็ก แปรรูปเนื้อสัตว์ เป็นต้น

3. วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ

ผศ.ดร.เสริมศักดิ์ อยู่เย็น คณบดี วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ เปิดเผยว่าวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ ประกอบไปด้วยสาขาวิชาต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกสายอาชีพด้านอุตสาหกรรมการบิน อาทิ หลักสูตรวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ เพื่อผลิตนักบินป้อนตลาดสายการบินที่จะกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สงบลง หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านโลจิสติกส์ครอบคลุมทุกด้าน

ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและด้านการบริหาร เพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศและหลักสูตรล่าสุดที่มุ่งสร้างคนไทยสู่เส้นทางสร้างนวัตกรรมทางอากาศอย่างเต็มตัวกับหลักสูตรนวัตกรรมการบินอวกาศที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เลือกเรียนสาขาที่สนใจได้แบบยืดหยุ่น 3 สาขาได้แก่ วิศวกรภาคพื้นดินที่สนับสนุนด้านการบิน นวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และวิศวกรด้านอวกาศ

นักศึกษาจะได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงกับเครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย โดยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น Airbus ผู้นำด้านอากาศยานระดับโลกในหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับวิศวกรรมการบินรุ่นใหม่ในชื่อ “ACT for Academy” (Airbus Competence Training (ACT) for Academy) ซึ่งมีเพียงสถานศึกษาเดียวในไทยและ 1 ใน 8 ของโลกเท่านั้น ที่ได้รับการสนับสนุนหลักสูตรดังกล่าว

วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ ยังมีกิจกรรมระหว่างเรียนอีกมากมาย อาทิ กิจกรรมการส่งโดรนพิเศษไปบินที่ขอบอวกาศ ซึ่งสถานศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทยที่ให้นักศึกษาได้ทดลอง กิจกรรมสถานีภาคพื้นดิน เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทดลองรับสัญญาณจากดาวเทียมในวงโคจรติดต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS การทดสอบการออกแบบเครื่องบิน โดรน และยานบินต่างๆ กับอุโมงค์ลมที่ทันสมัย ฯลฯ

บัณฑิตจากวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สามารถต่อยอดเป็นนักบินในหน่วยงานต่างๆ ผู้จัดการเที่ยวบิน วิศวกรปฏิบัติการการบิน นักบินอิสระ นักโลจิสติกส์การบิน นักวิเคราะห์ด้านโลจิสติกส์ นักวางแผนฝูงบินและฝูงยานพาหนะ เจ้าหน้าที่ขนส่งสินค้าทางอากาศ นักวางแผนเครือข่ายและเส้นทางการขนส่ง รวมถึงวิศวกรภาคพื้นดินที่สนับสนุนด้านการบินได้ วิศวกรโดรน วิศวกรอวกาศ เป็นต้น

4. วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต

ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต เผยว่าวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการประยุกต์ความรู้ศาสตร์วิศวกรรมทางด้าน วิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สื่อสาร/โทรคมนาคม เข้ากับศิลปะ อาทิ ดนตรี เสียง ในคอนเสิร์ต ในภาพยนตร์และแอนิเมชัน ฯลฯ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ

มีห้องปฏิบัติการ Immersive Sound ห้องมิกซ์เสียงในสถาบันการศึกษาแห่งแรกของอาเซียน สามารถฟังเสียงได้รอบทิศทาง 360 องศา เช่นเดียวกับสตูดิโอชั้นนำของต่างประเทศ นักศึกษาจะได้ใช้ห้องนี้เรียนรู้เพิ่มทักษะ และสร้างผลงานของตัวเอง โดยสามารถนำไป On Air ใน Streaming Services ได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังเป็นที่แรกในอาเซียนที่ได้จัดตั้งหลักสูตรด้านอะคูสติกโดยเฉพาะ

วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีตไม่เพียงผลิตบุคลากรด้านเสียงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมบันเทิงเท่านั้น ยังมุ่งวิจัยเพื่อใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมด้านเสียงมาให้ความรู้กับสังคมเกี่ยวกับเสียง อาทิ แนวทางการออกแบบอาคารเพื่อช่วยลดการเกิดมลภาวะด้านเสียงให้กับชุมชน การพัฒนาเครื่องดนตรีไทยให้มีมาตรฐานระดับเดียวกับเครื่องดนตรีสากล การวิจัยวัสดุซับเสียงที่เหมาะสมกับการใช้ในห้องบันทึกเสียงโดยฝีมือนักศึกษา เป็นต้น

บัณฑิตจากวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีตสามารถต่อยอดเป็นวิศวกรที่ทำงานด้านซาวด์เอนจิเนียร์ (Sound Engineer) ในการคอนเสิร์ตและละครเวที ผู้ผลิตเสียงที่ใช้ในงานโฆษณา ภาพยนตร์ แอนิเมชันและเกม วิศวกรสถานีวิทยุและโทรทัศน์ วิศวกรรมความปลอดภัยทางเสียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์ วิศวกรด้านระบบเสียงในรถยนต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สจล. ยังมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย อาทิ ห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับนักศึกษาว่าจะได้ฝึกประสบการณ์จากปฏิบัติ ทำให้มีความพร้อมในการทำงานจริงหลังเรียนจบ ในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็มั่นใจได้ว่าจะมีบุคลากรที่มีทักษะเพียงพอรองรับการขยายตัวในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่า สจล. เป็นสถาบันที่มีวิสัยทัศน์ในการนำรากฐานด้านนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นมาต่อยอดในการสร้างบุคลากรด้านต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยในเวทีเศรษฐกิจโลกได้ รศ. ดร.อนุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kmitl.ac.th/th โทร. 02-329-8111 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของสถาบันได้ที่ www.facebook.com/kmitlofficial

ภาพประกอบบทความ

บทความแนะนำ