Stockholm Junior Water Prize การประกวด การอนุรักษ์น้ำ งานวิจัย เด็กเก่ง

เด็กไทยเก่ง! คว้ารางวัลชนะเลิศผลงานวิจัยอนุรักษ์น้ำ Stockholm Junior Water Prize 2016

Home / ข่าวการศึกษา / เด็กไทยเก่ง! คว้ารางวัลชนะเลิศผลงานวิจัยอนุรักษ์น้ำ Stockholm Junior Water Prize 2016

ขอแสดงความยินดีกับเด็กเก่งทั้งสามคนด้วยค่ะ ได้แก่ น.ส.สุรีย์พร ตรีเพชรประภา น.ส.ธิดารัตน์ เพียร และ น.ส.กาญจนา คมกล้า กับรางวัลชนะเลิศในการประกวด Stockholm Junior Water Prize ที่เมืองสตอกโฮม ประเทศสวีเดน ในผลงานที่มีชื่อว่า “นวัตกรรมการกักเก็บน้ำเลียนแบบธรรมชาติ สับปะรดสี” ปรบมือให้รัวๆ เลยค่ะ

สุดยอด! นวัตกรรมการกักเก็บน้ำเลียนแบบธรรมชาติ สับปะรดสี

สุดยอด! นวัตกรรมการกักเก็บน้ำเลียนแบบธรรมชาติ สับปะรดสี

ซึ่งทางด้านผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คุณพรพรรณ ไวทยางกูร ได้ออกมาเปิดเผยว่า การประกวดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่แสดงถึงนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาทั่วโลก ในงานที่มีชื่อว่า “Stockholm Junior Water Prize” ที่จัดขึ้น ณ เมืองสตอกโฮม ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – วันที่ 1 กันยายน 2559 ได้ส่งตัวแทนเด็กไทยทีมชนะเลิศใน ปี 2559 ที่จัดขึ้นในประเทศไทย คือ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ไปร่วมการแข่งขันในงานนี้ โดยมีผลงานชื่อว่า “นวัตกรรมการกักเก็บน้ำเลียนแบบธรรมชาติ สับปะรดสี” เป็นผลงานของ น.ส.สุรีย์พร ตรีเพชรประภา น.ส.ธิดารัตน์ เพียร และ น.ส.กาญจนา คมกล้า โดยมีนางสุวารี พงศ์ธีระวรรณ และนายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ปรากฏว่าผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งเป็นปีแรกของประเทศไทย และได้รับเกียรติอย่างสูงจากเจ้าฟ้าชายคาร์ล ฟิลิป แห่งสวีเดน เป็นผู้ประทานรางวัลอีกด้วย

สุดยอด! นวัตกรรมการกักเก็บน้ำเลียนแบบธรรมชาติ สับปะรดสี

โดยผลงานวิจัย “นวัตกรรมการกักเก็บน้ำโดยเลียนแบบสับปะรดสี” เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งสังเกตจากรูปทรงของสับปะรดสีที่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทีมผู้วิจัยได้เลือกสับปะรดสีพันธุ์เอคมี อะคูลีโทเซพาลา มาใช้ในการทำการทดลอง เนื่องจากเป็ยสับปะรดที่กักเก็บน้ำได้ดี แล้วจากการศึกษาทางกายภาพของต้นสับปะรดดังกล่าวก็พบว่า มีส่วนในการดักจับน้ำได้หลายส่วนเลยทีเดียว ได้แก่

1. แผ่นใบ ที่มีขอบใบทั้งสองข้างบางกว่าบริเวณกลางใบทำให้แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปตัวยูเหมือนรางน้ำ น้ำไหลไปกักเก็บที่แอ่งระหว่างกาบใบ

2. หนามเล็กๆ บริเวณรอบใบ บิดเป็นมุม 50 องศากับขอบใบ ช่วยดึงน้ำที่อยู่ห่างจากขอบใบในระยะ 2 มิลลิเมตร ให้เข้ามาในใบได้

3. ผิวใบด้านหน้าใบและหลังใบช่วยให้น้ำไหลลงไปรวมกันที่รางรับน้ำ เนื่องจากแรงยึดติดระหว่างน้ำกับผิวใบมากกว่าแรงเชื่อมแน่นของน้ำ

นอกจากนี้ส่วนกักเก็บน้ำของสับปะรดสีเอคมี อะคูลีโทเซพาลา ยังเกิดจากใบเรียงเหลื่อมซ้อนกัน กาบใบด้านล่างจะกว้างออก ขอบใบบางมีลักษณะเป็นแอ่งกักเก็บน้ำทรงกรวยตรงกลางลำต้น และระหว่างซอกใบทุกใบก็สามารถเก็บน้ำได้ ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่าภาชนะทรงกรวยที่มีขนาดเท่ากันถึง 17.28% กันเลยทีเดียว

สุดยอด! นวัตกรรมการกักเก็บน้ำเลียนแบบธรรมชาติ สับปะรดสี

จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการกักเก็บน้ำของสับปะรดสีพันธุ์ เอคมี อะคูลีโทเซพาลา รวมถึงการสังเกตพบว่า ช่วงเวลากลางคืนจะมีหยดน้ำเกาะตามแผ่นสังกะสีเคลือบอะลูมิเนียมมุมหลังคาบ้าน จึงได้นำมาเป็นต้นแบบสร้างอุปกรณ์ในการกักเก็บน้ำเลียนแบบสับปะรดสี โดยประดิษฐ์จากแผ่นอะลูมิเนียม เนื่องจากแผ่นอะลูมิเนียมมีการจุความร้อนน้อยในช่วงเวลากลางคืน เมื่อไอน้ำในอากาศมากระทบจึงกลั่นตัวเป็นหยดน้ำได้ง่าย เมื่อนำชุดอุปกรณ์นี้ไปใช้จริง โดยติดตั้งบนต้นยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย ต่อสายน้ำเกลือปักลงในดินห่างจากโคนต้น 1 เมตร พบว่า ความชื้นในดินที่ใช้ชุดอุปกรณ์จะมีค่าสูงกว่าความชื้นในดินที่ไม่ใช้ชุดอุปกรณ์ และไม่รดน้ำ 17.65 เปอร์เซ็นต์ และมีความชื้นในดินใกล้เคียงกับการรดน้ำตามปกติ ซึ่งน้อยกว่ารดน้ำปกติ 9.80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ต้นยางพาราที่ใช้ชุดอุปกรณ์สามารถให้ผลผลิตสูงกว่าไม่ได้ใช้ชุดอุปกรณ์ 57.50 เปอร์เซ็นต์ ด้วยราคาต้นทุนชุดละ 25 บาท เมื่อนำไปใช้กับต้นยางพาราเพียง 6 วัน ก็จะคุ้มราคาทุน

—————————————————

ที่มา : http://www.matichon.co.th/news/270360