ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดีด้านวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเปิดเผยถึง โครงการให้โควตาแก่นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม เข้าศึกษาต่อคณะต่างๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 80 คน ในปีการศึกษา 2561 ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรก เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เคยมีโครงการในลักษณะนี้กับโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มาก่อน ในอดีตมีเพียงแค่โครงการในลักษณะพิเศษที่เปิดให้เท่านั้น เช่น โครงการชายแดนใต้ โครงการพัฒนากีฬา และความร่วมมือกับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เป็นต้น
จุฬาฯ เผยให้โควตา นร.สาธิตจุฬาฯ เป็นครั้งแรก
โดยการให้โควตาแก่นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ในครั้งนี้เป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกำหนดให้ในปีการศึกษา 2561 มีการปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเป็นระบบใหม่ คือ TCAS (Thai university Central Admission System) ซึ่งแบ่งการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุมศึกษา ออกเป็น 5 รอบด้วยกัน ได้แก่
รอบที่ 1 เป็นการรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) โดยไม่มีการสอบข้อเขียน โดยจะเน้นไปที่โครงการพิเศษต่างๆ อย่างโครงการโอลิมปิกวิชาการ เด็กอัจฉริยภาพ พสวท. เป็นต้น
รอบที่ 2 การรับแบบโควตาที่มีการสอบข้อเขียนหรือข้อสอบปฏิบัติ สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือภาค นักเรียนในโรงเรียนเครือข่าย และโครงการความสามารถพิเศษต่างๆ
รอบที่ 3 เป็นการรับตรงร่วมกับมหาวิทยาลัย/สถาบัน กำหนดเกณฑ์ที่เป็นอิสระ และโครงการ กสพท. โครงการพิเศษอื่นๆ และนักเรียนทั่วไป
รอบที่ 4 การรับแบบแอดมิชชั่นส์ โดยใช้เกณฑ์แต่ละสาขาเหมือนกันหมด
รอบที่ 5 เป็นการรับตรงแบบอิสระ
ทั้งนี้ การรับนักเรียนในรอบที่ 2 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นการรับแบบโควตาที่มีการสอบข้อเขียนหรือข้อสอบปฏิบัติ โดยกลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือภาคโควต้าโรงเรียนในเครือข่าย/สังกัด ซึ่งนักเรียนจะต้องผ่านการสอบข้อเขียนหรือข้อสอบปฏิบัติ โดยจุฬาฯ ได้กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกไว้อย่างชัดเจน คือ จะใช้ GPAX และคะแนนการสอบกลางของ สพฐ. คือ GAT/PAT และวิชาสามัญ มาเรียงลำดับกันเพื่อเป็นตัวตัดสินว่าใครจะมีสิทธิได้เข้าเรียน
“จุฬาฯ เน้นเรื่องคุณภาพทางวิชาการของนิสิต แม้จะเป็นเด็กสาธิตจุฬาฯ ก็ต้องเป็นเด็กหัวกะทิ และต้องแข่งขันกันเพื่อจะเข้ามาในรอบโควตา รับรองว่าไม่มีการล็อคสเปคเด็ดขาด” ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา กล่าวยืนยัน
สำหรับจำนวนการรับนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เข้าศึกษาต่อที่จุฬาฯ ในรอบโควตานี้ จะพิจารณาจากสถิติการรับนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ย้อนหลัง 5 ปี โดยที่ผ่านมานักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ สามารถผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามาเรียนในจุฬาฯ ได้เฉลี่ยปีละ 100 คน และในปีการศึกษา 2561 นี้ จุฬาฯ จะรับนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ในรอบโควตานี้จำนวน 80 คน จึงไม่มีผลกระทบต่อจำนวนการรับนักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆ
นอกจากนี้ กติกาการรับในรอบโควตาโรงเรียนในเครือข่ายนี้ มหาวิทยาลัย/สถาบัน สามารถรับได้จากโรงเรียนในเครือข่าย/สังกัด เท่านั้น มิใช่จะรับจากที่ไหนก็ได้ที่ไม่ได้เป็นเครือข่าย/สังกัด หรือไม่มีความร่วมมือทางวิชาการ
“สำหรับปีแรก เราจัดโควตาให้แต่นักเรียนสาธิตจุฬาฯ ใน TCAS รอบที่ 2 ไม่ใช่เพราะเลือกปฏิบัติ แต่เพราะมันเป็นปีแรก เรามีเวลาตัดสินใจและเตรียมการน้อยมาก จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการกับโรงเรียนภายใต้โครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยโดยตรงไปก่อน แต่เรามีแผนที่จะขยายโอกาสให้โรงเรียนอื่นๆ ที่มีความร่วมมือทางวิชาการกับจุฬาฯ ด้วย” ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา กล่าว
การให้โควตาโรงเรียนในเครือข่าย/สังกัดนี้ มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็มีดำเนินการในลักษณะนี้มาก่อนหน้าจะมีระบบ TCAS เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีโควตาให้นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีโควตาให้นักเรียนโรงเรียนสาธิตเกษตร เป็นต้น ซึ่งทั้ง มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เข้าร่วมในรอบโควตาของระบบ TCAS ปี 2561 นี้ด้วยเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เจาะลึก ระบบคัดเลือกนักศึกษาใหม่ “TCAS” ปี 61 คืออะไร? ต้องสอบอะไรบ้าง?
- จุฬาฯ เปิดรับโควตา นร.สาธิตจุฬาฯ กว่า 80 คน ในปีการศึกษา 2561
ข้อมูล : http://www.chula.ac.th/th/archive/61086