kmitl มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล สจล สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

สจล. ลุยตั้ง มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ในไทย พร้อมเปิดสอนในปีการศึกษา 2561

Home / ข่าวการศึกษา / สจล. ลุยตั้ง มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ในไทย พร้อมเปิดสอนในปีการศึกษา 2561

เด็กไทยเตรียมตัวกันให้พร้อมเลย… สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เร่งเครื่องจัดตั้ง มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ มีทักษะความสามารถในการทำงาน เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0

มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เปิดสอน 2561

โดย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) จากประเทศสหรัฐอเมริกา มาจัดตั้งในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา สจล.

สำหรับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ที่ตั้งอยู่ในเมืองพิตซ์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2510 โดยสถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกี และสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมเมลลอน ซึ่ง มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และการแสดง

อาคารเรียนคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน
อาคารเรียนคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน

ซึ่งล่าสุด นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ และคณะผู้บริหาร สจล. ได้เดินทางไปยัง มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทัน ในปีการศึกษา 2561 เป็นปีแรก โดยนำร่องเปิดสอน หลักสูตรสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical and Computer Engineering) ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) ในระดับปริญญาโท จากนั้นจึงจะขยายหลักสูตรเพิ่มเติมในปีการศึกษาถัดไป

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ คณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จะเดินทางมาประเทศไทย เพื่อร่วมหารือกับ สจล. พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการจัดสร้างมหาวิทยาลัย ซึ่งในการมาครั้งนี้ทาง สจล. ก็จะให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับรายละเอียดหลักสูตรและรูปแบบการบริหารจัดการอีกครั้ง

นอกจากนี้ สจล. กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ยังมีความร่วมมือในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาไทย อีกด้วย ได้แก่ การจัดทำโครงการวิจัยร่วมเพื่อตอบปัญหาของประเทศ (Collaborative Research) โดยโครงการวิจัยทุกโครงการจะใช้อาจารย์และนักวิจัยหลัก จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก มหาวิทยาลัยในประเทศไทยและภาคเอกชน ร่วมมือกันในลักษณะเป็นเครือข่ายนักวิจัยและถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ พร้อมทั้งยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักวิจัย เพื่อพัฒนาทักษะ (Faculty Exchange) การแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานโลก พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยขยับขึ้นเป็นศูนย์กลาง ด้านการวิจัยและนวัตกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและบริษัทข้ามชาติ ในการเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D Center) หรือการผลิตขั้นสูงในประเทศไทย

สำหรับแผนความร่วมมือระยะยาว ได้วางเป้าหมายผลผลิตที่วงการศึกษาไทยและประเทศชาติจะได้รับ คือการผลิตนักศึกษาปริญญาเอก ไม่ต่ำกว่า 100 คน นักศึกษาปริญญาโท ไม่ต่ำกว่า 250 คน พร้อมยกระดับคุณภาพอาจารย์และนักวิจัยไทยให้มีมาตรฐานระดับโลก สร้างโครงการวิจัยเพื่อต่อยอดเป็นวัตกรรมหรือมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ และสร้างแพลตฟอร์มและเครือข่ายให้อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และบริษัทในประเทศไทย ได้เข้ามาเพิ่มพูนความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับอาจารย์และนักวิจัยด้านเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของโลก จึงเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยยกระดับความรู้และทักษะแห่งโลกยุคใหม่ในทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะด้านการศึกษาแต่ยังรวมไปถึงด้านการให้บริการและธุรกิจดิจิทัล ด้านโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง ด้านหุ่นยนต์สมองกลฝังตัวและการควบคุมจักรกลอัตโนมัติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาขาวิชาที่ สจล. มีความพร้อมในการพัฒนาก้าวสู่การเป็นผู้นำ

ที่มา : www.dailynews.co.thวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี