งานวิจัย เครื่องปรุงตรา ไทยเมด (Thai Made) มสด

 นักวิจัย มสด. คิดค้น  “ความอูมามิ : จากผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงสมุนไพรไทย”

Home / ข่าวการศึกษา /  นักวิจัย มสด. คิดค้น  “ความอูมามิ : จากผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงสมุนไพรไทย”

ดร.ทิวัตถ์ กุลชนะภควัต อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) กล่าวถึง งานวิจัย เครื่องปรุงตรา ไทยเมด (Thai Made) ว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยเดิม ซึ่งวิจัยพบว่าสมุนไพรทุกชนิดนั้น มีสาระสำคัญที่พืชสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติที่เรียกว่า ไฟโตรนิวเตรีย (Phytonutrient Compound) ปริมาณสูงเป็นกลุ่มของสารที่สำคัญหลายอย่างมีประโยชน์ในการใช้เป็นยารักษาโรค เช่น ขมิ้น ที่มีคุณค่าในการรักษาโรคหลายชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนสมุนไพรอื่นๆ เช่น กระชาย พริกไทย และพริก ก็มีการนำมาใช้เพื่อรักษาโรคได้เช่นกัน และสมุนไพรในวัฒนธรรมไทย คือ เป็นเครื่องเทศในอาหารไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นวัตถุดิบชั้นดี  จึงเห็นควรดำเนินการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเครื่องปรุงสมุนไพร เพราะตลาดในปัจจุบันมีความต้องการเป็นอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ

ดร.ทิวัตถ์  กล่าวต่อว่า การคัดเลือกแหล่งสมุนไพรต้องพิถีพิถัน เพื่อให้ได้คุณภาพของวัตถุดิบมากที่สุด อาทิ กระชาย (จ.นครปฐม), ขมิ้น (จ.ตาก), พริก (จ.สุพรรณบุรี), พริกไทย (จ.จันทบุรี) โดยเลือกกระบวนการที่ทำให้พืชสมุนไพรอยู่ในสภาพที่มีสารธรรมชาติคงเหลือมากที่สุด นั้นคือวิธี การอบสมุนไพรแบบดีไฮเดรชัน (Dehydration) มีการวิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant Activity) วิเคราะห์ปริมาณแร่ธาตุ และหาคุณค่าทางโภชนาการวิเคราะห์โดยเครื่องอะตอมแบบซอพชัน จึงทำให้เครื่องปรุงจากเครื่องเทศและสมุนไพรไทย ถูกแปรรูปให้สามารถใช้สะดวก ลดเวลาที่ใช้ในการปรุง และรักษาคุณค่าสมุนไพรไว้ได้ครบถ้วน

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ ได้นำเสนอในเวทียระดับนานาชาติ ในงาน “Seoul International Invention Fair 2017” ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน–3 ธันวาคม 2560 ณ ประเทศเกาหลีใต้ และคว้ารางวัลงานวิจัยนวัตกรรมใหม่เหรียญทองแดง มาครองได้สำเร็จ นับเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างมีเอกลักษณ์ เป็นการพัฒนาภูมิปัญญาของไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ที่คำนึงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคและการออกฤทธิ์ของสารทุติยภูมิในพืชสมุนไพรและคุณค่าทางอาหาร (Pharma Nutrition) มีศักยภาพสามารถนำไปขยายผลเชิงพาณิชย์ได้อย่างแน่นอน