12 อาชีพ ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ที่เรียนจบมาแล้ว มีงานทำแน่นอน ค่าตอบแทนสูง

ส่วนมากแล้วเราจะคิดกันว่า อาชีพทางด้านการเงิน บัญชี นักบิน และแพทย์ เป็นอาชีพที่มีรายสูง เราจึงมักที่จะเลือกเรียนในคณะ/สาขาวิชาเหล่านี้กันเป็นส่วนมาก แต่รู้ไหมว่าจริงๆ แล้ว ยังมี อาชีพด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ได้มีรายได้สูงไม่แพ้กันเลย

12 อาชีพ ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี

ซึ่งเด็กส่วนมากที่เลือกเรียนเกี่ยวกับ วิศวะและไอที จะถูกมองว่าเป็นเด็กเนิร์ดที่หมกมุ่น อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา แต่ ‘สตีฟ จ็อบส์’ ก็สามารถทำให้เรารู้แล้วว่า สารพัดสินค้าจากแอปเปิ้ลของเขา ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างมากเลยทีเดียว ผู้คนหันมาสนใจเทคโนโลยีกันเพิ่มมากยิ่งขึ้น จนในปัจจุบันทำให้อาชีพทางด้านวิศวกร เทคโนโลยีสารสนเทศหรือคอมพิวเตอร์กลายเป็นเป้าหมายของเด็กรุ่นใหม่ๆ จำนวนมากที่สนใจอยากเรียนต่อและทำงาานในด้านนี้

จากรายงานการสำรวจงานยอดนิยมของ Career Cast พบว่า ‘วิศวกรคอมพิวเตอร์’ เป็นอาชีพที่มีรายได้สูงและเป็นที่ต้องการตัวของนายจ้างจากทั่วทุกมุมโลก และอีกหนึ่งอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับพลังงานก็น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ‘สาขาวิชาวิศวกรปิโตรเลียม’ ต้องการผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับ การสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ งานด้านนี้ต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

และพร้อมเดินทางไปทำงานยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ที่มีแหล่งพลังงานปิโตรเลียมอยู่ใต้ผืนแผ่นดิน เช่น เพนซิลเวเนีย ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย ฯลฯ เหมือนกับคำกล่าวของ Michael Buryk ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ จาก Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) ที่ได้กล่าว่า “ปัญหาของการพัฒนาไอทีในปัจจุบันคือ เรามีบัณฑิตที่จบทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนวิศวกรไฟฟ้าก็กำลังเป็นอาชีพที่น่าจับตามองเช่นกัน เพราะโลกกำลังตื่นตัวกับเรื่องพลังงานทดแทนและโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)”

จากการเปิดเผยข้อมูล โดยมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า มีผู้จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมราว 500,000 คน จบปริญญาโทประมาณ 134,000 คน และปริญญาเอก 41,000 คน แต่นั่นก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการบุคคลากรทางด้านนี้ของตลาดแรงงาน ซึ่งแน่นอนว่า งานที่เป็นที่ต้องการของนางจ้าง ย่อมมีความกดดันและมีความยากมากพอสมควร โดนต้องแลกมาจากความขยัน ตั้งใจของแต่ละบุคคล และนี่คือ ‘งานด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีรายได้สูงลิบติดอันดับต้นๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา’ ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว จะมีสาขาไหนกันบ้าง? มาดูกันเลย

1. วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer)

ทำงานด้านวิจัย ออกแบบ พัฒนา และปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้ทันสมัย และตอบโจทย์การใช้งานในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมหลากหลายชนิด โดยมีรายได้ประมาณ 90,000 ดอลล่าร์ต่อปี

2. นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Systems Analyst)

เป็นงานทางด้านการวางแผนและพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ ให้แก่องค์กรธุรกิจและองค์กรวิทยาศาสตร์ต่างๆ โดยมีรายได้ประมาณ 78,000 ดอลล่าร์ต่อปี

3. นักพัฒนาเว็บไซต์ (Web Developer)

ทำงานทางด้านการสร้างสรรค์และปรับปรุงเลย์เอาท์ เนวิเกเตอร์ และฟังก์ชั่นต่างๆ ของเว็บไซต์ทั้งทางอินทราเน็ตและอินเทอร์เน็ต โดยมีรายได้ประมาณ 75,000 ดอลล่าร์ต่อปี

4. วิศวกรปิโตรเลียม (หลักสูตรPetroleum Engineer)

จะเป็นงานทางด้านการวางแผนการขุดเจาะหาแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ โดยมีรายได้ประมาณ 114,000 ดอลล่าร์ต่อปี

5. วิศวกรโยธา (Civil Engineer)

เป็นงานการวางแผนและควบคุมงานก่อสร้างถนน สะพาน อุโมงค์ อาคารบ้านเรือน รวมถึงสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยมีรายได้ประมาณ 77,000 ดอลล่าร์ต่อปี

6. โปรแกรมเมอร์ (Computer Programmer)

มีหน้าที่หลักในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพในการประมวลผล โดยมีรายได้ประมาณ 71,000 ดอลล่าร์ต่อปี

7. นักเขียนเชิงวิชาชีพ (Technical Writer)

ต้องเป็นนักเขียนที่สามารถแปลงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลทางเทคนิคต่างๆ ให้เป็นภาษาเข้าใจง่าย โดยยังได้ใจความสำคัญครบถ้วนถูกต้อง โดยมีรายได้ประมาณ 63,000 ดอลล่าร์ต่อปี

8. วิศวกรนิวเคลียร์ (Nuclear Engineer)

ทำงานทางด้านการวิจัย ออกแบบ ตรวจสอบการดำเนินงาน และตรวจสอบการบำรุงรักษาของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และอุปกรณ์โรงไฟฟ้า โดยมีรายได้ประมาณ 99,000 ดอลล่าร์ต่อปี

9. วิศวกรการบินและอวกาศ (Aerospace Engineer)

ทำงานในการออกแบบ พัฒนา และทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องการผลิตเครื่องบินพาณิชย์ เครื่องบินทางการทหาร และยานอวกาศ โดยมีรายได้ประมาณ 97,000 ดอลล่าร์ต่อปี

10. วิศวกรเครื่องกล (Mechanical Engineer)

พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกล ประสานงานกับฝ่ายเทคนิคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และซ่อมบำรุงเครื่องจักรให้พร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีรายได้ประมาณ 78,000 ดอลล่าร์ต่อปี

11. วิศวกรไฟฟ้า (Electrical Engineer)

ดำเนินงานทางด้านการวิจัย วางแผน ออกแบบ และทดสอบการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยมีรายได้ประมาณ 87,000 ดอลล่าร์ต่อปี

12. นักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Designer)

ออกแบบและพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ได้อย่างตรงจุดที่สุด โดยมีรายได้ประมาณ 76,000 ดอลล่าร์ต่อปี

ที่มา : www.hotcourses.in.th

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง