ในปัจจุบันอาชีพ “วิศวกร” ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สำคัญ ในการพัฒนาสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสร้างสรรค์แนวคิด หรือนวัตกรรมใหม่มาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วย แต่การจะเป็นวิศวกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรที่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจำเป็นต้องมี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในประเทศไทย” เพื่อใช้ประกอบการทำงานทางวิศวกรรม ที่ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการด้านวิศวกรรม โดยจะต้องมีการอบรมและทดสอบด้านจรรยาบรรณวิชาชีพ ด้านความปลอดภัย และด้านกฎหมายเพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในประเทศไทย
ทำไมต้องมี ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ?
สภาวิศวกร (COE: Council of Engineers) หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล มาตรฐานวิชาชีพของวิศวกรไทย เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในประเทศไทย ให้กับผู้ที่ประกอบอาชีพในสาขาวิศวกรรมควบคุมทั้ง 7 สาขา
7 สาขา 3 ระดับ
โดยทั้ง 7 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมเคมี โดยมี 3 ระดับ ได้แก่ ภาคีวิศวกร สามัญวิศวกร และ วุฒิวิศวกร และวิศวกรสมทบ คือ ภาคีวิศวกรพิเศษ โดยแต่ละระดับมีขอบเขตการทำงานที่แตกต่างกันไป ตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542
ความแตกต่างแต่ละระดับ
· ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ ต่างกันอย่างไร
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่การันตีความรู้และความสามารถ ด้านวิศวกรรมควบคุม ที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนได้
วิศวกรระดับแรกระดับภาคีวิศวกร (Associate Engineer) เป็นระดับที่สามารถทำงานได้ตามประเภท และขนาดที่กำหนดตามข้อบังคับของสภาวิศวกร
หลังจากได้รับใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกรมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี จะสามารถขอสอบเลื่อนเป็น ระดับสามัญวิศวกร (Professional Engineer) ที่สามารถทำงานได้ตามประเภท และขนาดที่กำหนด ตามข้อบังคับของสภาวิศวกรเช่นกัน
หลังจากได้รับใบอนุญาตฯ ระดับสามัญวิศวกรมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จะสามารถขอเลื่อนไป ระดับวุฒิวิศวกร (Senior Professional Engineer) ได้ ซึ่งเป็นระดับที่ทำงานได้ทุกงาน ทุกประเภท และทุกขนาด ซึ่งทั้ง 3 ระดับ อยู่ภายใต้การเป็นสามัญสมาชิกของสภาวิศวกร
นอกจากนี้ ยังมี ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ (Adjunct Engineer) ที่สามารถทำงานได้เฉพาะตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต โดยจะต้องมีความรู้และประสบการณ์ตรงกับลักษณะงาน
· ประเมินความรู้ความสามารถกันอย่างเข้มข้น เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
แน่นอนว่า การประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน ต้องมีการขอใบออนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยการเลื่อนระดับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ในแต่ละครั้งนั้น ต้องมีการประเมินอย่างเข้มข้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และได้วิศวกรที่มีศักยภาพสูง
ดังนั้นจึงมีการประเมินในหลากหลายด้านด้วยกัน ทั้งความรู้ทางวิศวกรรม ทักษะในการแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรม ความสามารถในการจัดการตามกรอบจรรยาบรรณ ความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กฎหมายต่างๆ ความรับผิดชอบต่อสังคม และผลงานทางวิศวกรรมของตน
นอกจากนี้ยังต้องสอบสัมภาษณ์ และมีผลงานทางด้านวิศวกรรมประกอบการพิจารณา เพื่อทำให้การประเมินความรู้ความสามารถของวิศวกรมีประสิทธิภาพสูงที่สุด นอกจากนี้ผู้ที่จะขอใบออนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้ ต้องจบจากหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตที่ผ่านการรับรองจากสภาวิศวกรอีกด้วย
· หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตที่เข้มข้น เน้นตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม
ในการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในประเทศไทย ระดับภาคีวิศวกร ซึ่งเป็นใบอนุญาตระดับแรกก่อนก้าวไปสู่การเป็นวิศวกรมืออาชีพ โดยผู้สมัครสอบ ต้องจบหลักสูตรที่ทางสภาวิศวกรรับรอง จึงมีสิทธิ์สมัครได้
โดยในหลักสูตรต้องมีเนื้อหา โครงสร้างหลักสูตร และมีองค์ความรู้ครบถ้วนตามเงื่อนไข นอกจากนี้บริบทของโลกที่ได้เปลี่ยนไป ทำให้หลักสูตรการศึกษาต้องพัฒนาตามไปด้วย โดยต้องเน้นผลลัพธ์ทางการศึกษา (Outcome based) มากขึ้น และลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ต้องสอดคล้องกับหลักสูตร มีกรอบความรู้ที่เน้นตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น
โดยในอนาคตองค์ความรู้ควรยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันไป ตามกิจกรรม ลักษณะงานทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
นายกิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 1 กล่าวเสริมว่า ผู้ที่จบหลักสูตรจากสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองหลักสูตร ก็จะสามารถสมัครเข้าทดสอบ ความรู้พื้นฐานทางด้านวิศวกรรม และความรู้เฉพาะทาง ด้านวิศวกรรมในสาขาที่เป็นวิศวกรรมควบคุม เพื่อขอรับใบอนุญาตในระดับภาคีวิศวกรได้ ซึ่งเป็นแนวทางการสอบตามปกติ และยังสามารถสอบเพื่อเลื่อนระดับไปได้เรื่อยๆ ตามกรอบความสามารถ โดยใช้แบบประเมินเดียวกัน แต่มีมุมมองและน้ำหนักที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับแต่ละระดับ
ในอนาคตจะมีการพัฒนาการขึ้นทะเบียนใบรับรองความรู้ความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่ใช่สาขาวิศวกรรมควบคุม เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมทางเรือ วิศวกรรมอากาศยาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและการประกอบวิชาชีพในยุคปัจจุบัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างและการช่วยเหลือประชาชน ภายใต้หลักการทางวิศวกรรม ของสภาวิศวกร ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/coethailand และเว็บไซต์ www.coe.or.th