คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ราชมงคลพระนคร สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย

เอาใจคนชอบเรื่องผี ด้วยเทคโนโลยีเกม VR ผ่านนิทรรศการผลงานสร้างสรรค์

Home / วาไรตี้ / เอาใจคนชอบเรื่องผี ด้วยเทคโนโลยีเกม VR ผ่านนิทรรศการผลงานสร้างสรรค์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นสถานศึกษาที่มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนให้พร้อมเป็น “นวัตกรบูรณาการ” ที่มีความรอบรู้ มีความสามารถในการปรับตัว และรับมือกับความท้าทายได้อย่างรวดเร็ว จึงมุ่งมั่นผลักดันศักยภาพนักศึกษาผ่านการเรียนการสอน โดยการจุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับโลกแห่งอนาคตในทุกมิติ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกฝนและลงมือปฏิบัติจริง เตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน

เอาใจคนชอบเรื่องผี ด้วยเทคโนโลยีเกม VR

โดยล่าสุด สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน จัดนิทรรศการ Multimedia Exhibition ณ Siam Smile Space ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งเป็นการแสดงผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4

โดยปีนี้มีการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจ ประกอบไปด้วย สื่อโมชันกราฟิก แอปพลิเคชัน สื่อวีดีทัศน์ประชาสัมพันธ์ สื่อสิ่งพิมพ์ การออกแบบและพัฒนาเกม สื่อความเป็นจริงเสริม AR สื่อความเป็นจริงเสมือน VR และ Music Video โดยเฉพาะผลงานโดดเด่น ของนางสาวสิรินลักษณ์ ตั้งวัฒนดิลกกุล และนางสาวณพิชชา สมดังใจ ที่นำเทคโนโลยีโลกเสมือน Virtual Reality (VR) มาสร้างสรรค์ผลงานเกมที่ชื่อว่า “บ้านผีไทย”

นางสาวสิรินลักษณ์ ตั้งวัฒนดิลกกุล เล่าว่า โลกของ Metaverse เป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงที่มีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างหลากหลาย อาทิ การทำงาน การศึกษา ความบันเทิง และโลกของเกม ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะทำเกมบ้านผีไทย โดยใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือนเข้ามาใช้ในการเล่นเกม ซึ่งผู้เล่นจะได้เดินสำรวจภายในบ้านของครอบครัวหมอผี และมีภารกิจปลดปล่อยกุมารที่ถูกขังไว้ในบ้านหลังนี้ ผ่านการเล่นในรูปแบบ VR ซึ่งจะเพิ่มความสนุกให้กับผู้เล่น ตัดขาดออกจากสภาพแวดล้อมปัจจุบัน และเข้าไปสู่ภาพที่จำลองขึ้นมา

จะสามารถสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ผสมผสานกับบรรยากาศและเสียงที่ใช้ประกอบ เพื่อเพิ่มความตื่นเต้น ผู้เล่นมีความรู้สึกร่วมกับสิ่งเหล่านั้นได้ เมื่อย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของการทำเกมมาจากความชอบอ่านเรื่องผี และมองว่าปัจจุบันคนไทยเริ่มค่อย ๆ ลืมเรื่องราวพื้นบ้านที่เป็นตำนานเล่าขานกันมา เช่น ผีท้องถิ่น ตำนานพื้นบ้าน ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้คนในสังคมบางกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องงมงาย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยที่น่าเผยแพร่ให้รู้จักมากขึ้นถึงเรื่องราวความเป็นมาของตำนานนั้น ๆ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไทย

นางสาวณพิชชา สมดังใจ กล่าวว่า การทำงานครั้งนี้ใช้ระยะเวลาถึง 8 เดือน โดยมีขั้นตอนการศึกษาข้อมูลของผีพื้นบ้านไทย การเขียนบท การปั้นตัวละคร การปั้นโมเดลที่ใช้ในฉาก บันทึกเสียงพากย์ ทำเสียงประกอบฉาก และเข้าสู่กระบวนการทำเกม ผลงานดังกล่าวต้องใช้ความรู้จากในห้องเรียนและนอกห้องเรียนนำมาประกอบกัน

โดยเฉพาะเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาอย่างโปรแกรม Unreal engine ใช้สำหรับสร้างตัวพิพิธภัณฑ์ VR โปรแกรม Blender ใช้ในการปั้นตัวนักแสดง และสุดท้ายชุด VR ใช้สำหรับการทดสอบงาน ซึ่งบางส่วนได้เรียนพื้นฐานจากในห้องเรียน แต่ในบางส่วนจะต้องเรียนเพิ่มเติมจากโลกออนไลน์ เพื่อเสริมทักษะในการทำงาน การทำโปรเจคในครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และความอดทนในการทำงาน รวมถึงได้รู้จักตนเองมากขึ้นว่าชอบทำงานประเภทไหนอีกด้วย

ผศ.ดร.วิชชพร เทียบจัตุรัส คณบดีคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน กล่าวว่า งาน Multimedia Exhibition จัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานโครงงานพิเศษของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาแสดงศักยภาพ ความสามารถนำความรู้ในห้องเรียน มาประยุกต์สร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มความรู้ความสามารถ และเป็นการสร้างโอกาสที่จะให้ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไป ได้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษา ที่สามารถพัฒนาชิ้นงานได้ตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพ รวมทั้งการสร้างโอกาสในการได้งานในอนาคตด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ให้บุคคลภายนอกรู้จักมากขึ้น

“กระบวนการคิดนอกกรอบจะเป็นแนวทางให้นักศึกษากล้าคิดกล้าทำ และกล้านำไปใช้หากก้าวสู่โลกของการทำงานจริงในอนาคต โดยทางคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ผลักดันนักศึกษาเป็นผู้รอบรู้ในศาสตร์หลากหลายด้าน

รวมไปถึงการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการ และต้องการเข้ามา Upskill หรือเพิ่มวุฒิให้เป็นระดับปริญญาตรี สำหรับใช้ในอาชีพการงาน หรือรองรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

โดยปีการศึกษา 2566 ได้เปิดหลักสูตรใหม่ เทคโนโลยีบัณฑิต (ทลบ.) ด้านสื่อสารมวลชน หลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี (ต่อเนื่อง) จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (ไฮปริด) วันธรรมดาเรียนแบบออนไลน์ ตอนเย็นหลังเลิกงาน และวันอาทิตย์เรียนที่มหาวิทยาลัยฯ เพื่อฝึกปฏิบัติในด้านวิชาชีพขั้นสูง ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://mct.rmutp.ac.th

พุทธชาติ/ข่าว