rmutp ทุนแลกเปลี่ยน นักเรียนจีน นักเรียนไทย

RMUTP เปิดคอร์สแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สอนศิลปะอาหาร ดอกไม้ มวยไทย นักศึกษาจีน

Home / วาไรตี้ / RMUTP เปิดคอร์สแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สอนศิลปะอาหาร ดอกไม้ มวยไทย นักศึกษาจีน

การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความร่วมมือระหว่างไทยและจีน มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม รวมถึงด้านการศึกษา ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนกันไปมา ระหว่างนักศึกษาจีนมาเรียนภาษาไทย และนักศึกษาไทยไปเรียนภาษาจีน

ราชมงคลพระนคร เปิดคอร์สแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้ลงนามความร่วมมือกันมาอย่างยาวนานทั้งด้านความรู้ วิชาการ ตลอดจนทุนการศึกษาต่าง ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระดับปริญญาตรี-โท โดยเฉพาะการนำนักศึกษาจีน เข้ามาเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมไทยเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 6 ซึ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองสถาบัน

ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า การเรียนรู้ทางภาษาจีนและการพัฒนาอาชีพของนักเรียนชาวไทย ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ที่ผ่านมา ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมในไทย คือ นักศึกษาเหล่านี้ได้นำวัฒนธรรม ความรู้ไปเผยแพร่ต่อ และบางส่วนกลับมาศึกษาต่อที่ประเทศไทยในระดับที่สูงขึ้น และบางส่วนกลับมาศึกษาในหลักสูตรระยะสั้นต่าง ๆ ที่สนใจ เช่น การจัดดอกไม้ ทำอาหารไทย

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเป็นการสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การเผยแพร่วัฒนธรรม ไม่ใช่แค่งานวิจัย งานวิชาการที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะได้รับ แต่รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันในภายภาคหน้า ส่วนนักศึกษาของราชมงคลพระนครหลังจากไปแลกเปลี่ยนกลับมา ก็จะได้รับโอกาสที่ดี ทั้งงาน เงินเดือน ภาษา มิตรภาพ โดยที่ผ่านมานักศึกษาแลกเปลี่ยนที่สำเร็จการศึกษาและประสบความสำเร็จในชีวิต ได้กลับมามอบทุนการศึกษาให้กับรุ่นน้องหลาย ๆ คนอีกด้วย

ด้าน ผศ.ดร.ธนภพ โสตรโยม คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเองเป็นอีกคนที่ได้รับโอกาสในการไปศึกษาต่อที่จีน ทั้งนี้การนำนักศึกษาจีนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม และการเรียนรู้วิชาชีพด้านคหกรรมศาสตร์ หลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละรอบจะสลับกันไป โดยให้จุดมุ่งหมายตรงกับความต้องการของนักศึกษา

ซึ่งปีนี้ประกอบด้วย หลักสูตรธุรกิจระหว่างประเทศไทย-จีน ภูมิภาคเอเชีย โดยคณะบริหารธุรกิจ หลักสูตรศิลปะการป้องกันตัว-มวยไทย และหลักสูตรภาษาไทยเพื่อการสื่อสารเบื้องต้น โดยคณะศิลปศาสตร์ หลักสูตรเบเกอรี การตกแต่งคัพเค้ก และหลักสูตรการจัดดอกไม้ไทย ศิลปะการพับดอกบัว โดยคณะเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์

นอกจากหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้นำนักศึกษาจีนศึกษาดูงานแหล่งวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น ศึกษาวิถีชีวิตและชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ศึกษาดูงานด้านของที่ระลึกสำหรับการจัดการสินค้าส่งออก เป็นต้น

ผศ.ดร.ธนภพ โสตรโยม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาอาจได้ยินว่านักศึกษาจีนจะมาแย่งงานคนไทย แต่หากมองในมุมต่างสิ่งที่ไทยจะได้จากการนำนักศึกษาต่างชาติเข้ามามีมากมาย อาทิ

1.การสร้างชื่อเสียง คหกรรมศาสตร์ นับเป็นศาสตร์ของคนไทย ที่เรียกว่าเป็นพื้นถิ่นในการใช้ชีวิตของคนไทย (Local) ซึ่งชาวต่างชาติต่างอยากเข้ามามาเรียนรู้วัฒนธรรม ศิลปะ ความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตแบบไทย มันเหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์ในทุก ๆ มิติของไทย ซึ่งคนไทยต้อนรับเขาดีแค่ไหน วันหนึ่งเขาก็จะให้การต้อนรับเรากลับดีเช่นกัน

2.คณาจารย์ได้มีประสบการณ์ ในการสอน การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนต่างชาติ ให้มีความเป็นนานาชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อม ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย สำหรับการเปิดการเรียนการสอนรูปแบบนานาชาติต่อไป

3.การสร้างเครือข่ายร่วมกัน ยิ่งทั้งสองฝ่ายร่วมกันทำงานวิจัยในระดับนานาชาติมากขึ้น ก็จะมีโอกาสในการเรียนรู้ การฝึกปฏิบัติร่วมกันมากขึ้น

“สิ่งที่อยากบอกถึงเด็กไทย อาจารย์ และสถาบันการศึกษา สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่คนจีนจะมาแย่งงานคนในประเทศ แต่สิ่งที่เด็กไทยต้องกลัวคือการไม่ปรับตัว และการไม่กล้าที่ก้าวออกจากกรอบ เพราะปัจจุบันเด็กไทยไม่เป็นสองรองใครในโลก เพียงแต่ว่าพวกเขาไม่มีเวทีในระดับนานาชาติให้ก้าวเดินมากนัก ดังนั้นต้องกลับมามองสังคมไทย ผู้มีอำนาจต่าง ๆ หาเวทีเปิดทางให้เด็ก ๆ มีโอกาสที่ก้าวเดินไปจริง ๆ หรือเปล่า” ผศ.ดร.ธนภพ กล่าว

ด้าน Man Qiu (หม่าน ชิง) นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา กล่าวว่า อยากเดินทางมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ประเทศไทย เพราะไทยเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับจีน ไทยมีระบบการศึกษาที่ไม่กดดันเหมือนจีน ได้ลงมือปฎิบัติจริง ทำให้ได้เห็นมุมมองที่แตกต่างมากมาย

หลักสูตรที่ชอบคือ เรียนทำอาหาร แต่งหน้าเค้ก จะนำความรู้ที่ได้ไปทำให้ครอบครัวรับประทาน และอีกวิชาที่ชอบคือหลักการบริหารธุรกิจ ทำให้ได้เรียนรู้หลักการบริหารการขายของไทย เพื่อนำไปประยุกต์กับการทำธุรกิจได้ในอนาคต สิ่งที่ชอบที่สุดในเมืองไทยคืออาหาร โดยเฉพาะต้มยำกุ้ง ปลาทอดน้ำปลา และข้าวผัด ขอบคุณราชมงคลพระนครที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งที่พัก อาหาร และผู้คนที่ให้การต้อนรับที่อบอุ่น

ขณะที่ Zhang Xianjia (จาง เซียนเจีย) นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งใจมาศึกษาวัฒนธรรมที่ไทย เพราะบ้านเมือง วัฒนธรรมที่สวยงาม ชอบความยิ้มแย้มของคนไทย อยากมาสัมผัส มาเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายของคนไทย

การมาครั้งนี้ประทับใจอย่างมาก ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ มากมาย โดยเฉพาะได้เห็นการเรียนรู้ที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงของนักศึกษาไทย ซึ่งต่างจากจีนที่เรียนแต่ทฤษฎี อาทิเช่นวิชาพละศึกษายังเป็นทฤษฎี แต่ไทยได้ลงมือทำจริง สิ่งที่ชอบที่สุด คืออาหารไทย โดยเฉพาะต้มยำกุ้ง หลักสูตรที่ชอบมากที่สุดคือศิลปะการแต่งหน้าเค้ก ได้มาเติมเต็มความรู้ส่วนที่ขาดหายไป จะนำเอาไปใช้ประโยชน์ในงานต่อไป

และ De Xiaoming (เต๋อ เซียวหมิง) นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า ไม่เคยมาเมืองไทยมาก่อน เลยตั้งใจมาเรียนรู้วัฒนธรรมในครั้งนี้อย่างมาก สิ่งที่เห็นคือความแตกต่างทางวัฒนธรรม และการศึกษาของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน

วัฒนธรรมไทยมีความยืดหยุ่นกว่า ในการเปิดโอกาสทางการศึกษาที่แตกต่างหลากหลาย ที่เมืองจีนการเรียนส่วนมากผ่านวิดีโอ ซึ่งปกติไม่เคยลงมือทำ เช่นการแต่งหน้าเค้ก พอลงมือปฏิบัติจริง จึงรู้เลยว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่เห็น รู้สึกสนุกมาก ประทับใจมาก สิ่งที่ได้จากการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ จะนำไปต่อยอดเพื่อประโยชน์ของตนเองในเมืองจีนต่อไป สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างของเมืองไทยคือการได้เห็นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมือง และอาหารไทย หากมีโอกาสจะกลับมาอีกครั้ง

De Xiaoming (เต๋อ เซียวหมิง)

Man Qiu (หม่าน ชิง)

Zhang Xianjia (จาง เซียนเจีย)

ผศ.ดร.ธนภพ โสตรโยม

พุทธชาติ/ข่าว