dpu ม.ธุรกิจบัณฑิตย์

นักศึกษา DPU ปิ๊งไอเดีย ป้ายแฟนด้อม-สื่อโฆษณาบนรถตุ๊กตุ๊ก สร้างรายได้นับล้าน

Home / วาไรตี้ / นักศึกษา DPU ปิ๊งไอเดีย ป้ายแฟนด้อม-สื่อโฆษณาบนรถตุ๊กตุ๊ก สร้างรายได้นับล้าน

นักศึกษาวัย 19 ปี ผุดไอเดียจาก “ป้ายแฟนด้อม” ซัพพอร์ตศิลปิน-ไอดอล สู่ “สื่อโฆษณา” บนรถตุ๊กตุ๊ก สร้างรายได้นับล้านบาทต่อปี ปลื้มธุรกิจช่วยต่อลมหายใจคนขับสามล้อ เผยอนาคตเตรียมขยายธุรกิจป้ายโฆษณา วินมอเตอร์ไซค์-รถสองแถว-รถแท็กซี่

ป้ายแฟนด้อม-สื่อโฆษณาบนรถตุ๊กตุ๊ก สร้างรายได้นับล้าน

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ไร้เงานักท่องเที่ยวและร้านค้าต่างๆ ต้องปิดลง เหม่ยลี่-เกษศิรินทร์ เทิดขวัญชัย นักศึกษาหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) คือหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากคุณพ่อมีอาชีพขับรถตุ๊กตุ๊ก ครอบครัวขาดรายได้หลัก จนเธอต้องหยุดเส้นทางการเป็นนักร้อง “ไอดอล” ที่ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก

เหม่ยลี่-เกษศิรินทร์ เทิดขวัญชัย นักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)

เหม่ยลี่ กล่าวว่า หากไม่มีโควิด วันนี้เธอคงปรากฏตัวอยู่บนเวทีคอนเสิร์ตที่ไหนสักแห่งในฐานะ “ไอดอล” นักร้องมอบความบันเทิงแก่ผู้คน แต่โควิดก็มาพรากทุกอย่างไป ซึ่งตอนนั้นรู้สึกเครียดมาก แต่พอเห็นความรักความทุ่มเทของพ่อ ทำให้เธออยากช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว และสะกิดให้ลุกขึ้นมาทำป้ายโฆษณาหลังรถตุ๊กตุ๊ก

จุดเริ่มต้นมาจากเวลานั้นเป็นช่วงใกล้ถึงวันเกิดของเหม่ยลี่ เมื่อเห็นว่าพ่อมีรถตุ๊กตุ๊กอยู่แล้ว จึงเกิดไอเดียทำป้ายแฟนด้อมให้ตัวเอง โดยลงมือออกแบบกราฟฟิก ตัวอักษร ทำโฆษณาแสดงตัวอย่างให้ลูกค้าเห็นภาพผ่านการโพสต์เฟซบุ๊ก ผลลัพธ์คือวันรุ่งขึ้นมีลูกค้าแฟนด้อมติดต่อเข้ามาสั่งทำป้ายให้เธอ รวมถึงยังมีคนสั่งทำป้ายให้ศิลปินไอดอลชื่อดังของญี่ปุ่นอย่าง BNK48 อีกด้วย จึงเป็นการเริ่มต้นด้วยรายได้กว่า 10,000 บาทชั่วข้ามคืน ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เธออยากพัฒนาตนเองและธุรกิจต่อไป

ไม่เพียงแค่นั้น สัปดาห์ต่อมาแฟนคลับที่ซัพพอร์ตเธอยังบอกต่อๆ กัน กลุ่มลูกค้าจึงขยายสู่แฟนด้อมศิลปินเกาหลี ดาราจีน ตามมาด้วยแฟนคลับศิลปินไทย เพื่อสื่อรักแทนความรู้สึกดีๆ ผ่านป้ายโฆษณาหลังรถตุ๊กตุ๊ก นอกจากนั้น ยังเกิดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ขึ้นอีกจากคนทั่วไปที่อยากสื่อความรักระหว่างกัน จนกลายเป็นธุรกิจสร้างรายได้มากมายจากหลายกลุ่มลูกค้าในพริบตา

จากไอเดียที่คิดว่าทำเล่นๆ ในตอนแรก กลายเป็นช่องทางรายได้หลัก โดยย่านที่ลูกค้านิยมใช้บริการ คือเขตศูนย์กลางธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า ชุมชน ตลาดที่มีคนสัญจรไปมาตลอดเวลา ซึ่งรูปแบบการให้บริการของเหม่ยลี่ในการติดตั้งป้ายหลังรถตุ๊กตุ๊ก สนนราคาอยู่ที่ 990 บาทต่อ 7 วัน, 1,290 บาทต่อ 14 วัน และ 1,590 บาทต่อเดือน

จากช่วงแรกที่มีรถตุ๊กตุ๊กของพ่อขับอยู่ละแวกบางซื่อแค่คันเดียว ปัจจุบันขยายไปยังรถตุ๊กตุ๊กหลากหลายเขตในกรุงเทพฯ และนนทบุรี จนตอนนี้มีรถในเครือข่ายกว่า 400 คัน รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 บาทต่อเดือน หรือปีละ 1,200,000 บาท ซึ่งเร็วๆ นี้ เตรียมต่อยอดธุรกิจจากรถตุ๊กตุ๊กมาเป็นวินมอเตอร์ไซค์ รถสองแถว และรถแท็กซี่”

เหม่ยลี่ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทำให้โลดแล่นในธุรกิจนี้คือ Growth Mindset รักในการเรียนรู้ และกล้าลงมือทำตั้งแต่อายุ 19 ปี ซึ่งได้มาจากการฝึกทักษะผู้ประกอบการ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดให้ เธอจึงรู้ว่าจุดแข็งคืออะไร ทำให้เหนือคู่แข่งได้อย่างไร หรือเรื่องการตลาดก็นำกลยุทธ์การตั้งราคามาใช้กับธุรกิจ เป็นต้น

“เราได้ลองวางแผนธุรกิจโดยใช้ Business model canvas ได้วิเคราะห์ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้ดี และตอกย้ำในเรื่องของทักษะผู้ประกอบการสำคัญมาก ยิ่งเราได้เรียนเหมือนเราชินกับการได้อยู่กับมัน ได้จำลองธุรกิจขึ้นมา บ่อยเข้าก็รู้สึกสนุก รู้สึกว่าการทำธุรกิจไม่ได้ยากขนาดนั้น เพราะเรารู้ทฤษฎีมาบ้างแล้ว เหลือแค่ลงมือปฏิบัติ”

เหม่ยลี่ บอกว่า ไม่เคยรู้สึกอับอายที่คุณพ่อขับรถตุ๊กตุ๊ก แต่กลับภูมิใจที่คุณพ่อประกอบอาชีพสุจริต แถมจุดนี้ยังเป็นโอกาสให้เธอได้หาเงิน สร้างธุรกิจ สร้างอาชีพจนมีทุกวันนี้ อีกทั้งรายได้ยังมีส่วนช่วยให้คนขับรถตุ๊กตุ๊กได้กลับมาลืมตาอ้าปากได้หลังจากเจอวิกฤตโควิด

“แรกๆ ก็มีร้องไห้กับตัวเองบ้าง แต่พอพี่ๆ คนขับรถตุ๊กตุ๊กมาขอบคุณเรา บอกว่าเราช่วยให้เขามีรายได้ มีเงินให้ลูก อาจไม่มากแต่ก็ช่วยต่อลมหายใจให้เขา เราก็รู้สึกมีกำลังใจและพร้อมพัฒนาธุรกิจที่ทำต่อไป เพราะนอกจากเราจะได้นำความรู้ที่เรียนมาต่อยอด ส่วนหนึ่งยังได้ทำเพื่อสังคมอีกด้วย” เหม่ยลี่ กล่าวทิ้งท้าย