คณะเภสัชศาสตร์ นักศึกษา เด็กเก่ง

เก่งยกรุ่น!! นักศึกษาเภสัชฯ ม.วลัยลักษณ์ สอบผ่านใบประกอบวิชาชีพ ติดอันดับ 5 ของไทย

Home / วาไรตี้ / เก่งยกรุ่น!! นักศึกษาเภสัชฯ ม.วลัยลักษณ์ สอบผ่านใบประกอบวิชาชีพ ติดอันดับ 5 ของไทย

ปรบมือให้รัวๆ เลยค่ะ สำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ รุ่นที่ 5 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ที่สามารถสอบผ่านความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ประจำปี พ.ศ. 2560 ซึ่งในปีนี้มีผู้เข้าสอบจำนวน 40 คน โดยจะต้องผ่านการสอบทางวิชาชีพเภสัชกรรม (OSPE) คิดเป็น 100 % และสอบผ่านการสอบข้อเขียนการบูรณาการความรู้ทางเภสัชศาสตร์ (MCQ) คิดเป็น 95.00% ทั้งนี้โดยภาพรวมการสอบฯ ผ่านทั้ง MCQ และ OSPE รวมกัน คิดเป็น 95.00% และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังมีผลคะแนนรวมที่ดีที่สุดในการสอบครั้งนี้ โดยอยู่ในลำดับที่ 5 ของมหาวิทยาลัยรัฐ รองจาก ม.มหาสารคาม ม.ศิลปากร ม.ขอนแก่น และ ม.เชียงใหม่ แคมปัส-สตาร์ ก็ขอแสดงความดีใจกับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ทุกคนด้วยค่ะ

นศ.เภสัชฯ สอบผ่านใบประกอบวิชาชีพ

ทั้งนี้ ภญ.จิราพร ชินกุลพิทักษ์ คณบดีสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับการสอบความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ประจำปี พ.ศ.2560 นี้ว่า การสอบประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เป็นการสอบทักษะทางวิชาชีพเภสัชกรรม (OSPE, Objective Structured Pharmaceutical Examination) และส่วนที่ 2 เป็นการสอบข้อเขียนการบูรณาการความรู้ทางเภสัชศาสตร์ (MCQ, Multiple Choice Question) จัดโดยสภาเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย

นักศึกษาเภสัช ม.วลัยลักษณ์ สอบผ่านใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม

ซึ่งมีนักศึกษาที่เรียนด้านเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเข้าสอบ และในส่วนของนักศึกษาสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มวล. มีผู้เข้าสอบ 40 คนด้วยกัน ปรากฏว่า สอบผ่านการสอบทักษะทางวิชาชีพเภสัชกรรมทั้ง 40 คน หรือคิดเป็น 100% และสอบผ่านการสอบข้อเขียนการบูรณาการความรู้ทางเภสัชศาสตร์ 38 คน คิดเป็น 95% เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม โดยการสอบครั้งนี้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ทำให้ลำดับของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อยู่ใน 5 ลำดับแรกของมหาวิทยาลัยรัฐที่มีผลการสอบสูงสุดประจำปี 2560 อีกด้วย

ภญ.จิราพร ยังกล่าวต่ออีกว่า ตลอดการเรียนในหลักสูตรเภสัชศาสตร์ 6 ปี ประกอบด้วยการเรียนในมหาวิทยาลัย 5 ปี และการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพในแหล่งฝึกปฏิบัติงานต่างๆ เช่น โรงพยาบาล ร้านยา โรงงานผลิตยา และบริษัทยาต่างๆ อีก 2,000 ชั่วโมง หรือประมาณ 1 ปี เป็นเส้นทางของการสำเร็จของบัณฑิตเภสัชศาสตร์ ที่ผลสอบครั้งนี้มีคะแนนสูงเป็นผลจากความตั้งใจในการเรียนรู้ และการเพียรพยายามในการฝึกฝนของนักศึกษา

นอกจากนี้ความพร้อมของแหล่งค้นคว้า หนังสือตำรา ตลอดจนสถานที่ในการฝึกปฏิบัติและทักษะในการเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการ ที่เพียงพอรองรับการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนของนักศึกษา การช่วยเหลือกันระหว่างชั้นปีและรุ่นพี่รุ่นน้อง อีกทั้งการดูแลเอาใจใส่ การสร้างขวัญกำลังใจและสร้างความมั่นใจ ของคณาจารย์และบุคลากรในสำนักวิชา ในการดูแลและให้คำแนะนำเป็นสิ่งสำคัญ นำไปสู่ความสำเร็จในครั้งนี้ด้วย

การสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หมายถึง การสอบความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม การสอบประกอบด้วย การสอบข้อเขียนการบูรณาการความรู้ทางเภสัชศาสตร์ (MCQ) และการสอบทักษะทางวิชาชีพเภสัชกรรม (OSPE) ซึ่งผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านเภสัชศาสตร์จะต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางเภสัชกรรม โดยผู้เข้าสอบต้องได้คะแนนผ่านเกณฑ์ทั้ง MCQ และ OSPE จึงถือว่าผ่านการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม

——————————

ที่มา : http://www.wu.ac.th, http://pharmacy.wu.ac.th